ประเด็นสำคัญ
- ผู้คนในออสเตรเลียสูญเสียเงินหลายล้านเหรียญในแต่ละปีให้กับกลการหลอกลวงที่ซับซ้อน
- สแกมเมอร์แอบอ้างว่ามาจากบริษัทและสถาบันที่ผู้คนเชื่อถือ
- นี่คือวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง
การหลอกลวงกำลังเพิ่มขึ้น โดยผู้คนในออสเตรเลียกำลังถูกหลอกให้สูญเสียเงินไปมากกว่าที่เคยเป็นมา
ผู้คนในออสเตรเลียสูญเสียเงินไปกว่าครึ่งพันล้านดอลลาร์จากการหลอกลวงในปี 2022 ตาม โดย แจ้งเข้ามาบ่อยที่สุด
หากคุณต้องการทำให้แน่ใจได้ว่าคุณจะไม่ถูกหลอก นี่คือสิ่งที่คุณต้องระวัง
การหลอกลวงเกี่ยวกับค่าทางด่วน
สแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพจะแอบอ้างว่ามาจากหน่วยงานที่จัดเก็บค่าทางด่วน เช่น Linkt โดยส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถืออ้างว่าผู้รับค้างชำระค่าทางด่วนหรือมีค่าทางด่วนที่เลยกำหนดการชำระเงิน
หน่วยงานด้านการสื่อสารและสื่อของออสเตรเลีย (ACMA) กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับข้อความข่มขู่ ซึ่งอ้างว่าบัญชีค่าทางด่วนของพวกเขามีจำนวนเงินค้างชำระหรือมีเงินในบัญชีไม่เพียงพอ ต้องระวัง
"ข้อความหลอกลวงอาจมาจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก หรือมีคำว่า 'Linkt' ในรายละเอียดผู้ส่งเพื่อให้ดูเหมือนของจริง" ACMA กล่าว
ข้อความหลอกลวงเช่นนี้แจ้งผู้รับเกี่ยวกับค่าทางด่วนที่ค้างชำระ Source: SBS
“หากคุณสงสัยว่าข้อความที่คุณได้รับเกี่ยวกับบัญชีค่าทางด่วนนั้นเป็นของจริงหรือไม่ โปรดอย่าคลิกลิงก์ใดๆ หรือพึ่งพาข้อมูลที่ส่งมาในข้อความทางโทรศัพท์มือถือนั้น”
ACMA กล่าวว่าประชาชนล็อกอิน (log in) เข้าไปในบัญชีค่าทางด่วนของตนแทน หรือใช้แอปพลิเคชันที่ได้รับการรับรองจากบริษัทเพื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้ทางด่วนล่าสุดของตน
การหลอกลวงโดยอ้างชื่อ Uber
สแกมเมอร์ยังสวมรอยเป็นอูเบอร์ (Uber) และส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังเหยื่อที่ไม่เฉลียวใจ เพื่อพยายามหลอกเอาเงินจากพวกเขา
จากข้อมูลของ Scamwatch ข้อความทางโทรศัพท์มือถือดังกล่าวอาจอ้างว่ามีกิจกรรมที่ผิดปกติในบัญชีของคุณ หรือการชำระเงินของคุณไม่สำเร็จ
"ข้อความทางโทรศัพท์มือถือเหล่านั้นทั้งหมดมีลิงก์ที่ประสงค์ร้ายนำไปยังเว็บไซต์ที่จะขโมยรายละเอียดของคุณ" เว็บไซต์ Scamwatch ระบุ
Scamwatch แนะนำให้ผู้รับข้อความดังกล่าวอย่าคลิกลิงก์ แต่ให้ตรวจสอบบัญชีอูเบอร์ของคุณผ่านแอปฯ แทน
และยังคงพบบ่อยอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จากข้อมูลของ Scamwatch
สถิติจากเอทริปเปิลซี (ACCC) พบว่ามีมีการแจ้งเกี่ยวกับการหลอกลวงรูปแบบนี้เข้ามากว่า 11,000 กรณีในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 7.2 ล้านดอลลาร์
กลการหลอกลวงด้วยข้อความ 'Hi Mum' หลอกลวงเหยื่อให้ส่งเงินให้อาชญากรไซเบอร์ ที่สวมรอยว่าเป็นลูกหลานของเหยื่อ
ผู้ก่อเหตุมักจะส่งข้อความผ่าน WhatsApp หรือ SMS โดยเสแสร้งว่าเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ทำโทรศัพท์มือถือหายหรือมีหมายเลขโทรศัพท์ใหม่
จากนั้นสแกมเมอร์หรือมิจฉาชีพจะอ้างว่าถูกล็อกไม่ให้เข้าระบบธนาคารออนไลน์ และขอให้เหยื่อส่งเงินมาให้
การหลอกลวงประเภทนี้มีหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดจ้องหลอกลวงเหยื่อที่เต็มใจช่วยบุคคลอันเป็นที่รักที่กำลังเดือดร้อน
หากคุณได้รับข้อความเช่นนี้ Scamwatch แนะนำให้โทรศัพท์หาคนที่คุณรักด้วยหมายเลขโทรศัพท์ปกติ เพื่อยืนยันว่าข้อความเหล่านั้นมาจากพวกเขาจริงๆ ก่อนที่จะส่งเงินใดๆ ให้
การหลอกลวงโดยอ้าง myGov
มิจฉาชีพกำลังสวมรอยเป็นองค์กรของรัฐเพื่อหลอกลวงประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Scamwatch มีรายงานเกี่ยวกับผู้แอบอ้างว่าติดต่อมาจาก myGov เพิ่มขึ้น 160 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมกราคม
Scamwatch เตือนให้ผู้คนควรระวังอีเมลและข้อความที่ดูเหมือนมาจาก myGov ที่บอกว่าพวกเขามีสิทธิ์ได้รับเงินคืนหรือได้รับเงินส่วนลดใดๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ Scamwatch ยังเตือนประชาชน อย่าเข้าบัญชี myGov โดยการคลิกลิงก์ที่อยู่ในอีเมลหรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ
การหลอกลวงโดยอ้าง ATO
สแกมเมอร์ยังใช้บัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อแอบอ้างว่ามาจากองค์กรของรัฐ เช่น สำนักงานภาษีแห่งออสเตรเลีย หรือ ATO
"เราเห็นการเพิ่มขึ้นของบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมที่แอบอ้างว่ามาจากเอทีโอ อ้างตัวว่าเป็นพนักงานของเราและเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของเรา ทั่วทั้ง Facebook, Twitter, TikTok, Instagram และแพลตฟอร์มอื่นๆ" เอทีโอกล่าวในเดือนมกราคม
"บัญชีปลอมเหล่านี้ขอให้ประชาชนผู้ที่โต้ตอบกับเอทีโอ ส่งข้อความโดยตรงถึงพวกเขา เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนซักถาม ผู้ที่อยู่เบื้องหลังบัญชีปลอมเหล่านี้กำลังพยายามขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และข้อมูลบัญชีธนาคาร "
เอทีโอกล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการยืนยันว่าบัญชีโซเชียลมีเดียนั้นเป็นบัญชีอย่างเป็นทางการคือ ให้ตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามบัญชีนั้น (followers) บัญชีนั้นมีจำนวนการโพสต์เท่าไร และตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่อยู่อีเมลที่ให้คุณมานั้นลงท้ายด้วย '.gov.au'
“ช่องทางโซเชียลมีเดียของเราเปิดดำเนินการมาราว 10 ปีแล้ว – หากเป็นบัญชีที่สร้างขึ้นใหม่หรือมีโพสต์เพียงเล็กน้อย ก็แสดงว่าไม่ใช่เรา” เอทีโอระบุ
การหลอกลวงว่ามีบ้านให้เช่า
ขณะที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญวิกฤตด้านที่อยู่อาศัย คุณอาจถูกล่อใจให้ฉวยโอกาสใดๆ ที่จะให้คุณได้บ้านเช่าอย่างแน่นอน
แต่เพื่อจะได้แน่ใจอย่างไม่มีข้อสงสัยว่า บ้านเช่าที่คุณสนใจเช่านั้นมีอยู่จริงและให้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย Scamwatch แนะนำให้คุณไปตรวจสอบบ้านเช่าหลังนั้นก่อนที่จะจ่ายเงินใดๆ ไป
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจสอบว่า ที่พักให้เช่านี้ประกาศหาคนเช่าในพื้นที่โฆษณาหลายๆ แห่งหรือไม่ และรายละเอียดการติดต่อนั้นเหมือนกัน เนื่องจากมิจฉาชีพมัก "ขโมยรูปภาพจากเว็บไซต์ที่พักให้เช่าของจริง"
การหลอกลวงโดยอ้างชื่อ Telstra และ Optus
ผู้คนในออสเตรเลียยังถูกหลอกลวงทางอีเมลที่อ้างว่ามาจากบริษัทโทรคมนาคม ตามข้อมูลของ ACMA
ACMA กล่าวว่าลูกค้าของเทลสตรา (Telstra) ควรระวังอีเมลที่พวกเขาไม่ได้คาดว่าจะได้รับ ซึ่งขอพวกเขาให้กรอกแบบฟอร์ม 'Know Your Customer' (รู้จักลูกค้าของคุณ) เพื่อหลีกเลี่ยงการบริการหยุดชะงักหรือบริการถูกยกเลิก
"หากคุณได้รับอีเมลนี้ อย่าดาวน์โหลดหรือเปิดไฟล์แนบหรือลิงก์ใดๆ ในข้อความ" ACMA กล่าว
"หากคุณสงสัยว่าอีเมลที่คุณได้รับจากเทลสตรา (Telstra) เป็นของแท้หรือไม่ โปรดติดต่อเทลสตรา ผ่านรายละเอียดการติดต่อที่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือแอปฯ ที่ได้รับการยืนยัน"
คำแนะนำนี้ยังใช้ได้กับทุกคนที่ได้รับอีเมลที่ถูกอ้างว่ามาจากออปตัส (Optus) ซึ่งขอให้คลิกลิงก์เพื่ออัปเดตหรือยืนยันรายละเอียดของพวกเขาเพื่อ "เหตุผลด้านความปลอดภัย"
ACMA กล่าวว่าตัวอย่างอื่นๆ ของการหลอกลวงทางอีเมลออปตัส (Optus) นั้นรวมถึงการแจ้งเตือนการชำระเงิน ซึ่งคุณจะถูกขอให้คลิกลิงก์เพื่อชำระใบเรียกเก็บเงินที่ค้างชำระหรืออัปเดตวิธีการชำระเงินของคุณ
“ในบรรดาข้อความหลอกลวงทั้งหมดเหล่านี้สิ่งที่พบร่วมกันคือความรู้สึกเร่งด่วน — ซึ่งหากคุณไม่ดำเนินการโดยเร็ว บัญชีของคุณจะถูกปิดหรือถูกระงับ หรือบริการของคุณจะถูกตัดขาด” ACMA ระบุ
"การหลอกลวงเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินของคุณ ออปตัสแจ้งว่าบริษัทจะไม่ขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของคุณทางอีเมลหรือทางข้อความทางโทรศัพท์มือถือ"
การหลอกลวงด้านการจัดหางาน
ในเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ACCC พบว่ามีการ "เพิ่มขึ้นอย่างมาก" ทั้งสำหรับกรณีที่มีผู้แจ้งเข้ามาและความสูญเสียที่เกี่ยวกับการหลอกลวงด้านการจัดหางาน
การหลอกลวงประเภทนี้มักเกี่ยวข้องกับบุคคลที่แสร้งทำเป็นว่ากำลังมองหาลูกจ้างให้แก่บริษัทที่มีชื่อเสียงและแพลตฟอร์มการช็อปปิ้งออนไลน์ และแอบอ้างเป็นบริษัทจัดหางานที่มีชื่อเสียง
มิจฉาชีพมักจะขอเงินเพื่อแลกกับการรับประกันรายได้ Scamwatch กล่าว
"หากคุณกำลังหางานและคุณได้รับข้อเสนอให้ทำงานที่ต้องใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนใหญ่ ก็เป็นไปได้มากว่าเป็นการหลอกลวง" คุณ เดเลีย ริกการ์ด รองประธาน ACCC กล่าว
"ซึ่งอาจรวมถึงการคลิกปุ่มบนเว็บไซต์หรือในแอปฯ ซ้ำๆ เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์หรือส่งรีวิวสินค้าและบริการ"
การหลอกลวงใน Facebook Marketplace
ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้รายงานถึงสแกมเมอร์ที่ใช้ PayID เพื่อหลอกผู้ขายของบนเฟซบุ๊ก มาร์เก็ตเพลส (Facebook Marketplace)
ธนาคาร Heritage Bank ได้แจ้งเตือนลูกค้าในเดือนมกราคมเกี่ยวกับวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพออนไลน์
ธนาคารระบุว่า ผู้ซื้อที่เล่นไม่ซื่อเหล่านี้จะบอกกับผู้ขายว่า พวกเขาไม่สามารถไปพบกับผู้ขายได้ด้วยตนเอง แต่จะให้ญาติหรือเพื่อนของพวกเขาจะไปพบและรับสินค้าแทน
"จากนั้นสแกมเมอร์จะส่งอีเมล PayID ปลอมไปให้ผู้ขาย" ธนาคารกล่าว
"อีเมลปลอมนี้จะระบุว่ามีปัญหาในการรับเงินเนื่องจากมีข้อจำกัดสำหรับ PayID ในบัญชีที่ไม่ใช่บัญชีของธุรกิจ”
“ผู้ขายต้องโอนเงินก่อนเพื่อเพิ่มวงเงิน PayID เพื่อให้สามารถรับการชำระเงินได้ ทันทีที่ดำเนินการเสร็จสิ้น พวกเขาจะได้รับคำมั่นว่าจะได้รับเงินนั้นคืนและได้รับเงินที่ผู้ซื้อชำระ”
"แต่ความจริงแล้ว ผู้ขายที่ไม่ได้เฉลียวใจกลับถูกหลอกให้จ่ายเงินให้แก่นักต้มตุ๋น"
กลอุบายเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในตลาดซื้อขายออนไลน์ Gumtree อีกด้วย
การหลอกลวงเกี่ยวกับยาลดน้ำหนัก
นักต้มตุ๋นออนไลน์กำลังพยายามใช้ประโยชน์จากความต้องการ Ozempic ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงยาช่วยชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเท่านั้น แต่ยังถูกผู้อื่นนำไปใช้ “นอกข้อบ่งใช้ยา” เพื่อลดน้ำหนักอีกด้วย
องค์กรผู้ควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) กล่าวกับ The Feed ว่าการหลอกลวงประเภทนี้หลอกให้ผู้คนป้อนรายละเอียดส่วนตัวหรือรายละเอียดการชำระเงินออนไลน์เพื่อซื้อสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง
ทีจีเอกล่าวว่ากำลังตรวจสอบบางเว็บไซต์ที่อ้างว่าขายเซมาลูไทด์ ที่ซื้อขายในชื่อ Ozempic โดยมีรายงานว่าลูกค้าไม่ได้รับผลิตภัณฑ์เลย หรือพบว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นยาทางเลือกหรือยาทดแทน
การโฆษณาของ Ozempic ถูกห้ามในออสเตรเลีย โดยทีจีเอระบุว่าประชาชนควรหาซื้อยาจากร้านขายยาเท่านั้น โดยจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
หากต้องการแจ้งการถูกหลอกลวงและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีขอความช่วยเหลือ ให้ไปที่ www.scamwatch.gov.au
รายงานเพิ่มเติมโดย Jessica Bahr, Stephanie Corsetti และ Tom Canetti
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สแกมเมอร์เล็งหลอกผู้ต้องการเช่าบ้าน/เช่ารถในออสเตรเลีย