คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์
วัยทองหรือ Menopause เป็นช่วงเวลาที่ท้ายทายในชีวิตผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ในรายที่มีอาการหนัก อาจส่งผลกระทบต่องานอีกด้วย
จากรายงานล่าสุดชี้ว่า ผู้หญิงในออสเตรเลียหลายพันคน ต้องเกษียณก่อนวัย 60 เนื่องมาจากผลกระทบของอาการวัยทอง สหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลียได้เรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายวันลาที่เกี่ยวกับอาการปวดประจำเดือนและอาการวัยทองได้ปีละ 10วัน ชุมชนไทยคิดอย่างไรกับประเด็นดังกล่าว
วัยทองหรือ Menopause เป็นช่วงเวลาที่ท้ายทายในชีวิตผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ Credit: name gravity/unsplash
คุณ นีน่าและคุณเจี๊ยบ สมาชิกในชุมชนไทยในออสเตรเลีย ได้แบ่งปันประสบการณ์อาการก่อนวัยทองและอาการวัยทองของตนเอง ว่ามีอาการที่กระทบต่อสุขภาพ จิตใจ และคนรอบข้างอย่างไร
คุณนีน่าเล่าว่าเริ่มแรกเธอไม่ได้คิดว่าเป็นอาการก่อนวัยทอง คิดว่าเป็นอาการเครียดธรรมดา แต่พอไปปรึกษาแพทย์จึงพบว่าเป็นอาการก่อนวัยทอง
อ่านเพิ่มเติม
เข้าสู่วัยทองอย่างเข้าใจ
“ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นอาการวัยทอง เพราะเป็นช่วงสิ้นสุดโควิด ก็คิดว่าน่าจะเป็น depression อาจจะเครียด เพราะธุรกิจปิด รายได้หายไป แต่พอทุกอย่างกลับมาเปิดก็ยังเป็นอยู่ เลยไปหาหมอ ตรวจเลือด ซึ่งผลออกมาบอกว่าเราเข้าสู่อาการวัยทอง”
เธอเล่าว่าตอนที่มีอาการหนัก ทำให้เธอกังวลกับความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะอาการวิตกกังวล หรือ anxiety
อาการที่พีคสุดคือ อยู่ดีๆ ก็อยากร้องให้ บางทีควบคุมตัวเองไม่อยู่ mood swing ขับรถไปทำงานอยู่ดีๆ ก็รู้สึก anxious ต้องจอดรถ มือไม้สั่น รู้สึกว่ามันเกิดอะไรขึ้น หันไปมองรอบตัวก็ไม่มีอะไรแปลกไปคุณนีน่า
ส่วนคุณเจี๊ยบเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเธอว่า การมีอาการวัยทองเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ ร่างกาย ที่เธอไม่เคยรู้สึกมาก่อน เช่น อาการหนาว hot flush ปวดตามร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ตัวเธอเกิดความกังวล
“มีอาการร่วมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อนคืออาการหนาวมากๆ ทั้งๆ ที่ห่มผ้าห่มไฟฟ้า ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ก็ไม่หาย มันเป็นอาการหนาวภายในซึ่งเราไม่รู้สาเหตุ”
“อาการที่ทำให้มีความกังวลมากคือตอนที่มีประจำเดือน ปวดท้องอยู่แล้ว พอตอนนอนก็มีอาการปวดขาจนรู้สึกตกใจ จนต้องลุกไปกินยา”
ผลกระทบต่อคนรอบข้าง
ไม่เพียงแต่เฉพาะอาการทางกายเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวน จนอาจส่งผลกระทบกับคนรอบข้าง ทั้งคุณนีน่า และคุณเจี๊ยบให้คำแนะนำว่า ให้สื่อสารพูดคุยกับคนรอบข้างถึงอาการที่เราเป็น อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด คุณนีน่าชี้ว่า
“คนใกล้ตัว สามี ค่อนข้างจะรับบทหนักนิดนึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งเราไม่มีความต้องการทางเพศเลย แล้วก็เรื่องอารมณ์ บางทีเราก็จะบอกเค้า นั่งคุยกันว่าถ้าเดินหนีได้ให้เดินหนี ถ้ายังตามอยู่ก็บอกให้เค้าพูดว่า you’re not yourself ก็ให้เค้าพูดแบบนี้”
ส่วนคุณเจี๊ยบก็เห็นด้วยว่าการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ
“ด้านความสัมพันธ์ เราก็สื่อสารกันคนรอบตัว กับแฟนเราว่าเราอาจจะไม่เหมือนเดิมในเรื่องของฮอร์โมน มีอาการแบบนี้ๆ เธออาจต้องเข้าใจนิดนึง”
อ่านเพิ่มเติม
ผู้หญิงไทยคิดอย่างไรต่อสิทธิสตรีในออสเตรเลีย
ร่างกฎหมายวันลาสำหรับผู้หญิงที่มีอาการวัยทองจำเป็นไหม
คุณนีน่าและคุณเจี๊ยบมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากมีกฎหมายที่ให้ผู้หญิงสามารถมีวันลาเพิ่มขึ้นถ้าเกิดมีอาการเจ็บป่วยเนื่องมาจากอาการวัยทองก็จะเป็นสิ่งที่ช่วนเหลือผู้หญิงได้มาก
“คิดว่าถ้ามีกฎหมายนเรื่องนี้มันก็ดี สำหรับวันไหนที่มันรู้สึกแย่จริงๆ แบบตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากลุกจากเตียง เพราะรู้สึกว่าโลกทั้งโลกหล่นทับ มันเป้นความเครียดที่ไม่มีสาเหตุ ซึ่งมันจะมีอยู่แล้ว”
วันนี้ไปทำงานไม่ได้ แต่ก็ต้องไป เพราะไม่งั้นจะมีผลกับ performance กับงาน ถ้ามีกฎหมายมารองรับ มันจะช่วยแบ่งเบาความกดดันของผู้หญิงที่มีภาวะ menopauseคุณเจี๊ยบให้ความเห็นเรื่องการเสนอร่างกฎหมายวันลาสำหรับผู้หญิงที่มีอาการวัยทอง
คำแนะนำจากแพทย์สำหรับผู้ที่มีภาวะวัยทอง
นายแพทย์ กิตติรัฐ โรจนเบญจวงค์ แพทย์จีพี ในรัฐวิกตอเรีย อธิบายเกี่ยวกับอาการวัยทองหรืออาการก่อนวันทอง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาอาการนี้ว่า
“อาการก่อนวัยทอง หรือ perimenopause คือ การที่รังไข่กำลังจะหมดการผลิตฮอร์โมน ส่วน อาการวัยทอง หรือ menopause คือ ภาวะที่รังไข่ไม่มีการผลิตฮอร์โมนแล้ว”
“ส่วนการรักษาที่ดีที่สุดคือการใช้ Hormone placement therapy หรือการใช้ฮอร์โมนในการรักษา ซึ่งการรักษาแบบนี้จะช่วยอาการที่มี night sweat , hot flushes (สะบัดร้อนสะบัดหนาว)ได้”
นาบแพทย์ กิตติรัฐ โรจนเบญจวงค์ แพทย์จีพี ในรัฐวิกตอเรีย Credit: supplied
“คนส่วนใหญ่กลัวการรักษาด้วยฮอร์โมน เพราะกลัวว่าจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ แต่จากการศึกษาวิจัยหลายๆ แหล่งชี้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนไม่ได้เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่กล่าวมา หากคุณไม่ได้มีประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน”
คุณหมอกิตติรัฐยังเน้นย้ำว่ามีอาการข้างเคียงที่ควรระวังสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในภาวะอาการวัยทองก็คือให้ระวังโรคกระดูกพรุน
“ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนในการสร้างกระดูกให้แข็งแรง ถ้าผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองแล้วไม่มีเอสโตรเจน จะมีอัตราการสูญเสียมวลกระดูกสูง”
“แนะนำให้ป้องกันตัวแต่เนิ่นๆ เช่นออกกำลัยสม่ำเสมอ การทำ weight bearing หรือยกเวทต่างๆ ก็จะช่วยเรื่องมวลกระดูก มีการรับประทานวิตามิน D เสริม เพราะออสเตรเลียแดดค่อนข้างแรงเป็นอันตรายต่อผิว หมอแนะนำให้เช็กก่อน แล้วอาจใช้วิตามินเสริม”
ฟังเรื่องนี้เต็มๆ ได้ที่ :
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
เศรษฐาพ้นเก้าอี้นายก หลังศาลรธน.มีมติ ปมแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน"