ระวังบัญชีโซเชียลมีเดียที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เอทีโอ

Australian Taxation Office

The Australian Taxation Office at Lang Street in Sydney. Source: AAP

มีการเตือนประชาชนไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อสำนักงานภาษีแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ หลังผู้คนแจ้งว่ามีบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เอทีโอ และหลอกลวงเหยื่อจนสูญเงินไปจำนวนมาก


นี่เป็นกลการหลอกลวงล่าสุดที่พุ่งเป้าไปยังประชาชนที่หันไปใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขอความช่วยเหลือหรือติดต่อกับสำนักงานภาษีแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ (ATO)

บัญชีโซเชียลมีเดียที่สวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่เอทีโอ ซึ่งมีทั้งส่งข้อความโดยตรงถึงเหยื่อหรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของผู้บริโภค จากนั้นได้ขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อไป

เอทีโอจึงกำลังร่วมมือกับบริษัทโซเชียลมีเดียเพื่อปิดบัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านั้น แต่ก็เป็นการต่อสู้ที่ยากเย็นแสนเข็ญ

คุณทิม โลห์ (Tim Loh) ผู้ช่วยอธิบดีสำนักงานภาษีแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ กล่าวว่า

"สิ่งที่เราต้องการคือความช่วยเหลือจากสาธารณะชน ที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าคุณระมัดระวังขณะที่เราดำเนินการปิดบัญชีเหล่านี้ อย่างที่คุณเห็นคือ บัญชีเหล่านี้ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่เราพยายามทำและร่วมกับบริษัทโซเชียลมีเดียคือ การทำให้แน่ใจว่าเราสามารถปิดบัญชีเหล่านี้โดยเร็วที่สุด คำแนะนำที่ผมมีสำหรับประชาชนคือ หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารกับบัญชีใดๆ ให้ตรวจสอบที่เว็บไซต์ของเอทีโอ ซึ่งก็คือ " คุณโลห์ ผู้ช่วยอธิบดีเอทีโอ กล่าว
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อประชาชนโพสต์ออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือ บัญชีโซเชียมีเดียที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เอทีโอจะติดต่อพวกเขาโดยตรงและเสนอตัวที่จะช่วยแก้ปัญหาให้

จากนั้นก็จะขอให้ประชาชนคลิกลิงก์หรือแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับออนไลน์

คุณโลห์กล่าวว่า ประชาชนควรต้องตระหนักว่า พฤติกรรมหล่านี้ไม่ชอบมาพากล

"สิ่งที่เราต้องการบอกกับผู้คนที่ติดต่อสื่อสารกับบัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านี้คือ เอทีโอไม่เคยขอข้อมูลส่วนบุคคลของคุณทางโซเชียลมีเดีย" คุณโลห์ ย้ำ
เอทีโอ (ATO) ไม่เคยขอข้อมูลส่วนบุคคลของคุณทางโซเชียลมีเดีย
ทิม โลห์ (Tim Loh) ผู้ช่วยอธิบดีสำนักงานภาษีแห่งออสเตรเลีย
ชาวออสเตรเลียสูญเสียเงินไปแล้วเกือบ 570 ล้านดอลลาร์จากการหลอกลวงในปี 2022

กลโกงให้เหยื่อนำเงินมาลงทุนเป็นการหลอกลวงที่ทำให้ผู้คนในออสเตรเลียเสียเงินไปมากที่สุด แต่กลการหลอกลวงแบบฟิชชิง (phishing) หรือกลการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ กลโกงจากใบเรียกเก็บเงินปลอม และการหลอกลวงผ่านการซื้อของออนไลน์นั้น เป็นกลโกงที่มีผู้คนแจ้งเข้ามามากที่สุด

มีการแจ้งการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เอทีโอเข้ามาเกือบ 16,000 กรณี ซึ่งทำให้เหยื่อสูญเสียเงินไปแล้วรวมกันเกือบ 80,000 ดอลลาร์ และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวถูกเปิดเผย

ผู้ที่แจ้งเข้ามาว่าตกเป็นเหยื่อกลโกงเหล่านี้สูงสุดคือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ศาสตราจารย์ไนเจล แฟร์ (Nigel Phair) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มหาวิทยาลัยโมนาช เขากล่าวว่า กลยุทธ์ใหม่ที่นักต้มตุ๋นหลวงลวงใช้ ก่อให้เกิดความท้าทายมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย

"ไม่ได้มีการทำอะไรในเรื่องนี้มากนัก และจะว่าไปแล้วก็ไม่มีอะไรมากนักที่ทำได้ นักต้มตุ๋นหลอกลวงเหล่านั้นกำลังสร้างบัญชีเจ้าหน้าที่เอทีโอปลอมๆ ขึ้นมา และนั่นก็แย่ลงไปอีกที่ลูกจ้างของเอทีโอก็มีบัญชีโซเชียลมีเดียของตนเองเหมือนกัน ทั้งบัญชีที่เปิดเผยต่อสาธารณะและบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ดังนั้นอาชญากรจึงฉวยโอกาสจากความเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง" ศ.แฟร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าว

เอทีโอแนะนำให้ประชาชนผู้ใช้บริการของเอทีโอคอยสังเกตเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน (blue tick) บนโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นวิธียืนยันว่านั่นเป็นบัญชีอย่างเป็นทางการของเอทีโอ

แต่ศ.แฟร์ กล่าวว่า แม้แต่วิธีนี้ก็ไม่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์

"คุณสามารถซื้อเครื่องหมายถูกสีน้ำเงินได้สำหรับบัญชีทวิตเตอร์ (Twitter) มันไม่ได้ยืนยันความเชื่อถือได้ของบัญชีนั้น ผมคิดว่าเมื่อประชาชนดูบัญชีของรัฐบาล พวกเขาจะต้องดูที่ URL ที่เกี่ยวข้อง ต้องดูว่า URL นำไปที่ไหน พวกเขาต้องเริ่มคิดถึงช่องทางอื่นที่จะติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานรัฐบาล และเช่นเดียวกันคือหน่วยงานรัฐบาลเหล่านั้นจำเป็นต้องคิดถึงวิธีที่พวกเขาจะติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภค" ศ.แฟร์ กล่าว

และเช่นเคยคือ มีคำแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเมื่อทำธุรกรรมและทำสิ่งต่างๆ ออนไลน์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share