กลางป่าทึบในประเทศไทย ได้มีการจัดพิธีรำลึกถึงเชลยสงครามชาวออสเตรเลีย
พิธีวัน Anzac ที่ช่องเขาขาด หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Hellfire Pass กลายเป็นช่วงเวลาและสถานที่เพื่อยกย่องและรำลึกถึงเชลยศึกชาวออสเตรเลียทุกคน
แต่สำหรับจ่าสิบเอก เรเน เพียร์ซ ที่ขณะนี้ทำงานในกองทัพออสเตรเลียนั้น เธอมีความเชื่อมโยงส่วนตัวกับช่องเขาขาด
เบ็น เพียร์ซ ลุงทวดของเธอ รอดชีวิตมาได้จากการถูกจับเป็นเชลยสงครามเป็นเวลาสองปีครึ่งในค่ายที่บังคับใช้แรงงานเชลยศึก หลังจากถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไป
“ฉันจำได้ว่าตอนอายุ 15 หรือ 16 ปีฉันเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และประวัติศาสตร์สมัยใหม่อย่างแท้จริง และเข้าใจบทบาทของลุงเบ็นในตอนนั้น ตอนอายุ 15 หรือ 16 ปี ฉันถึงขนาดทำโปรเจ็กต์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจสิ่งที่เขาได้ประสบ ความทรงจำของฉันเกี่ยวกับเขาก็คือเขาเป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์และคิดในแง่บวกเสมอ เขาเป็นคนที่มีเสน่ห์จริง ๆ แม้ว่าเขาจะไม่เคยคุยกับฉันโดยตรงเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาเลยก็ตาม แต่เขาได้เล่าลงในเทปเกี่ยวกับสิ่งที่เขาประสบบนทางรถไฟไทย-พม่า และฉันก็ได้ฟังสิ่ง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผลักดันให้ฉันทำโปรเจ็กต์ของฉันที่โรงเรียน” จ่าสิบเอก เรเน เพียร์ซ เผย
แม้ว่า เบ็น เพียร์ซ จะไม่พูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เห็นบนทางรถไฟไทย-พม่า แต่เขาได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้โดยครั้งหนึ่งได้บันทึกเสียงลงในเทป
“มาจากสมาชิกในครอบครัวอีกคนที่ต้องการบันทึกเรื่องราวของเขาไว้เมื่อสองสามปีก่อนหน้า ในเทปนั้น เขาพูดถึงการที่เขาถูกชาวญี่ปุ่นจับตัวในสิงคโปร์และถูกควบคุมตัวที่ชางงี เขาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปีครึ่งจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเมื่อญี่ปุ่นจากไป เขาพูดถึงประสบการณ์ของเขาบนทางรถไฟไทย-พม่า โดยเฉพาะเขาบอกว่าเหมือนกับว่าเขาถูกผลักลงไปบนเกวียนวัวแล้วถูกนำตัวขึ้นไปทางเหนือไปยังเส้นทางรถไฟ พวกเขามีชีวิตอยู่จากข้าวแค่หยิบมือและน้ำไม่มากนัก มันเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายอย่างยิ่ง” จ่าสิบเอกเพียร์ซ เล่าถึงลุงทวดของเธอ
ในปี ค.ศ.1943 กองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร 60,000 คน และแรงงาน 200,000 คนจากทั่วเอเชีย ไปยังประเทศไทยและเมียนมาร์ เพื่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
ช่องเขาขาด ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Hellfire Pass หรือช่องไฟนรก ได้ชื่อมาจากคบไฟที่ลุกโชนในขณะที่เชลยสงครามทำงานในเวลากลางคืน และทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยาก และความโหดร้ายได้แพร่ระบาดไปทั่วค่ายบังคับใช้แรงงานดังกล่าว
ช่องเขาขาด บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ จ.กาญจนบุรี ในวันแอนแซก (ANZAC) 25 เมษายน ของทุกปี Credit: Wikimedia/DAVID ILIFF CC-BY-SA 3.0
มีการระลึกถึงเรื่องราวเหล่านี้ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์ช่องเขาขาดในประเทศไทย และที่อนุสรณ์สถานเชลยศึกชาวออสเตรเลีย
รูปถ่ายของลุงเบ็นที่ผอมแห้งแขวนอยู่ในห้องแสดงภาพห้องหลัก
วันนี้จ่าสิบเอกเพียร์ซ ได้วางพวงมาลาเพื่อยกย่องและระลึกถึงลุงทวดของเธอและทหารผ่านศึกทุกคน
“มันเป็นประสบการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ก่อนถึงงานนี้ ทุกครั้งที่ฉันคิดถึงการมาที่นี่ สองสามเดือนที่ผ่านมา ฉันก็รู้สึกสะเทือนอารมณ์อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อได้มาที่นี่ ฉันมีช่วงเวลาที่ได้คิดใคร่ครวญเงียบ ๆ ไปตามรางรถไฟ ลองจินตนาการว่าอยู่ในสถานการณ์ของนักโทษเชลยศึก โดยเฉพาะลุงเบ็น และมันเหลือเชื่อจริง ๆ การได้มาอยู่ที่นี่และเมื่อรู้ว่าฉันมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเป็นเชลยศึกและรอดชีวิตมาได้ และฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้จักเขา มันเหลือเชื่อจริง ๆ" จ่าสิบเอกเพียร์ซ แสดงความรู้สึก
ในปีนี้ ผู้คนหลายร้อยคนเข้าร่วมพิธีรุ่งอรุณในช่วงเช้าวัน Anzac ที่ช่องเขาขาด ซึ่งครั้งหนึ่งเชลยศึกชาวออสเตรเลียหลายพันคนถูกบังคับให้สกัดหรือขุดเจาะหินตามทางรถไฟด้วยมือเปล่า
เบ็น ลุงทวดของจ่าสิบเอกเรเน เพียร์ซ รอดชีวิตจากทางรถไฟสายไทย-พม่า และเสียชีวิตในออสเตรเลียในปี 2003 ขณะอายุ 87 ปี
“เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รู้ว่าฉันมีสมาชิกในครอบครัวที่รับใช้ชาติของเรา มันมีอิทธิพลอย่างมากต่อฉัน ไม่กี่ปีต่อมาฉันก็สมัครเข้าทำงานในกองทัพ ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้ว่าเขาได้ทนทุกข์ต่อความโหดร้ายระดับนั้นและรอดชีวิตมาได้ เขาช่างล้มแล้วลุกได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเป็นบททดสอบถึงคุณลักษณะของเขาได้อย่างดี เมื่อได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว คุณจะไม่รู้เลยว่าเขาผ่านเรื่องแบบนั้นมาแล้ว ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่ติดอยู่ในใจฉันมากที่สุด หลังจากประตูปิดลง เขาคงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาครุ่นคิดอยู่ภายในใจในอีกหลายทศวรรษต่อมา แต่คุณจะไม่มีวันรู้เรื่องนี้เลย” จ่าสิบเอกเพียร์ซ กล่าวทิ้งท้ายถึง เบ็น เพียร์ซ
สุดท้ายนี้ เราขอรำลึกถึงและยกย่องเชลยสงครามที่รอดชีวิตและผู้ที่เสียชีวิตจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า
จดจำไว้อย่าได้ลืมเลือน “Lest we forget.”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่