ประเด็นสำคัญ
- ดินแดนกับชนพื้นเมืองนั้นหลอมรวมกันเป็นอัตลักษณ์และหนึ่งเดียว
- สายสัมพันธ์นี้สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น
- ควควรมีความรู้และความเข้าใจก่อนเยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
คุณป้าเดียร์ มาร์ติน (Deidre Martin) หญิงชาววาบันจา (Walbanga) ของชาติยูวิน (Yuin) ผู้อาวุโสชาวอะบอริจินและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานกับอุทยานแห่งชาติและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าแห่งดินแดนดาเรวูล (Dharawal) รัฐนิวเซาท์เวลส์บรรยายถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้ว่า
ดินแดนไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเป็นเจ้าของ แต่เป็นสิ่งที่แยกจากกันกับตัวเธอไม่ได้และควรแก่การเคารพและดูแล
“ฉันไม่สามารถพูดแทนทุกคนได้หมด สำหรับฉัน เราไม่จำเป็นและไม่ต้องถือครองดินแดน เรามีหน้าที่ปกป้องดินแดน ผืนดินแดนที่ให้อาหาร น้ำ และที่พักสำหรับเรา คำว่าดินแดน (land) เป็นคำนิยาม"
ดินแดนหลั่งไหลอยู่ในสายเลือดของเรา มันเป็นลมหายใจแรกของเราและจะเป็นลมหายใจสุดท้ายของเรา
คุณป้าเดียร์ มาร์ตินผู้อาวุโสชาวอะบอริจินและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า Credit: Aunty Deidre Martin
ความรู้สึกด้านจิตวิญญาณในแง่ของความเป็นส่วนหนึ่งของฉัน ความสัมพันธ์และความรู้สึกของการตระหนักรู้ถึงชาติพันธุ์ของฉัน
"เช่น เมื่อฉันเดินทางไปใกล้หัวโค้งเคียมา (Kiama) ฉันจะมองไปที่ชายฝั่ง ฉันจะรู้สึกเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกับที่นั่นและจะรู้สึกว่า ‘ฉันถึงบ้านแล้ว’”
คุณเดสมอนด์ แคมป์เบลล์ (Desmond Campbell) เป็นชาวกูรินจี (Gurindji) และชาวอลาวา นัลแคน (Alawa-Ngalakan) จากมณฑลนอร์เทิร์นเทอริทอรี (Northern Territory) และเป็นผู้บริหารของ เวลคัม ทู คันทรี (Welcome to Country) องค์กรที่มุ่งหวังสนับสนุนชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสยืนยันถึงความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันเมื่อเขาเดินทางกลับดินแดนของเขา
“เมื่อคุณอยู่บนทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น คุณหวังที่จะได้เห็นเนินเขาและต้นไม้ที่บอกคุณว่าคุณกำลังใกล้จะถึงแล้ว มันมีความรู้สึกเอ่อล้นนี้ ผมรู้สึกขนลุกเมื่อนึกถึงมันตอนนี้แม้ว่าผมจะอยู่ที่ซิดนีย์ คุณจะมีความรู้สึกคุ้นชินว่าคุณกำลังจะได้กลิ่น รสชาติ หรือเห็นสิ่งที่คุ้นชินที่มันไม่เคยจางหายไป”
คุณเดสมอนด์ แคมป์เบลล์ ผู้บริหารขององค์กร Welcome to Country Credit: Desmond Campbell
ความรู้สึกที่มีความสุขที่ปลุกเร้าทุกประสาทสัมผัสในร่างกาย แม้ว่าเราจะไม่ได้เติบโตที่นั่นตลอด แต่มันเหมือนกับว่าเราอยู่ที่นั่นเสมอ
"เป็นความรู้สึกที่คุ้นชินและปลอดภัย รู้สึกเหมือนอยู่ในที่ที่คุณสามารถเป็นชนพื้นเมือง เป็นตัวคุณเอง พูดภาษาถิ่นและผู้คนรู้ว่าคุณกำลังพูดอะไร”
คุณแคมป์เบลล์ย้ำถึงความสำคัญของการกลับไปยังดินแดนของบรรพบุรุษของเขาว่านอกจากจะเป็นเหมือนการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของเขา ยังเป็นการส่งเสริมสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งอีกด้วย
สายสัมพันธ์ที่ผลักดันให้เขาเป็นผู้นำองค์กร Welcome to Country
“มันเติมเต็มจิตวิญญาณของผม ช่วยให้ผมสามารถอยู่ที่ซิดนีย์และทำงานให้กับองค์กร Welcome to Country ซึ่งเราสามารถแบ่งปันวัฒนธรรมและภาษาจากดินแดนที่หลากหลายทั่วออสเตรเลียผ่านแพลตฟอร์มนี้ สำหรับผม การได้เป็นผู้นำองค์กรนี้ต้องมีความรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมของผมอย่างแท้จริง และผมสามารถทำได้ด้วยการกลับไปที่บ้านของผม”
คุณแบรดลีย์ ฮาร์ดี ผู้ดูแลแหล่งตกปลาดินแดนบรูวอรินา Credit: Bradley Hardy
“คุณพ่อของผมเป็นชาวกูรินจีซึ่งเป็นดินแดนทะเลทราย สัตว์และฤดูกาลต่างจากที่อื่น เรื่องราวก็ต่างด้วย เพราะมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวพันกับบทเรียนของการล่าสัตว์ในฤดูกาลที่แตกต่างไป เช่น หากคุณเล่นกับไฟผิดฤดูกาล ผลลัพธ์ที่ตามมาคือไฟป่าขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น ที่จะทำลายพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญในฤดูเก็บเกี่ยว”
คุณแบรดลีย์ ฮาร์ดี (Bradley Hardy) เป็นชาวเนียมบา (Ngemba) ยูลาไร (Ualarai) คูมา (Kooma) และกามิลารอย (Kamilaroi) และเป็นผู้ดูแลแหล่งตกปลาดินแดนบรูวอรินา (Brewarrina) ซึ่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบาร์วอน (Barwon River) กล่าวว่าแม่น้ำเป็นเสมือนเลือดและตัวตนของเขา
“ผมอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของแหล่งดักปลาไป 700 เมตร ซึ่งเป็นช่วงลึกของแม่น้ำ ผมเป็นคนแม่น้ำและเป็นคนดินดำด้วย"
แม่น้ำเป็นเหมือนเลือดเนื้อของผม เป็นตัวตนของผมในชุมชนที่หลอมรวมชุมชนเข้าด้วยกัน เราหลอมรวมสิ่งเหล่านั้นเพื่อเป็นหนึ่งเดียว
พ่อและลูกชายที่เป็นชนพื้นเมืองกำลังตกปลาที่เคป ยอร์ก Credit: Rafael Ben-Ari/Getty Images
หน้าที่ของเขาคือรักษาเรื่องราวเหล่านั้นให้ยังคงอยู่โดยการเล่าต่อไปยังคนรุ่นหลัง
“ผมโชคดีที่ได้อยู่กับผู้อาวุโสหลายท่านและพวกเขาแบ่งปันเรื่องราวให้กับผม ผมดีใจที่ผมให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น ผมจึงสามารถอธิบายได้ถึงวิธีดักปลาและตอนทำทัวร์ที่พิพิธภัณฑ์ เรื่องราวเหล่านั้นมันมันไม่เกี่ยวกับผมเลย มันเป็นการให้เกียรติผู้อาวุโส แบ่งปันเรื่องราวกับคนหนุ่มสาว ให้พวกเขาสามารถสานต่อประวัติศาสตร์ของเราให้แก่โลกต่อไป นั่นเป็นหน้าที่ของเรา”
การดักจับปลาของชนพื้นเมืองนับว่าเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทำจากหินที่จัดวางเป็นรูปตัวยู (U-shapes) และตัวซี (C-shapes) มันทั้งต้อนและจับปลา รวมถึงช่วยให้ปลาบางชนิดผ่านไปเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ด้วย
คุณฮาร์ดีกล่าวว่าแหล่งดักปลานับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่หลอมรวมหลายชนเผ่า
“มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องพยายามปกป้อง หลายคนถามว่า ‘โอ้ เราไปที่นั่นและตกปลาได้ไหม’ ซึ่งผมจะตอบว่าไม่ เราจะไม่ให้ใครไปที่แหล่งนั้น มันเป็นที่เฉพาะของพวกเรา"
หน้าที่ของเราคือการเล่าเรื่องและให้สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ของคนรุ่นหลังของเรา สถานที่นี้เป็นสถานที่พิเศษที่เราพยายามรักษาไว้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ออสเตรเลียห้ามปีนโขดหินอุลูรูถาวร 26 ต.ค.นี้
คุณป้าเดียร์ มาร์ตินก็ได้ทำงานในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญสำหรับชนพื้นเมืองเช่นกัน
เธอชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการตระหนักรู้ถึงสถานที่เหล่านี้ก่อนที่คุณจะไปเยี่ยมชม เช่น หลายแห่งแบ่งเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับชายและหญิง เป็นต้น
หลายแห่งคุณไม่สามารถเข้าชมได้ เช่น สถานที่เฉพาะสำหรับชายหรือหญิง ฉันชอบไปที่ที่ฉันไปได้เพราะมันเป็นที่สำหรับผู้หญิง ซึ่งฉันสามารถบอกเรื่องราวได้ แต่ก็มีผู้ชายหลายคนไปที่นั่น
อย่างไรก็ตามการหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่เหล่านี้โดยการสอบถามจากชนพื้นเมืองในบริเวณนั้นหรือหาข้อมูลผ่านเทศบาลท้องถิ่นเป็นวิธีแสดงความเคารพและยังสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองอีกด้วย
“และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราต้องการให้หลายคนเรียนรู้เรื่องราวของเรา ไม่ว่าจะเป็นแหล่งดักปลาหรือที่อื่นๆ เราอยากให้ผู้คนไปและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเรา ไม่ใช่แค่อ่านจากหนังสือเท่านั้น เราอยากให้คนมาเรียนรู้จากสถานที่จริง และยังคำนึงถึงและเคารพเรื่องราวของเราด้วย”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณจะเป็นพันธมิตรสนับสนุนชนพื้นเมืองได้อย่างไร