เส้นทางการเรียน
ก้าวแรกของคุณอชิรญาเริ่มต้นจากมาเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย จากนั้นต่อหลักสูตรปรับพื้นฐาน (Foundation) เตรียมความพร้อมประมาณ 10 เดือน ตามด้วยปริญญาตรีสาขาพยาบาล (Bachelor of Nursing) หลักสูตร 3 ปี
คุณอชิรญาเล่าว่า หลักสูตร Foundation ของมหาวิทยาลัย University of Technology Sydney (UTS) ให้เลือกตั้งแต่ตอนสมัครว่าจะเรียนปริญญาตรีสาขาอะไร วิชาที่เรียนจะขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือก เช่น วิชาภาษาอังกฤษของพยาบาลจะเน้นคำในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หลักสูตร Bachelor of Nursing ของมหาวิทยาลัย UTS เป็นการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา (full-time) ระยะเวลา 3 ปี วิชาเรียนครอบคลุมทุกด้านของงานพยาบาล แบ่งรูปแบบการสอนเป็นสามส่วน
- Lecture บรรยายทฤษฎี เรียนรวมห้องใหญ่หลักร้อยคน
- Tutorial เน้นปฏิบัติและอภิปรายในชั้นเรียนห้องละไม่เกิน 20 คน เรียนในห้องแล็บจำลองโรงพยาบาล แต่ละสัปดาห์มีกรณีศึกษารูปแบบ case study
- Practical / Clinical Placement ฝึกงานในสถานพยาบาลจริงตลอดหลักสูตร
ในแง่การเรียน หากเรียนจบมัธยมที่ไทยแล้วมาต่อปริญญาตรีสาขาพยาบาลที่ออสเตรเลีย คุณอชิรญามองว่าต้องอาศัยการปรับตัวมาก
“การเรียนค่อนข้างจะแตกต่างจากการเรียนที่เมืองไทย เราต้องปรับตัวในการเรียนเยอะมาก”
“ถ้าให้เทียบสามปีคิดว่าปีสองเป็นปีที่หนักที่สุด ปีแรกเขาเหมือนปูพื้นฐานเรา วิชาเรียนไม่ยากมาก... พอเป็นปีสองเขาคาดหวังว่าเราต้องรู้มากกว่าปีหนึ่ง”
ประสบการณ์ฝึกงาน
หลักสูตร Bachelor of Nursing ของมหาวิทยาลัย UTS ที่คุณอชิรญาศึกษา รวมชั่วโมงฝึกงานภาคบังคับในสถานพยาบาลมากกว่า 800 ชม. โดยฝึกงานทุกภาคเรียน ส่งไปที่ไหนขึ้นอยู่กับวิชาที่ลงเรียน ซึ่งต่างจากบางหลักสูตรในไทยที่เน้นฝึกงานภาคเรียนสุดท้าย
“ตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นฝึกงานครั้งแรก ปี 1 เทอม 1 เพราะได้เรียนแค่ประมาณ 5-6 อาทิตย์ก็เริ่มฝึกงานแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าเราเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วเราต้องเจออะไรบ้าง”
คุณอชิรญาเล่าว่า มหาวิทยาลัยของเธอจัดนักศึกษาฝึกงานเป็นกลุ่มเล็กอยู่เวรเดียวกัน พร้อมมีอาจารย์ไปด้วย ชั่วโมงสุดท้ายของวันมีประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรึกษาปัญหาที่พบในแต่ละวัน
“เหมือนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดกันทุกวันก่อนหมดเวลาฝึกงาน เราสามารถคุยกับเขาได้หมดเลยว่าเราติดปัญหาอะไรตรงไหน”
ห้องแล็บจำลองคลินิกของมหาวิทยาลัย University of Technology Sydney Source: University of Technology Sydney
พยาบาลเต็มตัว
เมื่อผ่านขั้นตอนศึกษาเล่าเรียนก็ถึงเวลาหางาน คุณอชิรญาแนะนำจากประสบการณ์ว่า ส่วนสำคัญที่สุดคือการสัมภาษณ์ อาจสัมภาษณ์กับหมอโดยตรงหรือทั้งหมอและพยาบาลขึ้นอยู่กับแต่ละที่ ส่วนใหญ่เน้นมุมมองวิธีแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่อาจพบเจอเมื่อทำงานจริง
เงินเดือนของพยาบาลที่ออสเตรเลียแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์และลักษณะสถานพยาบาล แต่สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สายงานนี้ คุณอชิรญาบอกว่าเริ่มต้นที่ไหนค่าแรงก็ไม่แตกต่างกัน
“การทำงานเป็นพยาบาลที่นี่ จบปีแรกไม่ว่าทำที่ไหนเบสเงินเดือนเท่ากันทุกที่ จะได้ตามประสบการณ์”
แต่ใช่ว่างานพยาบาลทุกที่จะเหมือนกันหมด คุณอชิรญาเปรียบเทียบประสบการณ์ทำงานในศูนย์การแพทย์ General Practice (GP) ว่าเน้นความรู้ครอบคลุม ด้วยความที่ทีมขนาดเล็กกว่าโรงพยาบาลจึงทำงานใกล้ชิดกับหมอโดยตรงมากกว่า ถือเป็นโอกาสให้เรียนรู้ได้เร็ว
สู่สถานะผู้อาศัยถาวร
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนอยากรู้ของสายงานพยาบาลในออสเตรเลีย คือ มีโอกาสขอสถานะผู้อาศัยถาวรหรือ PR ง่ายกว่าอาชีพอื่นจริงหรือไม่ เรื่องนี้คุณอชิรญามีความเห็นว่า
“ยังง่ายกว่าหลายอาชีพ แต่ก็ไม่ได้ง่ายมากเหมือนสมัยก่อน ถ้าเทียบแล้วเกือบ 10 ปีที่แล้วอาจจะง่ายกว่านี้เยอะ”
คุณอชิรญามองว่าช่วงหลังนี้มีชาวต่างชาติสนใจมาเรียนสายพยาบาลกันมากขึ้น หลายคนตั้งใจอยู่ต่อทำงานเพื่อขอ PR การแข่งขันจึงสูงขึ้นมาก ยิ่งบางคนมีประสบการณ์มาก่อนก็มีภาษีดีกว่า
“ถ้าให้แนะนำคือ บางคนเลือกไปอยู่นอกเมือง ไปอยู่ regional (ส่วนภูมิภาค)ก็จะได้ง่ายกว่า แต่ถ้าตัวเมืองใหญ่ๆ ค่อนข้างยาก การแข่งขันสูง”
นอกจากการแข่งขันที่มากขึ้นแล้ว คุณอชิรญาย้ำว่างานพยาบาลไม่ใช่งานง่าย แต่ถ้ามีใจรักในงานนี้แล้ว เธอมองว่าสิ่งที่ได้รับตอบแทนความพยายามบนเส้นทางสายพยาบาลในออสเตรเลียนั้นมีค่ามาก
“เป็นอาชีพที่ไม่ง่าย งานหนัก ต้องมีความอดทนค่อนข้างสูงเพราะแต่ละวันเราเจอคนไม่เหมือนกันเลย”
“ถ้าเราชอบ เรามีความสุขกับมันในทุก ๆ วันที่เราเข้าไปทำงาน เขาเคารพเรา เราได้คำชมจากเขามาเป็นกำลังใจ... มันเป็นอะไรที่เติมเต็มในชีวิตเรา”
เจาะลึกรายละเอียดสายอาชีพพยาบาลในออสเตรเลีย ทั้งบรรยากาศและเนื้อหาการเรียน การสมัครงาน รวมถึงการทำงานท่ามกลางโควิด-19 แบ่งปันประสบการณ์โดยคุณอชิรญา เที่ยงธรรม พยาบาลอาชีพจากนครซิดนีย์ ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเส้นทางผู้ช่วยพยาบาลในออสเตรเลีย
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ก้าวสู่งานด้านสุขภาพกับงานเจ้าหน้าที่เจาะเลือด