ราคาสินค้าอาหารในออสฯ บางชนิด 'พุ่งแรงแซงเงินเฟ้อ'

ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานบางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมและขนมปังกลับมีราคาเพิ่มสูงมากจนน่าตกใจ

An older women shopping in the bread aisle at Woolworths

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ราคาขนมปังและซีเรียลได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ในปีที่ผ่านมา Source: Getty / Xinhua News Agency/Xinhua News Agency

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • อัตราเงินเฟ้อรายปีล่าสุดแตะที่ระดับร้อยละ 7 แต่สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการกลับมีราคาเพิ่มสูงมาก
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมราคาเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 ส่วนขนมปังราคาขึ้นเกือบร้อยละ 12
  • กลุ่มสนับสนุนระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนผู้ที่กำลังเผชิญกับความยากจนให้มากกว่านี้
หากราคาที่คุณต้องจ่ายเมื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคดูเหมือนว่าจะแพงขึ้นทุกครั้งที่ไปซื้อของ สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณคนเดียว อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ได้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องไปทั่วออสเตรเลียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคคือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ชาวออสเตรเลียรู้สึกลำบากใจ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 เม.ย.) สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งใช้เป็นเครื่องชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในช่วง 3 เดือนก่อนเดือนมีนาคม ทำให้อัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ที่ร้อยละ 7 แต่สำหรับราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน อัตราการเพิ่มขึ้นของราคานั้นสูงกว่ามาก

สินค้าอุปโภคบริโภคชนิดใดราคาขึ้นมากที่สุด

อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามหลังด้วยสินค้าหมวดที่อยู่อาศัย และหมวดกิจกรรมนันทนาการและวัฒนธรรม

สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น พบสินค้าที่ทำจากนมมีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด มีอัตราเพิ่มขึ้นรายปีที่ร้อยละ 14.9 ส่วนขนมปังนั้นราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 และผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (n.e.c) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3
Graph showing price increase across categories of grocery items.
อัตราเงินเฟ้อรายปีของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 7 แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างกลับราคนเพิ่มสูงกว่านั้น Source: SBS
เจย์ คูแนน (Jay Coonan) ผู้ร่วมประสานงานที่ศูนย์ต่อต้านความยากจน (Antipoverty Centre) กล่าวว่า ผู้จับจ่ายซื้อของต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่าย

"นี่คือสิ่งที่เราเห็นมันเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ผู้คนไม่ซื้อสินค้าสดอีกต่อไป และกำลังซื้อผักผลไม้แช่แข็ง" คุณคูแนนกล่าว

"ขณะที่ผู้คนพึ่งพาสินค้าแช่แข็งอย่างต่อเนื่อง พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้โดยง่ายอีกต่อไป เพราะผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนไปพึ่งพาสิ่งนี้"

ปัจจัยต่าง ๆ อย่างเข่น สงครามในยูเครน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่รายงานจากสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังได้ระบุอีกว่า บริษัทต่าง ๆ ก็ขึ้นราคาสินค้าเกินกว่าที่จำเป็นด้วย

คูณคูแนน กล่าวว่า ผลสำรวจที่จัดทำโดยศูนย์ต่อต้านความยากจน พบว่าร้อยละ 53 ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกที่จะอดมื้อกินมื้อ อันเป็นผลจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

"ตอนนี้ผู้คนเลือกที่จะอด มันไม่มีทางเลือกอื่น"

คุณจะประหยัดในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงการลดแรงกดดันจากค่าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค มีขั้นตอนต่าง ๆ ที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายของคุณ

เลียม เคเนดี (Liam Kennedy) โฆษกของกลุ่มทำงานเพื่อผู้บริโภค “ชอยซ์ (CHOICE)” แนะนำว่าอย่าซื้อของแบบ “ออโต้ไพลอต” แต่ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังว่าคุณจ่ายเงินไปเท่าไหร่กับสินค้าแต่ละชิ้น

"เราทุกคนทำเช่นนี้เป็นครั้งคราว การซื้อแต่เพียงของเดิมจากแบรนด์เดียวกัน … ให้ความสนใจกับสิ่งที่คุณซื้อมากขึ้น และวิธีนี้จะทำให้คุณได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า" คุณเคเนดี กล่าว

"อีกตัวอย่างหนึ่งของการทำเช่นนี้คือการดูสิ่งต่างๆ อย่างเช่น การกำหนดราคาต่อหน่วย ราคาต่อ 100 กรัม ซึ่งช่วยให้คุณเปรียบเทียบราคาที่ต่างกันกับน้ำหนักที่ต่างกันได้"

"และซื้อของแบบยกโหลหากเป็นไปได้ ... ซึ่งปกติแล้วจะคุ้มค่ากว่า"

ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งคุณอาศัยอยู่ คุณคูแนนกล่าวว่า ตู้กับข้าวชุมชน (community pantries) ธนาคารอาหาร และมูลนิธิต่าง ๆ ทั้งหมดนี้สามารถให้การสนับสนุนสำหรับผู้ที่ต้องการได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขากล่าวว่า รัฐบาลควรเพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับความยากจน

"นี่คือทั้งหมดที่เราทำได้ในจุดนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้คนอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจน และพวกเขาสามารถที่จะมีกำลังซื้อสินค้าที่จำเป็นในการมีชีวิตรอด" คุณคูแนนกล่าว

"ค่าจ้างนั้นไม่ยั่งยืน ดังนั้นคุณจะมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้ค่าจ้างในความเป็นจริงที่น้อยกว่า ... ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 28 April 2023 5:16pm
By Jessica Bahr
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends