การหลอกลวงโดยแสร้งทำเป็นรับสมัครงานกำลังเพิ่มขึ้น นี่คือสิ่งที่ควรระวัง

สแกมเมอร์ที่พุ่งเป้าไปยังผู้คนในออสเตรเลีย โดยแอบอ้างว่ามาจากบริษัทต่าง ๆ และบริษัทจัดหางาน กำลังเพิ่มมากขึ้น

Fingers on laptop keyboard

สแกมเมอร์กำลังแอบอ้างเป็นองค์กรและบริษัทจัดหางาน (recruiters) โดยติดต่อเหยื่อผ่าน WhatsApp และอ้างว่ามีงานให้ทำ หรือโฆษณารับสมัครงานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Tik Tok และ Instagram Source: AAP / Elise Amendola/AP

ประเด็นสำคัญ
  • มีการหลอกลวงโดยแอบอ้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 740 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
  • ผู้คนในออสเตรเลียได้รับความเสียหายตั้งแต่เดือนมกราคมมีมูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์
  • นักเรียนที่กำลังมองหางานพาร์ทไทม์และผู้ที่ต้องการหางานที่ยืดหยุ่นได้เพื่อหารายได้เพิ่ม ตกเป็นเป้าหมายหลัก
การหลอกลวงโดยแอบอ้างการจ้างงานกำลังพบมากขึ้น ผู้คนในออสเตรเลียได้รับคำเตือนให้ระวัง โดยความเสียหายจากการหลอกลวงประเภทนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้สูงถึง 20 ล้านดอลลาร์

สตีเฟน โจนส์ รัฐมนตรีด้านบริการทางการเงินของสหพันธรัฐ กล่าวว่า ศูนย์ต่อต้านการหลอกลวงแห่งชาติ (National Anti-scam Centre) รายงานว่า การหลอกลวงโดยแอบอ้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 740 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023

“เราเห็นการหลอกลวงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแอบอ้างเป็นองค์กรและบริษัทจัดหางาน (recruiters) และติดต่อเหยื่อผ่าน WhatsApp เพื่ออ้างว่ามีงานให้ทำ หรือโฆษณารับสมัครงานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Tik Tok และ Instagram” รัฐมนตรีด้านบริการทางการเงิน สตีเฟน โจนส์ กล่าว เมื่อวันจันทร์

วิกฤตค่าครองชีพของออสเตรเลียกำลังทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานที่สองเพื่อพยายามหาเลี้ยงชีพ

แต่กำลังมีการโฆษณารับสมัครงานปลอม ๆ มากมายสำหรับตำแหน่งงานที่สามารถทำได้ที่บ้าน

รัฐมนตรีโจนส์กล่าวว่า สแกมเมอร์หรือนักต้มตุ๋นกำลังมุ่งเป้าไปที่ผู้หางาน ด้วยข้อเสนอที่จะให้ค่าตอบแทนอย่างงามหากทำงานสำเร็จ โดยหลอกเหยื่อที่ไม่ได้เฉลียวใจให้ส่งเงินที่หามาอย่างยากลำบากให้แก่มิจฉาชีพ

“พวกเขามักจะช่วยเหยื่อเปิดบัญชีบนแพลตฟอร์มคริปโทเคอร์เรนซี และให้เหยื่อรับการฝึกอบรมและให้ทำงานต่าง ๆ ก่อนที่จะขอให้เหยื่อลงเงิน โดยสัญญาว่าจะได้รับค่าคอมมิชชันหรือโบนัส” รัฐมนตรีโจนส์กล่าว

รัฐบาลกล่าวว่านักเรียนนักศึกษาที่กำลังมองหางานพาร์ทไทม์และผู้ที่ต้องการหางานที่ยืดหยุ่นได้ทำเพื่อหารายได้เพิ่มเป็นเป้าหมายหลักของนักต้มตุ๋น

วิธีสังเกตว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่

สัญญาณเตือน ได้แก่ การเสนองานผ่านแพลตฟอร์มส่งข้อความ เช่น WhatsApp หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, TikTok หรือ Instagram

สัญญาณเตือนอื่น ๆ ได้แก่ ข้อเสนอ "การรับประกันรายได้" หรืออัตราค่าจ้างที่ดีเกินจริงสำหรับการทำงานง่าย ๆ ทางออนไลน์

ตำแหน่งงานปลอม ๆ มักเป็นรูปแบบเหมือนการเล่นเกม ที่กระตุ้นผู้คนว่าพวกเขาจะมีรายได้มากขึ้นหากทำงานให้เสร็จสิ้น หรือแนะนำเพื่อนให้มาร่วมด้วย หรือลงเงินผ่านแอปพลิเคชัน

ผู้หญิงคนหนึ่งสูญเงินไปแล้ว 40,000 ดอลลาร์ หลังติดต่อโพสต์บนเฟซบุ๊กที่เสนองานพาร์ทไทม์ให้ทำจากที่บ้าน ในขณะที่อีกคนจ่ายเงิน 12,000 ดอลลาร์ให้แก่สแกมเมอร์ที่ล่อลวงเธอผ่านโซเชียลมีเดีย

ประชาชนควรติดต่อธนาคารทันทีหากคิดว่าตนถูกหลอกลวง และแจ้งเหตุหลอกลวงไปยัง ศูนย์ต่อต้านการหลอกลวงแห่งชาติ (National Anti-scam Centre)


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 24 October 2023 10:58am
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends