ประเด็นสำคัญ
- ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าประชาชนในออสเตรเลียกำลังจ่ายเงินมากขึ้นและซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดมากขึ้นกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก
- สำหรับประชาชนออสเตรเลีย ความสะดวกสบายในการซื้อน้ำขวดเมื่อเดินทางไปไหนมาไหน เอาชนะพฤติกรรมการพกขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้
- ผู้เชี่ยวชาญห่วงการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง แนะประชาชนดื่มน้ำจากก๊อกซึ่งสะอาดและมีคุณภาพไม่แพ้กัน
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่น้ำดื่มบรรจุขวดราคาแพงที่สุดในโลก แต่ก็ยังไม่พอดับกระหายผู้บริโภคที่เลือกซื้อน้ำขวด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็หาได้ฟรีจากก๊อกน้ำที่บ้านโดยตรง หรือจุดเติมน้ำสาธารณะเช่นกัน
รายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงให้เห็นว่าในปี 2021 ชาวออสเตรเลียแต่ละคนใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 580 ดอลลาร์ เพื่อซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดในปริมาณ 504 ลิตร นับเป็นอัตราบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดต่อประชากร 1 คนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากประเทศสิงคโปร์
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ประชาชนเสียเงินซื้อน้ำดื่มมากกว่าใคร รายงานจากยูเอ็นระบุอีกว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำดื่มบรรจุขวดในออสเตรเลียอยู่ที่ราว 5.40 ดอลลาร์ต่อขวด คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของราคาน้ำดื่มบรรจุขวดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และสูงกว่าประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกาถึงประมาณ 4 เท่า
แต่ถึงอย่างนั้น ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในออสเตรเลียกลับยังคงไปได้สวย สถาบันเพื่อน้ำ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (UN University's Institute for Water, Environment and Health) ระบุว่าออสเตรเลียคือประเทศที่ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในท้องถิ่นเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก
แล้วทำไมผู้คนในออสเตรเลียจึงยอมจ่ายในราคาแพงให้กับผลิตภัณฑ์ที่ราคาสูงกว่าน้ำประปาแบบลิบลับ ตามที่การประปาซิดนีย์ (Sydney Water) ระบุว่ามีราคาเพียงลิตรละไม่ถึง 1 เซ็นต์เท่านั้น
ข้อมูลจากสภาเครื่องดื่มออสเตรเลีย (Australian Beverages Council) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จากทั่วประเทศซึ่งรวมถึงน้ำดื่มระบุว่า คำตอบหลัก ๆ คือ "ความสะดวกสบาย"
“ส่วนมาก เราซื้อมันเมื่อเดินทางไปไหนมาไหน” โฆษกหญิงจากสภาเครื่องดื่มออสเตรเลียระบุ
น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นที่รับรู้ว่าสะดวกสบายกว่าสำหรับประชาชนออสเตรเลียขณะที่พวกเขากำลังเดินทาง Source: AAP / James Ross
แต่ในตอนนี้ ทุกตัวชี้วัดแสดงให้เห็นว่ายอดขายได้ฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อนการแพร่ระบาดใหญ่แล้ว
สภาเครื่องดื่มออสเตรเลียระบุว่า ความต้องการในการทำสิ่งง่าย ๆ และพฤติกรรมซื้อน้ำเมื่อไปไหนมาไหน ได้สร้างตลาดที่มีผลประกอบการเป็นมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา และมีอัตราเติบโตของตลาดในระยะยาวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ต่อปี
นั่นหมายถึงจำนวนขวดพลาสติกที่ต้องจัดการเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 16 พลังงานที่ต้องใช้มากขึ้นในการผลิตขวดใหม่หรือผลิตซ้ำจากขวดเดิมที่มีอยู่อีกร้อยละ 16 และระยะทางในการขนส่งไปทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 16 เช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้น สภาเครื่องดื่มออสเตรเลียก็ยังไม่อาจหาคำอธิบายที่มีน้ำหนักเกี่ยวกับราคาน้ำดื่มบรรจุขวดเชิงพาณิชย์ในออสเตรเลียที่สูงลิ่วได้ โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า “เป็นปัญหาด้านค้าปลีก”
แต่ก็ยังมีสิ่งที่ชี้ว่า จำนวนประชากรซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็กในออสเตรเลียก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการขอคืนเงินค่าขวด 10 เซ็นต์ที่รวมอยู่ในราคาจำหน่ายเครื่องดื่มในโครงการมัดจำค่าขวด หรือ Container deposit scheme
“มันอาจเป็นกำลังในการซื้อ (ของประชากร) ... โดยปกติแล้วประชากรจำนวนมากจะมีกำลังซื้อมากกว่า” โฆษกหญิงจากสภาเครื่องดื่มออสเตรเลียระบุ
“อีกอย่างหนึ่งที่ฉันพูดได้คือ เพราะชาวออสเตรเลียมักจะดื่มน้ำเวลาเดินทาง บ่อยครั้งพวกเขาจะซื้อมันจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งราคาอาจไม่ได้ถูกกว่าที่คุณซื้อได้จากบรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่”
ศาสตราจารย์ สจ๊วต คาน (Prof Stuart Khan) ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพน้ำจากมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า โลกจะจมอยู่ในขยะพลาสติกหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วโลก
เขากล่าวอีกว่า ประชาชนออสเตรเลียส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ดีมากและมีความปลอดภัยได้จากก๊อกน้ำโดยตรง และ “การดื่มน้ำบรรจุขวดไม่มีข้อได้เปรียบใด ๆ ในด้านสาธารณสุขและคุณภาพน้ำ”
ศาสตราจารย์คานกล่าวอีกว่า โครงการมัดจำค่าขวด (Container deposit scheme) จะไม่มีวันลบล้างความเสียหายที่อุตสาหกรรมผลิตน้ำขวดได้มีต่อสายน้ำได้
ทั้งนี้ เอเอพีไม่สามารถรวมรวมข้อมูลระดับชาติใด ๆ ในส่วนของช่องว่างระหว่างจำนวนน้ำขวดที่จำหน่ายไป และจำนวนขวดน้ำที่กู้คืนได้จากการรีไซเคิลผ่านโครงการมัดจำค่าขวด (Container deposit scheme) ในรัฐต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องดื่มได้
พิพ คีย์แนน (Pip Kienan) ประธานบริหารของ Clean Up Australia กล่าวว่า ประชาชนออสเตรเลียจะต้องระลึกไว้ว่า ร้อยละ 90 ของราคาน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นคิดเป็นค่าตัวขวด ฝา และฉลากน้ำดื่ม
“คุณสามารถประหยัดเงินเหล่านั้นทั้งหมดได้ โดยการจดจำที่จะใช้ขวดใช้ซ้ำของคุณ และดื่มน้ำจากก๊อก หรือเติมน้ำที่จุดเติมน้ำสาธารณะ” คุณคีย์แนน กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย
อย่าเพิ่งทิ้งรองเท้าเก่าที่ส่งกลิ่นลงถังขยะ พวกมันกำลังเป็นที่ต้องการ