"สนามบินนานาชาติ ซิดนีย์ คิงส์ฟอร์ด สมิท (Sydney Kingsford Smith International Airport) ประกาศขายกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารที่ตกค้าง ที่เก็บไว้ที่สนามบินมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ตามข้อบังคับนั้นเราจะต้องกำจัดกระเป๋าสัมภาระเหล่านี้ แต่เราตัดสินใจที่จะขายมันในราคาเพียง 3 ดอลลาร์ต่อใบเท่านั้น"
เพจหนึ่งบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ระบุว่าเป็นกิจกรรมการกุศล กำลังให้ข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับช่วงคริสต์มาส ด้วยเงินเพียง 3.33 ดอลลาร์ คุณก็จะสามารถซื้อกระเป๋าเดินทางที่เต็มไปด้วยสมบัติสุดเซอร์ไพรส์สำหรับตัวคุณเองหรือคนที่คุณรักได้
มีผู้คนที่เข้ามาแสดงความน่าตื่นเต้นในคอมเมนต์ที่มีมากกว่า 100 คอมเมนต์สำหรับแค่โพสต์เดียวในเพจดังกล่าว
“ฉันยังคงตกใจอยู่เลย วันนี้คนส่งของนำกระเป๋าเดินทางที่ฉันซื้อมาส่ง ดูสิว่าฉันได้อะไรมาบ้าง” ผู้ที่ชื่อ แซนดรา เรย์โนลด์ส โพสต์พร้อมรูปถ่ายกระเป๋าเดินทาง ที่ภายในจัดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างน่าสงสัย
ภาพที่แชร์จากบุคคลที่เขียนคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเพจซึ่งแอบอ้างเป็นเพจของสนามบินซิดนีย์ และประกาศขายกระเป๋าสัมภาระที่ตกค้างที่สนามบิน
มันดูเหมือนเป็นข้อเสนอที่ยอดเยี่ยม คุณจะได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลในขณะเดียวกันก็ช่วยเคลียร์โกดังเก็บของในสนามบินด้วย
มันดูเหมือนจะดีจนเหลือเชื่อใช่ไหม? มันก็คงเป็นกลโกงนั่นแหละ
เฟซบุ๊กเพจดังกล่าว ซึ่งมีโลโก้เก่าของสนามบินซิดนีย์ ได้รับคะแนน 4.8 จากคะแนนเต็ม 5 และมีรีวิว (review) หรือการแสดงความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์การใช้สินค้า 1,162 รีวิว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกลิ่นอายที่ชี้ว่าเฟซบุ๊กเพจนี้น่าจะเป็นเรื่องจริง แต่หลังจากคลิกลิงก์ คุณจะถูกนำไปยังเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งคุณจะได้รับแจ้งว่าคุณสามารถร่วมชิงโชคกระเป๋าเดินทางที่ตกค้างได้
และจากนั้น คำสัญญาว่าจะได้ของถูกในราคาแค่ 3 ดอลลาร์ ก็เปลี่ยนไป
ตัวหนังสือตัวพิมพ์เล็ก ๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์ระบุว่า เมื่อคุณให้รายละเอียดบัตรเครดิตของคุณแล้ว คุณจะได้สมัครเป็นสมาชิกที่มีค่าใช้จ่าย 113 ดอลลาร์ต่อเดือน เว้นแต่คุณจะยกเลิกภายในสามวัน เพจดังกล่าวแจ้งว่าคุณจะถูกเรียกเก็บเงินโดยบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส
การกรอกแบบสอบถามออนไลน์มีความเสี่ยงหลายประการ ศาสตราจารย์ คริส เลคกี ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Academic Centre of Cyber Security Excellence) แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เตือน
“ประการแรก สำหรับการหลอกลวงประเภทนี้ ผู้คนจะถูกขอให้ระบุรายละเอียดบัตรเครดิตของตนเพื่อรับข้อเสนอที่ดูเหมือนเป็นการได้ของในราคาถูก” ศ.เลคกี กล่าว
“นักต้มตุ๋นหลอกลวงจะพยายามใช้รายละเอียดบัตรเครดิตเหล่านั้นสำหรับธุรกรรมฉ้อโกงที่เรียกเก็บเงินกลับไปยังบัตรเครดิตของเหยื่อ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียทางการเงินที่มากกว่าการทำธุรกรรมเพียง 3 ดอลลาร์อย่างที่อ้างในตอนแรก”
“หากข้อเสนอดูดีจนเหลือเชื่อ มันก็คงเป็นกลโกงนั่นแหละ ผมแนะนำให้ประชาชนทำการค้นหาข้อมูลออนไลน์ในเบื้องต้นเสียก่อน”
หากข้อเสนอดูดีจนเหลือเชื่อ มันก็คงเป็นกลโกงนั่นแหละ ผมแนะนำให้ประชาชนทำการค้นหาข้อมูลออนไลน์ในเบื้องต้นเสียก่อนศ.คริส เลคกี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น
ทั้งสนามบินซิดนีย์และตำรวจสหพันธรัฐ เตือนประชาชนให้ระวัง
โฆษกสนามบินซิดนีย์เตือนให้ประชาชน "ระวังกลโกงทางโซเชียลมีเดีย และเชื่อถือเฉพาะข้อมูลจากบัญชีที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ (official verified account) ของสนามบินซิดนีย์เท่านั้น"
โฆษกยังระบุด้วยด้วยว่า สายการบินเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกระเป๋าหรือสัมภาระที่สูญหายหรือตกค้างหลังการเช็คอินแล้ว ไม่ใช่สนามบิน
ทีมงานรับแจ้งสิ่งของสูญหายของสนามบินซิดนีย์จะจัดการเฉพาะสิ่งของที่ลืมทิ้งไว้ในอาคารผู้โดยสารหรือในลานจอดรถเท่านั้น
ทุก ๆ ปี สิ่งของหลายพันชิ้นจะถูกส่งคืนให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม แต่สิ่งใด ๆ ที่ไม่มีการอ้างสิทธิ์จะถูกนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลในท้องถิ่น หรือนำไปประมูลในการประมูลทรัพย์สินที่สูญหายหรือตกค้างของสนามบินซิดนีย์ (Sydney Airport's Lost Property Auction)
องค์กร สแกมวอต์ช (Scamwatch) ของรัฐบาลสหพันธรัฐ ได้รับแจ้ง 280,240 กรณีในปีนี้ โดยผู้คนได้สูญเงินกว่า 455 ล้านดอลลาร์ให้กับการหลอกลวง มีการสูญเงินไปมากที่สุดให้แก่การหลอกลวงด้านการลงทุน โดยสูญเงินไปเกือบ 276 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยการหลอกลวงผ่านการหาคู่และการหลอกให้หลงรัก (33.5 ล้านดอลลาร์)
ตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (AFP) กล่าวว่า ผู้คนอาจเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงมากขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
“อาชญากรไซเบอร์เป็นนักฉวยโอกาสอย่างยิ่ง และจะใช้ช่วงคริสต์มาสอันวุ่นวายนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการแอบอ้างเป็นธุรกิจที่มีอยู่จริง และหลอกให้ผู้คนคลิกลิงก์อันตราย หรือที่เรียกกันว่า ‘ฟิชชิ่ง’ (phising)” เอเอฟพี ระบุบนเว็บไซต์
คริส โกลด์สมิด ผู้บัญชาการปฏิบัติการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ของ เอเอฟพี กล่าวว่า "เราขอเตือนนักช็อปว่า อย่าประมาทในช่วงเทศกาลเช่นนี้"
“การหลอกลวงประเภทนี้สังเกตเห็นได้ยากมาก เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์มักจะแอบอ้างเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง โดยใช้ชื่อและโลโก้ของสถาบันเหล่านั้น”
"ผมขอแนะนำให้นักช็อปใช้เวลาในการตรวจสอบว่าใครที่ติดต่อมาเกี่ยวกับการช็อปปิงออนไลน์ของคุณ หากมันดูน่าสงสัย มันก็คงเป็นการหลอกลวงนั่นแหละ"
องค์กร สแกมวอต์ช (Scamwatch) รายงานว่า ข้อความทางโทรศัพท์มือถือ หรือ SMS ปลอมเรื่องการจัดส่งพัสดุนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุด เนื่องจากผู้คนอาจได้รับของขวัญที่ส่งมาให้ และมีแนวโน้มที่จะตอบกลับข้อความเหล่านี้โดยการให้รายละเอียดส่วนบุคคลของตนไป
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สแกมเมอร์เล็งหลอกผู้ต้องการเช่าบ้าน/เช่ารถในออสเตรเลีย