กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ประเทศออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางมาเรียนต่อมากที่สุด จากสถิติของเว็บไซต์ Statista ระบุว่าปี 2022 ในออสเตรเลียมีนักเรียนไทยราว 15,000 คนซึ่งอยู่ในอันดับ top 5 ของจำนวนนักเรียนต่างชาติทั้งหมด
แต่ก่อนที่ภาคการศึกษาของออสเตรเลียจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ และเป็นปลาทางการศึกษายอดนิยมของนักเรียนไทยเช่นในปัจจุบัน
ใครคือนักเรียนไทยกลุ่มแรกที่เดินทางมาบุกเบิกเส้นทางการศึกษาในออสเตรเลีย และพวกเขาเข้ามาเรียนตั้งแต่เมื่อไหร่ เราจะพาคุณมาตามรอยเรื่องนี้
ใครคือคนไทยคนแรกที่มาเหยียบดาวน์อันเดอร์?
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์รัฐวิกตอเรียระบุว่า เมื่อปี 1920 ได้มีคนไทยคนแรกที่เดินทางมาในออสเตรเลีย
นั่นคือ อธิบดีกรมพระอัศวราช (บุตรา มหินตรา) ที่ได้รับพระราชโองการจากสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเดินทางมาเจรจาซื้อม้าแข่ง
และอีก 7 ปีต่อมา ในปี 1927 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในขณะนั้นคือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนำคณะมาเยี่ยมชมอุตสาหกรรมการเกษตรและระบบสาธารณูปโภคของออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น นอกจากการมาเยี่ยมเยือนระยะสั้นๆ ของข้าราชการและเจ้านายไทยแล้ว ยังไม่มีคนไทยมาอยู่อาศัยในออสเตรเลียเลย
แผนโคลัมโบ (Colombo Plan)
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1952 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีความร่วมมือด้านการศึกษากับออสเตรเลียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนโคลัมโบ” (Colombo Plan)
แผนนี้เป็นการร่วมมือพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียและประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ในปี ค.ศ.1954 และได้มีการส่งกลุ่มนักเรียนไทยมาศึกษาต่อในออสเตรเลียด้วย “แผนโคลัมโบ” ดังกล่าว
และนี่เป็นจุดกำเนิดของคนไทยกลุ่มแรกที่ได้มาพักอาศัยและศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย
แผนโคลัมโบคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร ดร. เดเนียล โอคแมน นักประวัติศาสตร์และภัณฑารักษ์อาวุโสประจำพิพิทธภัณฑ์แห่งชาติออสเตรเลีย (the National Museum of Australia)
จุดเริ่มต้นของแผนโคลัมโบนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากนโยบายทางการเมืองที่เครือจักรภพและรัฐบาลออสเตรเลียต้องการปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของฝั่งตะวันตก และความต้องการยับยั้งการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย
"แผนโคลัมโบมีจุดเริ่มต้นราวๆ ปี 1950 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามเย็น ออสเตรเลียในตอนนั้นมีความกังวลเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย และภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของออสเตรเลียในภูมิภาคเอเชีย”
ผู้นำชาติอาเซียนและนายกรัฐมนตรี มัลคอม เทิร์นบูล เข้าร่วมการประชุมแผนโคลัมโบใหม่ ระหว่างการประชุมสุดยอดพิเศษอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่นครซิดนีย์ วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561 Credit: DAN HIMBRECHTS/AAPIMAGE
ดร. เดเนียล เปิดเผยว่า แต่เดิมแผนโคลัมโบมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคและด้านเทคนิคมากกว่าความช่วยเหลือด้านการศึกษา
แต่บังเอิญที่แผนงานด้านการศึกษากลับประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนสมมติฐานเดิมที่ชาวออสเตรเลียมีต่อชาวเอเชีย
"สำหรับออสเตรเลีย โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ การช่วยเหลือด้านอาหาร และการช่วยเหลือด้านเทคนิค และการฝึกอบรม ในช่วงแรกโครงการนักเรียนทุน ไม่ได้สำคัญมากเท่าไหร่นัก แต่พอดำเนินการได้สักระยะหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ จึงมีการขยายโครงการนี้ออกไป"
โครงการนักเรียนทุนโคลัมโบทำให้คนออสเตรเลียเปลี่ยนสมมติฐานต่างๆ เกี่ยวกับชาวเอเชียไปโดยสินเชิงดร. เดเนียล โอ็คแมน นักประวัติศาสตร์และอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Australian National University
นักเรียนไทยทุนโคลัมโบ
เอสบีเอสไทยจะพาคุณไปตามรอย เรื่องราวของนักเรียนไทยกลุ่มแรกๆ ที่มาเรียนในออสเตรเลีย
โดยผ่านเรื่องราวของ รองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม อดีตอาจารย์ประจำ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตนักเรียนทุนโคลัมโบ รุ่นปี 1971
ดร.ธนิต เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเดินทางมาศึกษาที่ออสเตรเลีย เมื่อ 53 ปีที่แล้วให้เอสบีเอสไทยฟังว่า ท่านเป็นนักเรียนทุนรุ่นเกือบสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นอีก 2 รุ่น ทุนโคลัมโบยุคแรกก็ถูกยกเลิก
“รุ่นผมนี่เกือบสุดท้าย อีก2 รุ่น ก็จะหมดโครงการ ตอนนั้นมี 25 คน มาจากทั่วประเทศ ผมเป็นนักเรียนมาจากจังหวัดประจวบฯ เข้ามาเรียนโรงเรียนเตรียมได้ 2 ปี"
โชคดีมีอาจารย์ดี ท่านทราบว่าเราเป็นเด็กบ้านนอก มีทุนโคลัมโบท่านบอกธนิตต้องไปสมัคร ผมเลยสมัครและเปลี่ยนชีวิตผมเลยรองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม
รองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม นักเรียนทุนแผนโคลัมโบที่ มหาวิทยาลัย The University of New South Wales (UNSW) ด้านเคมีและชีวเคมี ในปี 1973 Credit: Supplied/Thanit Pewnim
และเมื่อได้รับคัดเลือกให้มาศึกษาที่ออสเตรเลีย อาจารย์ ธนิตจึงเลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัย The University of New South Wales (UNSW) ด้านเคมีและชีวเคมี
“เรียน “Orientation Course” เป็นเวลา 6 เดือนก่อนสมัครเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของออสเตรเลียในปี 1972 ผมเรียนที่ The University of New South Wales (UNSW) เน้นวิชาทางเคมีและชีวเคมี”
ออสเตรเลียในอดีต
เมื่อ 53 ปีที่แล้วนั้น การรับข้อมูลข่าวสารไม่ได้สะดวกสบายเช่นในปัจจุบัน ข้อมูลของประเทศออสเตรเลียที่อาจารย์ธนิตรับรู้ก่อนจะมาศึกษาต่อคือ ออสเตรเลียมีระบบการศึกษาที่ดี และมีสัตว์แปลกๆ เช่น หมีโคอาล่าและจิงโจ้
ก่อนมาคิดว่าออสเตรเลียมีความก้าวหน้าทางการศึกษา และตอนนั้นที่ทราบคือมีธรรมชาติที่แปลกไปจากหลาย ๆ ประเทศ มีจิงโจ้ และหมีโคอาลารองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม อดีตนักเรียนทุนโคลัมโบ รุ่นปี 1971
เมื่อท่านมาถึงออสเตรเลียแล้ว อาจารย์ธนิตเล่าว่า บรรยากาศในนครซิดนีย์สงบเงียบมาก และความรู้สึกแรกของท่านที่มาถึงคือ อากาศที่หนาวเย็นและลมพัดแรง
“ออสเตรเลียมีประชากรประมาณ 13 ล้านคนในตอนนั้น เมื่อมาถึงซิดนีย์เดือนมิถุนายน ค.ศ.1971 เจ้าหน้าที่รัฐบาลออสเตรเลียพาไปพักที่โรงแรมติดกับ Bondi Beach จำได้ว่าลมแรงมาก จำได้ว่าต้องเกาะกำแพงเดิน อากาศหนาวมาก ผู้คนน้อย ดูสงบร่มเย็น”
ชีวิตนักเรียนทุน
ดร.ธนิต เผยว่าอุปสรรคที่หนักที่สุดคือเรื่องภาษา เพราะท่านยังมีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แน่นเท่ากับนักเรียนท้องถิ่นหรือนักเรียนจากชาติอื่น
ทำให้อาจารย์ธนิตต้องศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารภาษาอังกฤษ เพื่อปรับพื้นฐานภาษาในการเรียน
“ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาสำคัญของเรา เพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วมาอยู่โรงเรียนเตรียมแค่ 2 ปี ผมปรับด้านภาษาอังกฤษโดยพยายามดูข่าวจากโทรทัศน์ของหอพักเกือบทุกวัน รับ Reader’s Digest และ Newsweek สำหรับอ่านเวลาว่าง และ พูดคุยกับนักเรียนออสเตรเลียและต่างชาติบ่อยๆ”
นักเรียนทุนทำงานพิเศษได้ไหม
ในสมัยนี้นักเรียนไทยทำงานพิเศษกันเกือบทุกคน แต่เมื่อย้อนไปกว่า 50 ปีที่แล้ว อาจารย์ธนิตเล่าว่าท่านทำงานพิเศษเป็นกระเป๋ารถเมล์
เวลาปิดเทอมไปทำงานเป็น Bus conductor หรือกระเป๋ารถเมล์ ได้คุ้นเคยกับสำเนียงพื้นถิ่น ได้เห็น reaction ของคนเค้าแปลกใจมาก เค้าจะเรียกเราว่า Chinese, you're Chineseรองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม
ดร. ธนิต ผิวนิ่มใช้ระยะเวลาเรียน 9 ปี ตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย The University of New South Wales (UNSW) Credit: Supplied/Thanit Pewnim
วิธีติดต่อกับทางบ้าน
ดร. ธนิต เรียนปริญญาตรีจนจบปริญญาเอกเป็นระยะเวลาทั้งหมด 9 ปีด้วยกัน ในช่วงเวลานี้ ท่านเล่าให้ฟังว่าได้กลับบ้านแค่ครั้งเดียวเมื่อตอนเรียนจบปริญญาตรี
เมื่อไม่มีโอกาสเดินทางกลับเมืองไทยบ่อยมากนัก แถมยังไม่ได้รับประทานอาหารไทย หรือเจอคนไทยสักเท่าไหร่ อาจารย์ธนิตเปิดเผยว่ามีทางเดียวที่ติดต่อกับทางบ้านได้คือการเขียนจดหมายหรือการเขียนแอร์โรว์แกรม (Aerogram) เพราะคุณพ่อคุณแม่อยู่ต่างจังหวัดและในสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ที่บ้าน
“ใช้เขียนจดหมายติดแสตมป์ (ใช้เวลานานกว่าจะถึง) ปกติจะใช้เขียนลงบนกระดาษแผ่นเดียวที่เรียกว่า Aerogram เสร็จแล้วพับพร้อม Seal แล้วใส่ตู้ไปรษณีย์โดยไม่ต้องติดแสตมป์ มีโทรศัพท์หยอดเหรียญเข้ามาให้ได้ใช้ที่มหาวิทยาลัยช่วงท้ายๆ ของการปริญญาตรี แต่ผมไม่เคยโทรกลับบ้าน ไม่บ้านซึ่งอยู่ต่างจังหวัดยังไม่มีโทรศัพท์ใช้”
ออสเตรเลียในความทรงจำ
เมื่อดร.ธนิต จบการศึกษาปริญญาเอก สาขาเคมี เมื่อปี 1980 เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยจึงได้รายงานตัวเข้ารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้ทุน
"เข้ารับราชการเลย เพราะเราเห็นความเจริญของประเทศเขา เราก็อยากมาพัฒนาประเทศเลย จำได้ตอนนั้นปี 2523 กลับมาวันที่ 7 มิถุนายน 1980 วันอาทิตย์ ไปรายงานตัววันจันทร์ ที่ 8 มิถุนายน”
ดร. ธนิต บอกว่าสิ่งที่อยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับออสเตรเลียของท่านคือระบบการศึกษาเพราะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นความเข้าใจ
“ผมชอบระบบการศึกษาของออสเตรเลีย เพราะเค้าเน้นการเขียน และมีการนำเอานักเรียนปริญญาเอกมาเป็นติวเตอร์ มาทำ quiz เป็นกลุ่ม เราต้องทบทวนเลกเชอร์มาอย่างดี แล้วติวเตอร์ตรวจให้เรา ผมชอบมาก เป็นการเรียนที่สุดยอด”
อีกหนึ่งความประทับใจคือทักษะการเข้าสังคมของชาวออสเตรเลีย และความมีน้ำใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือคนรอบข้าง
“มีเหตุการณ์ที่ประทับใจคือตอนไปถึงสัปดาห์แรกแล้วต้องไปประชุมที่ commonwealth community centre ใจกลางเมืองซิดนีย์ร่วมกับนักเรียนโคลัมโบหลายชาติ"
เวลาเดินไปชั้นต่างๆ จะมีคนคอยมาถามว่า How can I help you? Is there anything I can do for you? อันนี้เป็นสิ่งที่ประทับใจและทำให้ติดนิสัยนี้มาจากออสเตรเลียรองศาสตราจารย์ ดร. ธนิต ผิวนิ่ม
และนี่คือเรื่องราวของการตามรอย นักเรียนไทยกลุ่มแรกในออสเตรเลีย จากพอดคาสต์ซีรีส์ The Origin ตามรอยไทยในออสเตรเลีย
ฟังเรื่องราวเต็มๆ ได้ที่นี่:
LISTEN TO
ตามรอย 'นักเรียนไทยกลุ่มแรกในออสเตรเลีย'
SBS Thai
28/11/202423:39
_____________________________________________________
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่