กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
“นี่คือเครื่องหนีบผม ซึ่งตอนนี้ผมซ่อมไม่ได้แล้ว ผมแนะนำให้คุณเอาไปที่ศูนย์รีไซเคิลชุมชน”
เอียนเป็นอาสาสมัครที่ร้านกาแฟรับซ่อม (repair café) ในซิดนีย์
แม้ว่าเอียนจะไม่สามารถซ่อมเครื่องหนีบผมได้ในครั้งนี้ แต่ร้านกาแฟรับซ่อมเลน โคฟ (Lane Cove) ได้ทำการซ่อมสินค้าประมาณสองในสามของสิ่งที่ส่งซ่อมทั้งหมดจำนวน 1,000 ชิ้น
เวนดี ดไวเออร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านกาแฟรับซ่อมเลน โคฟกล่าวว่า การรับซ่อมทำให้สินค้า 700 ชิ้นไม่ต้องกลายเป็นขยะฝังกลบ
“วันนี้เราจะมาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กางเกง เสื้อ และของที่อื่น เครื่องประดับ เซรามิก รองเท้า กระเป๋า และเราจะลับเครื่องมือให้คมด้วย”
เวนดี ดไวเออร์และเวนดี บิชอป เจ้าของร้านกาแฟรับซ่อมเลน โคฟ Source: SBS / Spencer Austad
“สำหรับคนที่นำของเก่าซึ่งอาจเป็นมรดกจากครอบครัวจากบ้านเกิดมา เราเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยินดีรับและซ่อมแซมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”
ดไวเออร์ อายุ 73 ปี และย้ายถิ่นฐานมาจากสิงคโปร์
เธอเป็นอาสาสมัครร้านกาแฟรับซ่อมในออสเตรเลีย ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครนี้มีทั้งวิศวกร ช่างทำเครื่องประดับ และช่างตัดเสื้อที่เกษียณแล้ว
“ฉันทำกาแฟคาปูชิโนและทำขนมขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ให้กับอาสาสมัครและผู้ที่แวะมาด้วย เมื่อคุณเกษียณ การค้นหาสิ่งที่คุณหลงใหลเป็นเรื่องสำคัญมาก และสำหรับฉันคือการได้เจอร้านกาแฟรับซ่อมและเชื่อมั่นในสิ่งที่ร้านกาแฟนี้ทำ”
อาสาสมัครและผู้ที่นำของมาซ่อมที่ร้านกาแฟรับซ่อม เลน โคฟ Source: SBS / Sandra Fulloon
ในออสเตรเลียมีร้านกาแฟรับซ่อม 112 แห่ง
ศาสตราจารย์ลีแอน ไวส์แมน ประธานองค์กร Australian Repair Network จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิท รัฐควีนส์แลนด์กล่าวว่าการซ่อมแซมเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นวิธีประหยัดเงินที่ดี
ตลาดอุปกรณ์ครัวเรือนของออสเตรเลียคาดว่ามีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2024 และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปี เราพบว่าการบริโภคสินค้าอุปกรณ์อัจฉริยะและอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านของเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำ หม้อทอดไร้น้ำมัน และเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้พังลงก็จะกลายเป็นขยะฝังกลบศาสตราจารย์ไวส์แมนอธิบาย
และขยะฝังกลบกำลังเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว ดังที่บริดเจ็ท เคเนดี เทศมนตรีกล่าว
"เราจะไม่มีพื้นที่ให้ทิ้งขยะฝังกลบ ในบริเวณเกรทเทอร์ ซิดนีย์ ในปี 2030 เราควรเปลี่ยนนโยบายการใช้แล้วทิ้งภายในครั้งเดียว และทำให้มันเป็นระบบที่หมุนเวียนมากขึ้น"
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณรีไซเคิลถูกต้องหรือไม่?
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่จำนวนมาก หากพังลง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะซ่อมมัน
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับ “สิทธิในการซ่อม” ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถซ่อมอุปกรณ์ได้ในราคาย่อมเยา
นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งได้รับงบประมาณในการผลักดันมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์
ศาสตราจารย์ไวส์แมนยินดีกับโครงการดังกล่าว
“ออสเตรเลียยังคงล้าหลังกว่าประเทศอื่นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปสิทธิในการซ่อมแซม เราทราบดีว่าการลดขยะไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดด้านเศรษฐกิจได้มาก โดยเฉพาะในวิกฤตค่าครองชีพที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ สิ่งนี้จะส่งผลต่อชาวออสเตรเลียทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจของเรา เกษตรกร และโรงพยาบาลของเราด้วย โดยพวกเขาจะสามารถซ่อมแซมสิ่งของที่มีได้”
นับเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์
"ฉันรู้สึกภูมิใจมาก ๆ กับสิ่งที่เราทำ มันยอดเยี่ยมมากที่ได้เห็นสิ่งของต่าง ๆ ไม่ถูกส่งไปหลุมฝังกลบ ผู้คนประหยัดเงินและซ่อมแซมสิ่งของล้ำค่าที่พวกเขาไม่อยากทิ้ง แต่อาจไม่มีเงินพอที่จะซ่อมแซม แน่นอนว่าเมื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจะลดปริมาณขยะที่ทิ้งไว้ริมถนนได้ และชุมชนของเราจะมีอนาคตที่ดีขึ้น"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่