ทหารกะเหรี่ยงยึดเมียวดี-ไทยเฝ้าตั้งรับพม่าข้ามแดนหนีภัยสงคราม

กองกำลังผสมของฝ่ายต่อต้านยึดค่ายผาซองที่มั่นสุดท้ายของกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดีได้แล้ว ด้านไทยตรึงกำลังเข้มชายแดนแม่สอด หวั่นผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเมียวดีแห่ทะลักเข้าไทย

Mea sod border 1.jpeg

จุดตรวจชายแดนระหว่างเมือง เมียวดี ของเมียนมาและแม่สอด จังหวัดตากของไทย Credit: Image by Shah Paung


หลังจากมีการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังผสมของฝ่ายต่อต้านที่ยืดเยื้อมานานหลายสัปดาห์

จนกระทั่งเวลา 22.00 น. ของวันพุธที่ 10 เม.ย. มีรายงานว่า โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (Karen National Union-KNU) พะโด ซอ ตอ นี ซึ่งเป็นกองกำลังผสมของฝ่ายต่อต้านแจ้งกับสำนักข่าวต่างประเทศว่าสามารถยึดเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงได้

รวมถึงค่ายผาซองที่มั่นสุดท้ายของกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดีซึ่งเป็นเมืองการค้าและด่านข้ามพรมแดนสำคัญกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

KNLA, armed wing of the Karen National Union sized Myanmar military infantry frontline station near Thai-Myanmar border on March 27, 2021.
กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นแอลเอ (Karen National Liberation Army – KNLA) ซึ่งเป็นปีกทหารของ KNU ในสถานีทหารราบแนวหน้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 Credit: KNU - Department of Information

เมืองเมียวดีสำคัญอย่างไร

เมืองเมียวดี (Myawaddy) หรือที่ประเทศพม่าเรียก มยะวะดี ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงบนทางหลวงสายเอเชียที่เชื่อมระหว่างเมืองที่ใหญ่ที่สุดของพม่าอย่างย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทย

เมืองเมียวดี ถือเป็นเมืองชายแดนด้านตะวันออกของประเทศพม่า ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้น เชื่อมด้วยสะพานมิตรภาพไทย-พม่า

เมืองชายแดนดังกล่าวเป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยพม่าจัดให้เมืองเมียวดี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 จากด่านการค้า 15 แห่งในประเทศพม่า

ตามที่กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาร์ ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนศกนี้ การค้าระหว่างชายแดนทั้ง 2 แห่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย)
 
สำนักข่าว เอบีซี ได้อ้างอิงถึงโพสต์บนทวิตเตอร์ของอาจารย์อาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ เดวิด เบรนเนอร์ว่า การที่เมียวดีพ่ายแพ้ต่อกองกำลังฝ่ายค้านถือเป็น "การเปลี่ยนเกม"

Thai and Myanmar border order 2.jpeg
ในแต่ละปีการค้าระหว่างชายแดน เมียวดี-แม่สอดมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ Credit: Image by Shah Paung

ดร. เบรนเนอร์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม่สอดซึ่งเป็นเมืองแฝดของเมียวดีบนชายแดนฝั่งไทย เป็นค่ายผู้อพยพหลักสำหรับผู้ลี้ภัยในเมียนมาร์ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเขตความขัดแย้งของเมียนมาร์ และเป็น “พื้นที่ต่อต้านข้ามพรมแดนต่อกองทัพเมียนมาร์” มานานหลายทศวรรษ

หาก KNU สามารถยึดเมืองเมียวดีไว้ได้ เมียวดีก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร
อาจารย์อาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ เดวิด เบรนเนอร์

สถานการณ์เขตชายแดนเมียวดี-แม่สอด

เมื่อเวลา 11.47 น. วานนี้ (11 เมษายน 2567) สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า มีกำลังพลของกองทัพเมียนมาประมาณ 200 นายที่อยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และมีแผนเจรจาข้ามไปยังชายแดนไทย

แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางการเมียนมาสั่งปิดชายแดนบริเวณสะพานแห่งที่ 2 แล้ว

ด้านผู้สื่อข่าวของเอสบีเอสพม่า ชาห์ ปอง ได้รายงานว่าสถานการณ์บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ตึงเครียดมาก

กองทัพพม่าเจรจาเพื่อข้ามฝั่งไทย แต่มีการปิดชายแดน สถานการณ์ตึงเครียดมาก
ผู้สื่อข่าวของเอสบีเอสพม่า ชาห์ ปอง

ในขณะที่ทหารไทยก็มีการตรึงกำลังบริเวณชายแดนริมฝั่งแม่น้ำเมย ใต้สะพานดังกล่าว

ขณะที่ด่านข้ามแดนฝั่ง จ.เมียวดี มีชาวเมียนมาจำนวนมาก พร้อมสัมภาระเข้าคิวเดินทางทำเรื่องข้ามแดนไปยังประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสข่าวให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่ากองทัพเมียนมาจะปฏิบัติการโต้กลับทางอากาศยาน หลังกองกำลัง KNU เข้าโจมตีฐาน 275 ที่อยู่ห่างจากชายแดนแม่สอดเมื่อวันอังคาร (9 เม.ย.) ที่ผ่านมา

คุณ บี (นามสมมติ) ประชาชนในอำเภอแม่สอดเล่าสถานการณ์ในอำเภอแม่สอดให้เอสบีเอสไทยฟังว่าตั้งแต่กองกำลังทหาร KNU ยึดเมียวดี คนพม่าอพยพข้ามชายแดนมาเยอะมากขึ้น ด้านชุมชนห่วงความปลอดภัยและปัญหาด้านฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า
พม่าเยอะมาก น่าจะเยอะกว่าคนไทยแล้วด้วย มีทุกเพศทุกวัย พื้นที่ว่างทุกที่มีแต่คนพม่ามาตั้งเพิง มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ของที่ตลาดก็แพงขึ้นมาก

Mae Sot, Thai-Burmese border crossing bridge No 2.jpeg
สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 Mae Sot, Thai-Burmese border crossing bridge No 2 Credit: Image by Shah Paung

การตั้งรับของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าได้กำชับไปยังกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศและจะพูดคุยกับผบ.ทอ.เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว

ด้านพล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า นายยกรัฐมนตรียังไม่ได้โทรมาสั่งการเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

แต่ได้มีการรายงานกับทาง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับแผนการตั้งรับในการปกป้องรุกล้ำน่านฟ้าไทยว่ากองทัพอากาศได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องบิน F16 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถขึ้นสกัดกั้นได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที


Thailand Myanmar Border Daily Life
ผู้คนขนข้าวของผ่านทางด่านเมียวดี- แม่สอด Source: Anadolu / Anadolu/Anadolu via Getty Images

ผลกระทบของสถานการณ์นี้ต่อประเทศไทย

อาจารย์ อัจฉรียา สายศิลป์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับเอสบีเอสไทยว่า

ความไม่มั่นคงของสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้คนหนีข้ามมายังฝั่งไทยมากขึ้น และหากยังมีความขัดแย้งยืดเยื้อต่อไปอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ

"ความไม่มั่นคงของสถานการณ์ ก็ส่งผลทำให้มีคนหนีเข้ามาไทยเยอะขึ้น การค้าขายก็จะสะดุดถ้าเค้ายังตกลงกันไม่ได้ เมียวดีเป็นเมืองสำคัญเรื่องการค้าชายแดน เพราะสินค้าผ่านทางนี้เยอะที่สุด"

ไทยมีทหารคุมชายแดนแถวนี้เยอะอยู่แล้ว ก็เจรจาต่อรองกันมาเรื่อยๆ คือเอาตรงๆ เป็นแบบนี้มานานแล้ว เขาก็ประเมินกันได้ หนักตรงเรื่องคนจะเข้ามาเยอะ หนีความลำบาก
อาจารย์ อัจฉรียา สายศิลป์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 




บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 




 

Share
Published 12 April 2024 1:37pm
Updated 13 April 2024 2:19pm
By Chayada Powell
Presented by Chayada Powell
Source: SBS

Share this with family and friends