วิธีป้องกันจากการถูกโจรกรรมข้อมูลในออสเตรเลีย

Hacker

ควรอัปเดตซอฟต์แวร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณเสมอ รวมถึงซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสด้วย Source: Moment RF / krisanapong detraphiphat/Getty Images

การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นภัยคุกคามที่มีคนตกเป็นเหยื่อมากขึ้นทุกปีที่ออสเตรเลีย เหยื่อที่ถูกแอบอ้างชื่อมักได้รับความเสียหายในหลายเรื่อง ทั้งสูญเงิน ด้อยสถานะเครดิตและผลพวงทางกฎหมาย เรามีขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกขโมยหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ผิด


ประเด็นสำคัญ
  • การโจรกรรมข้อมูลมีหลายวิธี ทั้งฟิชชิ่ง สกิมมิง ใช้ศิลปะในการหลอก การแฮ็ก การค้นหาไฟล์ที่ลบทิ้ง
  • การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเกิดได้ทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
  • หากคุณเชื่อว่าคุณเป็นเหยื่อการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ควรติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องทันที

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Identity crime/theft) เป็นปัญหาที่น่าวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในออสเตรเลีย สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย บริษัทเอกชนและบุคคลทั่วไปต้องสูญเงินจำนวนมาก

การทราบว่าการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้อย่างไรสามารถช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณและช่วยลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อได้

ด็อกเตอร์สุรางค์ เสนีวิรัตน์ (Suranga Seneviratne) อาจารย์สอนด้านความปลอดภัยจากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (School of Computer Science at Sydney University) อธิบายถึงการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลว่าเป็นการขโมยข้อมูลที่นำไปใช้เพื่อการฉ้อโกงและเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน

“อาชญากรรมประเภทนี้มักเกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์ (scammer) หรือผู้ร้ายที่นำบัตรเครดิตของบุคคลอื่นไปใช้ บางกรณี เช่น การขอคืนภาษี ขอรับสวัสดิการสังคม หรือขอเงินกู้ ด้วยการแสวงประโยชน์หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายอาจไม่ทราบว่ากำลังถูกเอาเปรียบ”
จากข้อมูลของสแกมวอช (Scamwatch) เว็บไซต์ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission ) หรือเอทริปเปิลซี (ACCC) เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนให้รู้จัก หลีกเลี่ยง และรายงานการหลอกลวงต่างๆ เว็บไซต์ระบุว่ามีประชาชนออสเตรเลียที่ถูกหลอกต้องสูญเสียเงินจำนวน 568 ล้านดอลลาร์ในปี 2022

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 80% จากรายงานของปี 2021 ซึ่งมีมูลค่าการสูญเงินจำนวน 320 ล้านดอลลาร์ เพราะเหยื่อมักไม่รายงานจำนวนเงินที่เสียไปต่อเจ้าหน้าที่ ด้าน

การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้หลายวิธี ได้แก่ การฟิชชิง (Phishing) สกิมมิง (Skimming) ใช้วิธีศิลปะหลอกลวงทางสังคม (Social engineering) การแฮ็ก (Hacking) การรื้อค้นไฟล์ที่ลบทิ้ง (Dumpster diving) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน

คุณแคทริโอนา โลว์ (Catriona Lowe) รองประธานคณะกรรมาธิการเอทริปเปิลซีกล่าวว่าข้อมูลที่อาจดูว่ามีค่าน้อยก็อาจกลายเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับสแกมเมอร์ได้ เมื่อรวมสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เข้าด้วยกัน

“สิ่งอย่างเช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของคุณเพียงอย่างเดียวอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่หากรวมข้อมูลเข้าด้วยกันอาจทำได้มากขึ้น เอกสารระบุตัวตนที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ใบขับขี่ พาสปอร์ต และบัตรเมดิแคร์ (Medicare) แต่เอกสารอย่างเช่น บิลหรือใบแจ้งยอดธนาคารเก่าอาจเป็นข้อมูลที่มีค่าได้”
Digtal identity
อาชญากรไซเบอร์สามารถเข้าบัญชีธนาคารของคุณและทำในสิ่งที่คุณอาจไม่คาดคิด Credit: John Lamb/Getty Images
สแกมเมอร์อาจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของคุณจากแห่งข้อมูลสาธารณะได้

รวมถึงบัญชีโซเชียลมีเดียซึ่งอาจมีรูปถ่ายและข้อมูลของครอบครัวคุณ

“เราได้ยินถึงกรณีที่สแกมเมอร์ใช้รูปจากโซเชียลมีเดียหรือข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถนำมาสร้างเป็นโปรไฟล์ปลอมได้ ดังนั้นสิ่งที่จะสื่อคือควรระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลส่วนตัว”

แล้วอาชญากรไซเบอร์สามารถทำอะไรกับข้อมูลที่มีได้บ้าง?

ดร. โลว์กล่าวว่าขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของข้อมูลส่วนบุคคลที่สแกมเมอร์รวบรวมได้
พวกเขาอาจเข้าบัญชีธนาคารของคุณและถอนเงินออกทั้งหมด
"พวกเขาอาจเปิดบัญชีธนาคารใหม่ในชื่อของคุณ หรือขอกู้เงินหรือขอสินเชื่อ พวกเขาอาจเปิดใช้โทรศัพท์เครื่องใหม่หรือเซ็นสัญญาต่างๆ อาจพยายามซื้อของหรูหราในชื่อคุณ ใช้ชื่อคุณเพื่อขอรับบริการออนไลน์ของรัฐบาล เข้าอีเมลของคุณเพื่อให้ได้ข้อมูลมากยิ่งขึ้น พวกเขาอาจใช้บัญชีโซเชียลมีเดียของคุณและปลอมตัวเป็นคุณ หรือใช้ตัวตนของคุณเพื่อหลอกลวงเหยื่อรายใหม่”
Authorities warn to limit what you share online.
พึงระวังการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลบนโซเชียลมีเดีย Source: AP / Eraldo Peres/AP
ดร. โลว์แนะนำให้คิดทบทวนให้ดีก่อนที่จะใส่ข้อมูลส่วนบุคคลในเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคย รวมถึงร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ด้วย
อย่าเปิดข้อความหรืออีเมลที่น่าสงสัย อย่าคลิกลิงค์ในอีเมลพวกนั้น ลบอีเมลหรือข้อความนั้นออก
"หากคุณได้รับการติดต่อจากองค์กรและหากคุณสงสัยว่าจริงหรือไม่ อย่าติดต่อกลับโดยใช้รายละเอียดจากข้อความหรืออีเมลที่ได้รับตรวจสอบรายละเอียดติดต่อขององค์กรนั้นเสียก่อน”

คุณซาราห์ คาวานาห์ (Sarah Cavanagh) ผู้จัดการฝ่ายการเข้าถึงชุมชน (Community Outreach) ที่ไอดีแคร์ (IDCare) บริษัทให้การสนับสนุนด้านอัตลักษณ์และไซเบอร์ระดับชาติของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แนะนำให้ระวังการโทรสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล

“ใช้ความระมัดระวังเมื่อคุณต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณเสมอ โดยเฉพาะหากมีข้อมูลประจำตัวของคุณ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต เมดิแคร์ หรือรายละเอียดการล็อกอิน (login) ระบบธนาคาร คุณต้องแน่ใจว่าคุณสามารถยืนยันได้ว่าคนที่คุณคุยด้วยเป็นคนที่เขาบอกว่าเป็นจริงๆ”
Businesswoman using laptop and mobile phone logging in online banking account
เปิดการยืนยันตัวตนได้หลายช่องทางกับบัญชีธนาคาร อีเมล และบัญชีโซเชียลมีเดียของคุณ Source: Moment RF / Oscar Wong/Getty Images
คุณคาวานาห์ยังแนะนำให้เก็บเอกสารส่วนตัวที่บ้านให้ดี โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่อยู่บ้านเป็นเวลานาน ล็อคกล่องจดหมายและทำลายเอกสารส่วนบุคคลที่คุณไม่ต้องการอีกต่อไป

สิ่งสำคัญคือควรมีรหัสผ่าน (password) บัญชีออนไลน์ที่รัดกุมและไม่ซ้ำกัน
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีรหัสผ่านที่ไม่ซ้ำกันและเข้าถึงยากกับทุกบัญชีของคุณ
"อย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันหลายครั้ง ตั้งค่าการยืนยันตัวตนได้หลายช่องทาง (multi-factor authentication) กับทุกบัญชีหากทำได้ รวมถึงบัญชีการเงิน บัญชีโซเชียลมีเดียและอีเมลของคุณ”

เหยื่อการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว

แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่าคุณถูกขโมยตัวตน?

คุณคาวานาห์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือควรระมัดระวังตัวและมองหาสัญญาณบ่งชี้ว่าข้อมูลประจำตัวของคุณถูกนำไปใช้

“จดหมายไม่ส่งมาเหมือนเคย มีรายการปรากฎบนใบแจ้งยอดธนาคารหรือยอดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้หรือระบุไม่ได้ หลายคนอาจเริ่มได้รับบิล ใบแจ้งหนี้ หรือใบเสร็จค่าบริการหรือสินค้าที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ หรือหากกำลังดำเนินการขอสินเชื่อแล้วถูกปฏิเสธเนื่องจากมีเครดิตไม่ดี”
Internet troll
อาชญากรไซเบอร์สามารถเจาะผ่านรหัสผ่านที่ไม่รัดกุมได้ ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่สามารถเดารหัสผ่านได้นับหลายพันล้านครั้งต่อ 1 วินาที Credit: Peter Dazeley/Getty Images
หากคุณสงสัยว่าข้อมูลส่วนบุคคลของคุณถูกขโมย คุณคาวานาห์แนะนำให้ติดต่อไอดีแคร์ และผู้ให้คำปรึกษาจะแนะนำสิ่งที่ต้องทำทีละขั้นตอน

สิ่งสำคัญคือควรติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องทันทีและตรวจสอบรายละเอียดบัญชีออนไลน์ของคุณ

“เข้าบัญชีและรีเซ็ต (reset) รหัสผ่านและพิน (pin) ในบัญชีทั้งหมดของคุณ เปิดการยืนยันตัวตนแบบหลายช่องทาง และตรวจสอบรายละเอียดการติดต่อของคุณในบัญชีเหล่านั้น”
การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าจะสร้างมาตรการป้องกันไว้แล้วก็ตาม

ด็อกเตอร์แอนดรูว์ แกรนท์ (Andrew Grant) อาจารย์สอนด้านวินัยการเงินที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (Discipline of Finance at Sydney University) ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลขณะที่อยู่ต่างประเทศ

ขณะนั้นด็อกเตอร์แกรนท์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาดื่มเหล้าเมามายและมือถือของเขาตั้งให้สามารถปลดล็อกได้ด้วยวิธีการจดจำใบหน้า (facial recognition)

“มือถือของผมปลดล็อกได้แบบใช้วิธีจดจำใบหน้า เมื่อคุณดื่มจนเมามาย มันค่อนข้างง่ายที่พวกเขาจะเข้าโทรศัพท์ของคุณ และเมื่อพวกเขาสามารถเข้าโทรศัพท์ของคุณได้ พวกเขาสามารถใช้แอปธนาคารของคุณได้ สามารถหาข้อมูลส่วนตัวของคุณผ่านอีเมลของคุณ”
Financial Wellness Credit Scores
คะแนนเครดิตต่ำอาจมีผลเสียต่อการขอกู้เงิน การได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดี หรือการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต Source: AP / John Raoux/AP
ดร. โลว์จากสแกมวอชแนะนำให้ระมัดระวังอยู่เสมอ

“สแกมเมอร์ช่ำชองมากขึ้น เราขอให้จำคีย์เวิร์ด (key words) 3 คำ"
หยุด คิด ป้องกัน
"หยุดและคิดว่าฉันรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใครจริงๆ หรือไม่ และป้องกัน หากคุณกังวลว่าคุณอาจเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์ ติดต่อไอดีแคร์ และธนาคารของคุณ รายงานเรื่องของคุณไปยังสแกมวอช”

แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์
  • รายงานการโจรกรรมข้อมูลหรือถูกสแกมเมอร์หลอกได้ที่ หรือผ่านเว็บไซต์
  • หากคุณสงสัยว่าถูกโจรกรรมข้อมูล ติดต่อ  หรือโทร 1800 595 160 (Aus) หรือเบอร์ 0800 121 068 (NZ).
  • อัปเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูลและการหลอกลวงได้ที่ 
อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานและการย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share