นักวิทย์ฯ ชี้ความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงจากโควิด

Obesity is a significant risk factor for COVID-19 patients

Overweight ManCOVID-19 patients Source: Getty

งานวิจัยข้อมูลผู้ป่วยเกือบ 7 ล้านคนพบว่าผู้มีภาวะโรคอ้วนเสี่ยงมีอาการจากโควิด-19 รุนแรงกว่า ทั้งยังสันนิษฐานว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์อาจเผชิญความเสี่ยงไม่เท่ากันด้วย


LISTEN TO
Scientists discover why obesity increases risk from COVID-19 image

นักวิทย์ฯ ชี้ความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงจากโควิด

SBS Thai

10/05/202107:10
ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สถิติทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) หรืออยู่ในข่ายโรคอ้วน (Obesity) อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น

ทีมนักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังรายงานฉบับใหม่จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ระบุว่า รายงานฉบับนี้เก็บข้อมูลอย่างละเอียด ครอบคลุมผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

ดร.คาร์เมน เพียร์นาส (Dr. Carmen Piernas) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาข้อมูลน้ำหนักของผู้ป่วยชาวอังกฤษกว่า 6.9 ล้านคน ที่บันทึกไว้ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2020

"เราทราบจากข้อมูลว่า โรคอ้วนมีผลต่อความรุนแรงของอาการจากโควิด งานวิจัยฉบับนี้ต้องการประเมินเชิงลึกถึงความสัมพันธ์กับภาวะโรคอ้วน เราวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จากประชากรในชุมชนไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล นอกจากผู้มีภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินแล้วเรายังพิจารณาทุกกลุ่มน้ำหนักตัว ตั้งแต่ผู้มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานมากไปจนถึงผู้มีน้ำหนักเกินมาก" ดร.เพียร์นาสกล่าว
รายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า ผู้มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนไม่เพียงมีอาการจากโรคโควิด-19 รุนแรงกว่าเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มถูกส่งตัวไปรักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) สูงกว่ากลุ่มอื่น อีกทั้งเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ที่ 23 หรือต่่ำกว่าซึ่งนับเป็นระดับสุขภาพดี ก็มีความเสี่ยงเช่นกันแม้จะไม่มากนัก

ค่าดัชนีมวลกายคำนวณโดยนำค่าน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยช่วงน้ำหนักที่ถือว่าสุขภาพดีจะมีค่าดัชนีมวลกายที่ 18.5-24.9 หากสูงกว่านี้ แสดงว่าบุคคลนั้นมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเข้าข่ายโรคอ้วน

ศาสตราจารย์จอห์น วาสส์ (Professor John Wass) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อธิบายว่า ร่างกายของผู้มีภาวะโรคอ้วนสร้างโปรตีนไซโตไคน์ (Cytokine) ปริมาณมากกว่า โปรตีนชนิดนี้สัมพันธ์กับการอักเสบและเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเมื่อติดเชื้อโควิด

ข้อมูลช่วงการระบาดของโควิด-19 ระบุว่า กลุ่มอายุ 20-39 ปีถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อโรคโควิด-19 แต่จากสถิติแล้ว โรคอ้วนเพิ่มความเป็นไปได้ที่ประชากรกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรง

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต (Lancet) ยังเผยว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มเผชิญความรุนแรงของอาการจากไวรัสโคโรนาต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ศาตราจารย์พอล อีฟยาร์ด (Professor Paul Aveyard) ผู้เขียนร่วมของรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า อาจมาจากสาเหตุด้านพันธุกรรม
"กลุ่มชาติพันธฺุ์ต่าง ๆ ในบริบทนี้มีปริมาณไขมันในร่างกายแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเทียบผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเท่ากัน คนจากชาติพันธุ์เอเชียมักมีไขมันในร่างกายมากกว่าคนขาว ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อสะสมไขมันในร่างกาย ดังนั้นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์นี้จึงมีโอกาสสูงกว่าที่จะเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่ดูมีสาเหตุจากการสะสมไขมันส่วนเกิน ความแตกต่างจึงอาจอยู่ที่วิธีที่ร่างกายของเราสะสมไขมัน หรือบริเวณที่ร่างกายสะสมไขมัน นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนผิวดำกับคนผิวขาวด้วย" ศาสตราจารย์อีฟยาร์ดอธิบาย

พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า ข้อสังเกตนี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมกลุ่มชาติพันธ์บางกลุ่มจึงดูเหมือนได้รับผลจากไวรัสนี้มากกว่ากลุ่มอื่น

"สำหรับคนผิวขาว ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อค่าดัชนีมวลกายหนึ่งหน่วย แต่สำหรับคนผิวดำ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เรียกได้ว่าความเสี่ยงสูงกว่าถึงร้อยละ 50" ศาสตราจารย์อีฟยาร์ดกล่าว

ศาสตราจารย์จอห์น วาสส์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ยืนยันข้อมูลสำคัญที่ว่าคนกลุ่มใดมีความเสี่ยงมากกว่าในช่วงภาวะโรคระบาด รวมถึงชี้แนวทางช่วยควบคุมไวรัสชนิดนี้

"การศึกษาวิจัยมีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจว่า หากลดภาวะโรคอ้วนได้แล้วจะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตและความรุนแรงของอาการจากโควิดได้หรือไม่ และกระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็วเพียงใด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในตอนนี้ ประเทศนี้มีคนจำนวนมากที่อยู่ในภาวะโรคอ้วน และหลายคนไม่มีที่พึ่งพาขอความช่วยเหลือ" ศาสตราจารย์วาสส์กล่าว

รายงานฉบับนี้ พิจารณาข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ของสหราชอาณาจักร กระนั้นคณะผู้จัดทำย้ำว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาระดับโลก

ยุทธศาสตร์โลกด้านอาหาร กิจกรรมทางกาย และสุขภาพ (Global Strategy on Diet, Physical Activity and Health) ขององค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า ทั่วโลกมีประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินมากกว่า 1 พันล้านคน และอย่างน้อย 300 ล้านคนได้รับการวินิฉัยทางการแพทย์ว่าเป็นโรคอ้วน


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share