คนไทยในออสเตรเลียถกประเด็นวันชาติ ยังควรเป็นวันที่ 26 มกราคมหรือไม่?

INVASION DAY RALLY BRISBANE

ผู้คนเดินขบวนเนื่องในวัน Invasion Day ที่นครบริสเบน วันที่ 26 มกราคม 2023 Source: AAP / JONO SEARLE/AAPIMAGE

วันที่ 26 มกราคมเป็นวันชาติออสเตรเลีย แต่ทว่าประวัติศาสตร์ของวันนี้เป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย คนไทยในออสเตรเลียคิดเห็นอย่างไร และถ้าไม่ใช่วันที่ 26 วันชาติออสเตรเลียควรเป็นวันไหนดี?


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ออสเตรเลียเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี โดยเป็นวันหยุดราชการมาตั้งแต่ปี 1994 เนื่องจากเป็นวันที่อังกฤษชักธง ‘ยูเนียน แจ็ค’ ขึ้นสู่ยอดเสาที่ซิดนีย์ โคฟ หรือที่เรียกกันว่า First Fleet

ปกติแล้วชาวออสเตรเลียจะเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการประดับธงออสเตรเลีย และด้วยความที่เดือนมกราคมยังคงอยู่ในฤดูร้อน จึงมักจะจัดงานสังสรรค์ด้วยการรับประทานบาร์บีคิว ไปเที่ยวที่ชายหาด และเทศบาลท้องถิ่นมักจะจัดงานพิธีมอบสัญชาติในวันนี้ด้วย
Australia day pool
เด็กผู้ชายเล่นน้ำกับห่วงยางธงชาติออสเตรเลีย Credit: Trish Bredford
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการเคลื่อนไหวประท้วงการเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 26 มกราคมเพิ่มมากขึ้น โดยชนพื้นเมืองออสเตรเลียและผู้สนับสนุนชนพื้นเมือง พวกเขาอยากเปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียเป็นวันอื่นแทน

ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสกล่าวว่าวันที่ 26 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมและเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อันโหดร้าย ทั้งการถูกยึดครองดินแดน การถูกพรากจากวัฒนธรรมดั้งเดิม และการพรากคนรุ่นหลังของพวกเขาไป วันชาติออสเตรเลียถูกเรียกว่า “วันไว้อาลัย (Mourning Day)” “วันรุกราน (Invasion Day)” หรือ “วันเอาชีวิตรอด (Survival Day)”

สำหรับชุมชนไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนหยุดวันที่ 26 มกราคม หลายคนทำงาน หลายคนเข้าใจถึงสาเหตุที่มีการประท้วงในวันนี้ และบางคนที่เพิ่งมาถึงใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันนี้
เอสบีเอสไทยสอบถามคนไทยในออสเตรเลียว่าพวกเขาทำอะไรในวันชาติออสเตรเลีย คุณทันยาเคยเฉลิมฉลองวันชาติ คุณนุ่นร่วมยินดีกับวันนี้ คุณวิกกี้ทำงาน คุณแซนดีจะไปสังเกตการณ์การประท้วง

“เมื่อก่อนเคยฉลองค่ะ เคยทำคัพเค้ก ปักธงออสเตรเลีย หรือทำลามิงทัน แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ” คุณทันยากล่าว

“นัดกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเพื่อไปรวมตัวหน้าห้องสมุดรัฐวิกตอเรีย ไปสังเกตการณ์บรรยากาศ ว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง” คุณแซนดีกล่าว

สำหรับประเด็นการประท้วงให้เปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียไม่ให้เป็นวันที่ 26 มกราคม คุณนุ่นกล่าวว่าควรยังควรมีวันชาติอยู่ คุณทันยาไม่คิดว่าการเปลี่ยนวันจะช่วยให้ดีขึ้น คุณวิกกี้และคุณแซนดีคิดว่าควรเปลี่ยนวัน

“คิดว่าไม่ควรเป็นวันนี้ค่ะ เพราะเหมือนเป็นวันไว้ทุกข์ของคนอะบอริจินอลเขา เคยดูสารคดี คนอะบอริจินเขาไปต่อแถวที่เซ็นเตอร์ลิงก์เพื่อขอเงินสวัสดิการ แต่เขาไม่ให้ไปนั่งข้างใน ให้นั่งตากแดดอยู่ข้างนอก ออสเตรเลียเนี่ยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มันไม่ควรจะยังมีเรื่องเหยียดผิว” คุณวิกกี้กล่าว

“กว่าจะประเทศออสเตรเลียมาได้จนถึงทุกวันนี้ โอเคเราไปรุกรานคนท้องถิ่นมาตั้งแต่แรกเริ่ม อันนี้ก็เข้าใจได้ คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม ต่างฝ่ายก็เสียเลือดเสียเนื้อ แต่เรามีออสเตรเลียได้ทุกวันนี้เพราะเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า อยากให้นึกถึงว่ามันเป็นวันที่ก่อตั้งประเทศขึ้นมามากกว่า” คุณนุ่นกล่าว
Invasion Day protesters are seen during the Australia Day celebrations in Brisbane.
การเดินขบวนประท้วงในวันที่ชนพื้นเมืองเรียกว่า 'วันรุกราน' ที่บริสเบน Source: AAP
ในเรื่องของความเข้าใจประวัติศาสตร์ในวันที่ 26 มกราคมและสิ่งที่เกิดกับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ทุกคนเข้าใจถึงเรื่องนี้ดี และเห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องการปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองออสเตรเลีย
คิดว่าที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียและสังคมพยายามแก้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตให้ถูกต้อง พยายามช่วยเหลือชนพื้นเมือง รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นแค่สัญลักษณ์ ถ้าเปลี่ยนเป็นวันอื่น ก็จะมีคนไม่พอใจอยู่ดี
คุณทันยากล่าว
“เคยดูหนังเรื่อง Rabbit Proof Fence เกี่ยวกับเรื่องของ Stolen Generation สิ่งที่คนขาวมายึดครองพยายามทำคือพรากลูกหลานของชนพื้นเมืองไปอยู่โรงเรียนคริสต์ เรียนภาษาอังกฤษ เรียนประเพณีของฝรั่ง ห้ามทำอะไรนอกเหนือคำสั่ง ส่วนใหญ่จะไปเป็นคนใช้ตามบ้านคนผิวขาว หรืออาจจะไปแต่งงานกับผู้ชายผิวขาว โดยหวังว่าเจเนอเรชันที่ 2 หรือ 3 จะไม่มีคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนอะบอริจินเหลืออยู่เลย” คุณวิกกี้กล่าว

แล้วหากเราสามารถเปลี่ยนวันชาติได้จริง คิดว่าควรจะเป็นวันไหนดี?

“ไม่ควรกำหนดวันที่ ทำเหมือนวันแม่หรือวันพ่อไปเลย คือวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมหรือวันศุกร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เคยคิดว่าเป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ออสเตรเลียประกาศเป็นสหพันธรัฐ แต่ถ้าเกิดกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจง กลัวว่าจะเป็นปัญหาอีก ก็ให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปี” คุณทันยากล่าว

“วันที่เรียกว่าวันปรองดอง (Reconciliation Day) ในเดือนพฤษภาคม และเป็นวันที่ชนพื้นเมืองได้รับสิทธิ์เป็นพลเมือง คิดว่าวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับและให้เกียรติกันและกัน” คุณแซนดีกล่าว
Australians Celebrate Australia Day
ผู้คนฉลองวันชาติออสเตรเลีย ที่ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์ Source: Getty / Getty Images AsiaPac Cole Bennetts/Getty Images
สำหรับความพยายามเปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียจากวันที่ 26 มกราคม ชนพื้นเมืองออสเตรเลียและผู้มีชื่อเสียงหลายคนสนับสนุนคำร้อง (petition) ให้เปลี่ยนวัน โดยขณะนี้มีผู้ลงชื่อในคำร้องแล้วกว่า 21,000 ราย และทั้งยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

งารา เมอร์เรย์ ประธานสมัชชาชนพื้นมืองออสเตรเลียกล่าวว่าการเปลี่ยนวันที่หมายความว่าประชาชนออสเตรเลียทุกคนสามารถเฉลิมฉลองร่วมกัน

ในวันที่ไม่สะท้อนถึงความเจ็บปวดของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อคนอีกหลายชั่วอายุ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ การเฉลิมฉลองวันนี้โดยไม่ยอมรับถึงผลกระทบเคยที่เกิดขึ้นนั้นก็เท่ากับเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดและความศิโรราบของชนพื้นเมืองในดินแดนแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงวันนี้เท่ากับเป็นการยอมรับถึงความเข้มแข็งและความผ่อนผันของผู้คนของเราที่รอดชีวิตจากความพยายามลบล้างวัฒนธรรมของเรามาหลายศตวรรษ”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share