ประเด็นสำคัญ
- นักหลอกลวงต้มตุ๋นได้แทรกซึมเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์หลัก ๆ
- กลุ่มชุมชนต่างกล่าวว่านักเรียนต่างชาติมีความเสี่ยงที่สุดที่จะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงเรื่องการเช่าที่พัก
- อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เรียกร้องให้เอเจนต์และผู้เช่าระมัดระวังเป็นพิเศษ
สำหรับโคดี้และเจเดน คู่รักชาวแทสเมเนีย การค้นหาสถานที่ที่พวกเขาจะเรียกว่าบ้านเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
หลังจากการไปตรวจบ้านก่อนเช่า การส่งใบสมัครขอเช่าบ้าน และได้รับการปฏิเสธนับไม่ถ้วนที่กินเวลาเกือบสองปี ทั้งคู่คิดว่าในที่สุดพวกเขาก็จะมีบ้านแล้ว แต่กลับพบว่านั่นห่างไกลจากความจริง
หลังจากไม่สามารถติดต่อเอเจนต์เกี่ยวกับบ้านที่ประกาศให้เช่าบน Realestate.com ได้ โคดี้จึงถือโอกาสติดต่อผู้ที่คาดว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังเดียวกันซึ่งประกาศให้เช่าบนเฟซบุ๊ก (Facebook)
“คำอธิบายเกี่ยวกับบ้านเหมือนกันทุกอย่าง รูปถ่ายเดียวกัน มีลายน้ำของเอเจนต์อยู่บนรูปถ่าย เขายังขอเอกสารที่ปกติแล้วจะขอเมื่อเช่าบ้านด้วย” โคดี้ เล่า
“เขามีแบบฟอร์มใบสมัครขอเช่าบ้านที่ดูค่อนข้างคล้ายกับแบบฟอร์มอื่น ๆ ที่ผมเคยกรอกมาก่อน”
ผมเดาว่าเพราะความสิ้นหวัง เราจึงทำนองว่าเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนต่าง ๆโคดี้
หลังจากส่งข้อความตอบโต้ไปมาหลายครั้ง ทั้งคู่รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เช่าบ้านหลังดังกล่าว และถูกขอให้จ่ายเงินประกันบ้านและจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าสองสัปดาห์ ซึ่งเป็นเงินกว่า 3,000 ดอลลาร์ เพื่อให้สัญญาเช่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์
แต่หลังจากที่เจ้าของบ้านขอค่าเช่าเพิ่มอีกสองสัปดาห์นั่นแหละ ทั้งคู่จึงเริ่มสงสัยว่าโฆษณาให้เช่าบ้านที่ว่าเป็นของจริงหรือไม่ แต่ต่อมาพวกเขาก็พบว่าถูกหลอกจริง ๆ
“เป็นเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ค่าครองชีพพุ่งสูงที่จะหาเงินจำนวนนั้นคืนมา ไม่ใช่แค่เงินเดือนงวดเดียว แต่เป็นเงินเดือนเกือบสองเดือนสำหรับเราที่จะเก็บออมเงินให้ได้มากขนาดนั้นอีกครั้ง” โคดี้กล่าว
ทั้งสองคนนี้ถูกหลอกลวงหลังติดต่อคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าของบ้านให้เช่าที่โฆษณาทางเฟซบุ๊ก Source: SBS / Kerrin Thomas
นักต้มตุ๋นมืออาชีพแทรกซึมเข้าไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์หลัก ๆ
REA Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Realestate.com ยืนยันว่าการฉ้อโกงโดยอ้างว่ามีที่พัก 'ให้เช่าโดยเจ้าของ' จำนวนเล็กน้อยได้ปรากฏบนเว็บไซต์ Realestate.com และแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ
โฆษกของ REA Group กล่าวว่า "น่ากังวลอย่างยิ่ง" เนื่องจากความปลอดภัยของระบบเป็น "สิ่งสำคัญสูงสุด"
“เราดำเนินการอย่างรวดเร็วเสมอเพื่อลบโฆษณาที่หลอกลวงใด ๆ ที่เราบ่งชี้ได้ และเราได้รีบแจ้งให้ผู้เช่าที่อาจสอบถามเกี่ยวกับโฆษณานั้นโดยไม่ตระหนักถึงการหลอกลวง” บริษัทระบุในคำแถลง
คุณ เฮย์เดน โกรฟส์ ประธานสถาบันอสังหาริมทรัพย์แห่งออสเตรเลีย (REIA) กล่าวว่า เอเจนต์จะต้องทำให้แน่ใจได้ว่าพวกเขาปฏิบัติตามพันธกรณีของตน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คือบุคคลที่อ้างถึงจริง ๆ
“เอเจนต์อสังหาริมทรัพย์ได้รับแจ้งให้ตระหนักหลังพบกิจกรรมการหลอกลวงนี้ โดยต้องแน่ใจว่าพวกเขามีความระมัดระวัง และปฏิบัติตนอย่างเป็นมืออาชีพ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป” คุณโกรฟส์ กล่าว
ID-CARE ซึ่งเป็นองค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไรที่ให้บริการด้านอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่า องค์กรกำลังจัดการกับคดีฉ้อโกงเกี่ยวกับที่พักให้เช่ามากกว่า 700 กรณี โดยยอดความเสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงิน 117,143 ดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา
นักเรียนต่างชาติเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงเรื่องที่พักให้เช่า
คุณปีเตอร์ ดูคัส ประธานสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า พวกเขาสังเกตเห็นการพุ่งสูงขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่ตกเป็นเป้าของกลุ่มสแกมเมอร์หรือนักหลอกลวงต้มตุ๋น
“ผมคิดว่ามันเลวร้ายลงช่วงหลังโควิด และตอนนี้ที่อยู่อาศัยกลายเป็นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของเรา ปัญหานี้เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง” คุณ ดูคัส กล่าว
อาซาล นักศึกษาต่างชาติจากอุซเบกิสถาน กล่าวว่า การหาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องยากมาก แม้ว่าเขาจะหาข้อมูลล่วงหน้ามาอย่างมากกมายก่อนจะเดินทางมาถึงออสเตรเลียก็ตาม
“มันยากมาก ๆ ฉันดูเว็บไซต์โฆษณาที่พักให้เช่าทุกแห่ง ทุกแหล่งข้อมูลที่มี ทุกวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วฉันก็กำหนดเวลาไปตรวจสอบที่พักก่อนเช่าหลายต่อหลายแห่ง” อาซาล กล่าว
อาซาลโชคดีที่รู้ทันอย่างรวดเร็วว่าเธอกำลังถูกหลอกลวง
เธอพูดคุยกับเจ้าของที่พักในเมืองที่ดูดีมาก ในราคาไม่แพง และทุกอย่างดูเหมือนจริง
“เนื่องจากฉันอาศัยอยู่ในเมือง และเดินทางไปกลับจากมหาวิทยาลัย ฉันเลยตัดสินใจไปดูที่พักแห่งนั้นจากนอกอาคารว่ามีจริงหรือไม่”
“ฉันได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ดูแลตึกที่นั่น และหลังจากโทรไปหลายครั้ง ปรากฏว่าเจ้าของห้องพักแห่งนี้ไม่ได้ให้เช่าห้องที่ว่านั้น ห้องอะพาร์ตเมนต์แห่งนั้นไม่ได้ให้เช่าและทั้งหมดเป็นการหลอกลวง”
จะสังเกตเห็นสัญญาณเตือนว่าเป็นการหลอกลวงได้อย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้ประชาชนระมัดระวังเป็นพิเศษขณะมีการหลอกลวงเพิ่มมากขึ้น
“คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้ไปดูอสังหาริมทรัพย์นั้นแล้วก่อนที่คุณจะตกลงเช่าหรือซื้อ” คุณโกรฟส์กล่าว
โคดี้บอกว่าคุณสามารถบ่งชี้สัญญาณเตือนได้จากวิธีการที่ผู้ให้เช่าดำเนินการ
ขณะนี้โคดี้และเจเดนจึงถูกบีบให้ต้องพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ด้านที่อยู่อาศัย เช่นการแชร์บ้านอยู่ร่วมกับคนอื่น Source: SBS / Kerrin Thomas
จากปัญหาต่อเนื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ราคาค่าเช่าที่สูง และวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะนี้โคดี้และเจเดนจึงถูกบีบให้ต้องพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ด้านที่อยู่อาศัย
“เราแค่ไม่มีการเงินพอที่จะจ่ายค่าประกันและค่าเช่าได้ทันทีทั้งหมด” โคดี้กล่าว
“โชคร้ายที่ตอนนี้เราถูกบีบให้ต้องพิจารณาทางเลือกของการแชร์บ้านอยู่ร่วมกับคู่รักอีกคู่หนึ่ง”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เผยกลลวงสแกมเมอร์ที่ใช้ Uber, ATO, Telstra มาอ้างเพื่อหลอกเหยื่อ