แผนลดการรับผู้ย้ายถิ่นของรัฐบาลได้เสียงตอบรับทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

Graphic art of a woman wearing a hat and backpack looking at an airport arrivals and departures board. Art also includes plane tickets and a visa stamp.

Source: SBS / SBS/Pixabay

พรรคฝ่ายค้านสหพันธรัฐอ้างว่า การปฏิรูปการรับผู้ย้ายถิ่นของรัฐบาลจะทำให้วิกฤตด้านที่อยู่อาศัยเลวร้ายลง ท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานทักษะด้านงานช่าง ความเห็นของผู้นำพรรคฝ่ายค้านทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า บางพรรคการเมืองหลัก ๆ กำลังใช้ผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นแพะรับบาป แม้ว่ากลุ่มตัวแทนภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ยินดีกับการปฏิรูปนี้


รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียวางแผนที่จะลดการอพยพย้ายถิ่นสุทธิลงครึ่งหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยการลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติ ขณะที่ดึงดูดลูกจ้างที่มีทักษะให้เข้ามามากขึ้น

ส่วนสำคัญของแผนการปฏิรูปการรับผู้ย้ายถิ่นฐานครั้งนี้คือ วีซ่าทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ (Skills in Demand Visa)

โดยจะเร่งรัดการดำเนินการพิจารณาวีซ่าให้เหลือเพียง 7 วันสำหรับลูกจ้างที่กำลังสมัครงานที่ได้เงินเดือน 135,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

แต่มาตรการนี้ ที่เรียกกันว่า เส้นทางสำหรับผู้มีทักษะเฉพาะทาง จะไม่รวมผู้มีทักษะด้านการช่าง ผู้ควบคุมเครื่องจักร และกรรมกรหรือแรงงานทั่วไป

แต่ลูกจ้างเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในประเภทของลูกจ้างที่ทำงานจำเป็น ซึ่งระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าจะช้ากว่า

ปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิด

"นี่เป็นรัฐบาลแบบไหน ที่เวลาเกิดวิกฤตด้านการก่อสร้าง เมื่อคุณไม่สามารถหาช่างได้ และคุณก็ไม่มีเงินพอจะจ่ายได้ นี่เป็นรัฐบาลแบบไหน ที่ตัดสินใจปิดประตูไม่ให้ผู้ทำงานด้านช่างเดินทางเข้ามาในออสเตรเลียได้ มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดอย่างสิ้นเชิง และมันจะส่งผลเสียต่อความสามารถของประชาชนในการจ่ายได้ด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาไว้" นายดัตทัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านสหพันธรัฐ กล่าว

รัฐบาลตั้งเป้าที่จะนำจำนวนสุทธิการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน (net migration) หรือจำนวนผู้เดินทางเข้ามาเทียบกับจำนวนผู้เดินทางออกไป ให้ลดลงจาก 510,000 คนในปีที่แล้วเป็น 250,000 คนภายในปี 2025
แต่ผู้นำฝ่ายค้านเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่จำนวนโดยรวมของการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน

"นั่นปรากฎว่าพวกเขาเพิ่มโครงการรับผู้ย้ายถิ่นฐานให้มากขึ้น 130,000 คน โดยมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อที่อยู่อาศัย" นายดัตทัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าว

อดัม แบนต์ ผู้นำกรีนส์กล่าวหานายดัตตันว่า กล่าวโทษผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ยุติธรรม และรัฐบาลยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันจากพรรคร่วม

"การรับผู้ย้ายถิ่นไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติด้านที่อยู่อาศัยของพรรคแรงงาน แต่การที่พรรคแรงงานสนับสนุนให้มีการขึ้นค่าเช่าได้อย่างไม่จำกัด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างไม่จำกัด และไม่สร้างที่อยู่อาศัยสาธารณะและไม่สร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงอย่างเพียงพอ นั่นคือสิ่งที่นำเราเข้าสู่วิกฤตที่อยู่อาศัยซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ แต่ตอนนี้พรรคแรงงานได้เข้าร่วมกับพวกลิเบอรัลในการกล่าวโทษการรับผู้ย้ายถิ่นสำหรับวิกฤตที่อยู่อาศัย" อดัม แบนต์ ผู้นำกรีนส์ กล่าว

คุณคาร์โล คาร์ลิ จากสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย หรือเฟคกา ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

"มีหลายคนที่อยากให้ผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นแพะรับบาปและให้นโยบายรับผู้ย้ายถิ่นของเราเป็นแพะรับบาป ซึ่งนั่นควรจะถูกต้านทาน สาเหตุของการปฏิรูปเหล่านี้เป็นเพราะระบบเดิมพัง ระบบเดิมควรต้องรัดกุมยิ่งขึ้นและเราเชื่อว่าเส้นทางที่ย้ำในการประกาศวันนี้เป็นไปในเชิงบวก" คุณ คาร์ลิ จากเฟคกา กล่าว

คุณอาบูล ริซวี อดีตเลขาธิการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า พรรคร่วมได้มีส่วนทำให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

"ในหลาย ๆ ด้านการเพิ่มสูงของจำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพรรคร่วม รัฐบาลพรรคร่วมในช่วงต้นปี 2022 ได้ออกมาตรการหลากหลายเพื่อเร่งการย้ายถิ่นฐานเข้ามาและเป็นผลให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นเป็นอย่างที่เห็น โดยเฉพาะนักศึกษาและผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ ซึ่งพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว" คุณริซวี แสดงความเห็น
คุณมาสซิโม คาโลซี เป็นเชฟที่เดินทางจากอิตาลีมายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ ในปี 2016

เขาทำงานในร้านกาแฟแห่งหนึ่งโดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนดและไม่ได้รับซูเปอร์แอนนูเอชัน (เงินสะสมหลังเกษียณ) ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม

เขากล่าวว่า การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวนั้นแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบริการต้อนรับ (hospitality)

แม้ว่าแผนการรับผู้ย้ายถิ่นฐานมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง โดยหลัก ๆ ผ่านมาตรการที่ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวเปลี่ยนนายจ้างได้ง่ายขึ้น แต่คุณคาโลซีก็ไม่เชื่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะปกป้องลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างต่ำได้อย่างเพียงพอ

"แม้หลังจากการประกาศล่าสุดเมื่อวานนี้ แต่ระบบการรับผู้ย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียไม่ใช่ระบบที่มุ่งให้คนอยู่ที่นี่อย่างถาวร ดังนั้นโครงสร้างนี้จึงสร้างความไม่ชัดเจนอย่างถาวรให้แก่ผู้ถือวีซ่าชั่วคราว และโชคร้ายที่ลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะจริง ๆ แล้วบ่อยครั้งที่พวกเขากลัวที่จะร้องเรียน" คุณ คาโลซี กล่าว
รัฐบาลออสเตรเลียก็กำลังวางแผนที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นกับผู้ให้บริการด้านการศึกษาและนักเรียนต่างชาติ ที่มีทักษะภาษาอังกฤษไม่เชี่ยวชาญเพียงพอ หรือผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจมาศึกษาเล่าเรียนอย่างแท้จริง

รัฐบาลไม่ปฏิเสธว่าอาจมีการจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติ หากจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานสุทธิยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง

แต่คุณอาบูล ริซวี อดีตเลขาธิการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า การจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติอาจเป็นเรื่องที่วุ่นวายและยากต่อการนำไปปฏิบัติ

"ผมคิดว่าเราให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์มากเกินไปในการส่งนักเรียนต่างชาติกลับไปต่างประเทศ แต่ไม่เพียงพอสำหรับสิทธิประโยชน์ของนักเรียนต่างชาติที่กลายมาเป็นพลเมืองออสเตรเลียและทำงานในออสเตรเลียตลอดชีวิตหลังจากนั้น โดยจ่ายภาษีและสร้างคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ซึ่งเรื่องนี้สำคัญกว่ารายได้ที่มหาวิทยาลัยได้รับมาก และผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องหันหลังกลับและทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนต่อชาวออสเตรเลีย" คุณริซวี ระบุ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share