ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงเสมอมา ทั้งค่าของชำ ค่าที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่คล้ายคลึงกัน
ค่าครองชีพที่สูงนั้นมาพร้อมกับข้อดีบางประการ เช่น ค่าแรงที่สูงกว่า และคุณภาพชีวิตที่ดี
แต่ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมานั้น ความสมดุลดังกล่าวได้เริ่มตกต่ำลง
ค่าครองชีพกำลังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย จากที่เอสบีเอส นิวส์ ได้พบ จากการสัมภาษณ์ผู้คนบนท้องถนนในนครซิดนีย์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
"ฉันพบว่าทุกอย่างราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 20% ฉันเลยรู้สึกว่าต้องลดของฟุ่มเฟือยประเภทที่เคยซื้อ” ประชาชนคนหนึ่งกล่าว
“นมในโคลส์ก็ขึ้นราคา ขนมปังก็ขึ้นราคา ขึ้นราคาเกือบทุกอย่าง ผมนึกไม่ออกเลยว่าอะไรที่ราคาลดลง” ชายผู้หนึ่งกล่าว
“ค่าประกันอย่างแน่นอน มันขึ้นราคาตลอด นั่นฆ่าทุกอย่างจริง ๆ และฉันก็รู้สึกว่าฉันไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรคืนจากประกันสุขภาพอย่างที่เคยได้เมื่อก่อนนี้” หญิงผู้หนึ่งในซิดนีย์ แสดงความเห็น
การระบาดใหญ่ของโควิดถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อล่าสุด
โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในชั่วชีวิตจะทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chains)
แต่ ศาสตราจารย์ อัลลัน เฟลส์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ เอทริปเปิลซี (ACCC) กล่าวว่า มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้อ
"ไม่มีใครพิจารณาบทบาทของราคา การตั้งราคา อัตรากำไร ที่สัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ และที่สัมพันธ์กับสิ่งที่อาจสามารถทำได้เกี่ยวกับราคาที่สูง" ศ.เฟลส์ กล่าว
เมื่อวันพุธ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศ.เฟลส์ ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการโก่งราคาและแนวทางปฏิบัติในการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นรายงานที่สภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions หรือ ACTU) ให้ดำเนินการจัดทำ ... เขากล่าวว่าธุรกิจต่าง ๆ มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง
"การตั้งราคาสินค้าของธุรกิจได้ช่วยเพิ่มอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก และมักถูกมองข้ามไป มีการกล่าวโทษสิ่งอื่น ๆ อย่าง นโยบายการเงิน สงคราม และอื่น ๆ แต่ความจริงแล้ว ราคาที่ธุรกิจตั้งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ" ศ.เฟลส์ ยืนยัน
ด้าน คุณ แอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย ปฏิเสธว่าธุรกิจต่าง ๆ ไม่ได้กำลังเอาเปรียบผู้คนในออสเตรเลีย
"ไม่เลย ดูสิ นี่เป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้การค้าขายยากลำบากมาก ไม่เพียงแต่ค่าครองชีพจะสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจก็เพิ่มขึ้น และกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาทั่วทั้งเศรษฐกิจ เรากำลังเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ควรต้องมีการปฏิรูปขั้นพื้นฐานหากเราจะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ง่ายขึ้นในอนาคตและนำเงินเฟ้อออกไปจากเศรษฐกิจ" คุณแมคเคลลาร์ ของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย กล่าว
ศาสตราจารย์เฟลส์กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของออสเตรเลียเปิดโอกาสให้มีการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
"จนกระทั่งยุคที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง ที่ปล่อยให้มีการผูกขาดเกิดขึ้นและปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ เรายังไม่มีอำนาจที่จะแตกกลุ่มหรือแยกธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากในสหรัฐฯ แล้วเราก็ยังไม่มีอำนาจในการควบคุมราคา" ศ.เฟลส์ อธิบาย
ศาสตราจารย์ อัลลัน เฟลส์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย Source: AAP / MICK TSIKAS/AAPIMAGE
"พวกเขาต้องให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ แก่เรื่องราคา มีหลายสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมราคา และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจำเป็นต้องเสริมสร้างนโยบายการแข่งขันกันในตลาด กฎหมายการควบรวมกิจการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับรัฐบาลเองที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น" ศ.เฟลส์ แสดงทัศนะ
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai