ประเด็นสำคัญ
- ความยินยอมทางเพศเป็นเนื้อหาบังคับของหลักสูตรการเรียนการสอนของออสเตรเลีย ในปี 2023
- ความรุนแรงทางเพศอาจเกิดได้ทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ อาจทำได้ผ่านทางออนไลน์
- ออสเตรเลียปรับปรุงกฎหมายเรื่องการยินยอมทางเพศให้เข้มงวดขึ้น หมายความว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศควรแน่ใจว่าพวกเขาได้รับการยินยอม
- ระบบการศึกษาของออสเตรเลียปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรเรื่องการยินยอมทางเพศ
กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
บริการให้คำปรึกษาปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศแห่งชาติ (Australian National Domestic Family and Sexual Violence Counselling Service) หรือที่รู้จักกันในชื่อสายด่วน 1800 RESPECT อธิบายความหมายของความรุนแรงทางเพศว่าเป็นกิจกรรมทางเพศที่ “ทำให้คุณรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจ”
ความรุนแรงทางเพศยังครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคาม การทำร้าย และการข่มขืน คำว่าความรุนแรงในที่นี้รวมถึงความก้าวร้าว ตลอดจนการทำร้ายทางอารมณ์และจิตใจซึ่งอาจเป็นกระทำด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ทางกายภาพ เช่น ทางออนไลน์
สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) ระบุว่าผู้หญิง 1 ใน 5 คนประสบความรุนแรงทางเพศตั้งแต่อายุ 15 ปี
จ่าสิบเอกโมนิค เคลลีย์ (Monique Kelley) หัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเพศที่รัฐวิกตอเรีย ซึ่งทำงานร่วมกับเหยื่อผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศกล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศหมายถึงการสัมผัสใกล้ชิดที่ไม่พึงปรารถนาด้วย
เป็นการสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกายโดยไม่มีการตกลงล่วงหน้าหรือไม่ได้รับการยินยอม
"อาจเป็นการสัมผัสทางกายหรือผ่านสื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางร่างกายเสมอไป มีหลายวิธีที่สามารถบังคับล่วงละเมิดทางเพศได้ การแบ่งปันรูปภาพส่วนตัวโดยไม่ได้รับการยินยอมล่วงหน้า หรือการเขียนเรื่องราวที่สื่อไปในทางนั้นก็อาจเข้าเกณฑ์การล่วงละเมิดทางเพศได้”
ฟังพอดคาสต์ที่เกี่ยวข้อง
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อลูกของคุณอายุครบ 18 ปี ในออสเตรเลีย?
SBS Thai
26/09/202211:18
ความรุนแรงทางเพศถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในออสเตรเลีย หลายมลรัฐในออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ผู้ต้องหาคดีกระทำความผิดทางเพศต้องพิสูจน์ต่อศาลว่าพวกเขาได้รับความยินยอมก่อนจะมีเพศสัมพันธ์
คุณเจส ฮิลล์ (Jess Hill) นักข่าวแนวสืบสวนอธิบายเรื่องความยินยอมในซีรีส์สารคดี ‘อาร์สกิง ฟอร์ อิท (Asking for it)’
เธอกล่าวว่า ขั้นตอนแรกคือให้แต่ละคนหาจุดที่รู้สึกดีและรู้สึกไม่ดีในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ จากนั้นคุณควรกำหนดขอบเขตและจุดยืนของคุณ ทั้งนี้ยังรวมถึงการถามคู่ของคุณด้วยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายเรียนรู้วิธีการพูดว่า ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’ ในทุกขั้นตอนของการทำกิจกรรม
“มันเกี่ยวกับการตระหนักว่า ‘นี่คือสิ่งที่เราทั้งคู่ต้องการหรือไม่? นี่เป็นสิ่งที่เราทั้งคู่จะพึงพอใจหรือไม่?’ ในการรับรู้ถึงการยินยอมในขณะนั้น วิธีง่ายๆ คือการถามคำถามขณะที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ เช่น ‘มันโอเคไหมที่ฉันสัมผัสคุณตรงนี้? คุณชอบไหม? คุณอยากให้ฉันทำแบบนี้ไหม? ฉันทำแบบนี้ได้ไหม?’”
มีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉลี่ย 85 ครั้งต่อวันในออสเตรเลีย และ 90 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อผู้รอดชีวิตไม่แจ้งความกับตำรวจ Source: Moment RF / Carol Yepes/Getty Images
กฎหมายในบางรัฐระบุว่าการยินยอมอย่างเดียวไม่เพียงพอ คุณต้องถามความยินยอมเสมอถึงจะถือว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยถูกกฎหมาย
การยืนยันความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์มีมากกว่าแค่การคิดว่าอีกฝ่ายเห็นด้วยที่จะทำกิจกรรมทางเพศ
คุณควรคำนึงถึงปฏิกิริยาและวาจาที่บ่งบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์ได้รับความยินยอมหรือไม่ เพราะการไม่ยินยอมอาจเกิดได้ทุกขณะ หากคู่ของคุณเงียบหรือไม่ตอบสนอง พวกเขาอาจกำลังส่งสัญญาณว่าไม่ยินยอม
“การที่คุณสันนิษฐานว่ามีความยินยอมเพราะภาษากายบางอย่างอาจไม่เพียงพอ อีกฝ่ายอาจพูดว่า ‘หยุด’ หรืออาจเงียบไปหรือนิ่งไป ในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ หากคุณอยู่กับใครสักคนและเขาไม่พูดอะไรเลย นั่นไม่ใช่การยินยอม หากพวกเขาพูดว่า ‘ฉันไม่แน่ใจ’ คุณควรถามว่า ‘คุณอยากทำต่อหรือไม่’ หรือ ‘เราไม่จำเป็นต้องทำต่อ’”
คุณไมเคิล แบรดลีย์ (Michael Bradley) เป็นทนายความที่ทำงานร่วมกับเหยื่อผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศเป็นเวลาหลายปี
เขากล่าวว่า กฎหมายได้กำหนดกรณีที่ชัดเจนเรื่องความยินยอมทางเพศไว้ดังนี้
“มีขอบเขตว่าใครสามารถให้ความยินยอมได้ เช่น ผู้ที่มึนเมาหรือหมดสติไม่สามารถทำได้ หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งไม่เข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไร ตามกฎหมายแล้วเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่สามารถให้การยินยอมได้”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ความรุนแรงในครอบครัวและช่องทางช่วยเหลือในออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตามคุณแบรดลีย์กล่าวว่า ในกรณีการข่มขืนนั้นความยินยอมระบุอีกแบบหนึ่ง เพราะถือเป็นสถานการณ์ที่อาจมีการให้ความยินยอมเพราะความกลัวหรือถูกกดดัน
มันเป็นพื้นที่สีเทาเมื่อผู้นั้นถูกครอบงำ เพราะถูกบังคับ ใช้กำลัง หรือข่มขู่
"เป็นเรื่องที่ซับซ้อนในบริบทของครอบครัวและความรุนแรงในครอบครัว หากคนคนหนึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกบังคับขู่เข็ญ ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจยินยอมในแง่ปฏิบัติ แต่ถ้านั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่เชื่อว่ามีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยหรือไม่สามารถเลือกทางอื่นได้ ก็ถือว่าไม่ได้รับความยินยอม”
คู่รักนั่งดูหนังในโรงภาพยนต์ Credit: Flashpop/Getty Images
โดยหลักสูตรใหม่นี้เน้นสอนความยินยอมและความสัมพันธ์ที่เคารพต่อกัน การบังคับขู่เข็ญและความไม่สมดุลของอำนาจ รวมถึงเจาะลึกทัศนคติแบบเหมารวมทางเพศ และความแตกต่างเรื่องความคาดหวังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีต่อผู้ชายและผู้หญิง
คุณริชชี ฮาร์ดคอร์ (Richie Hardcore) เป็นผู้สอนและเป็นนักรณรงค์ที่มีประสบการณ์หลายปีในเรื่องการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ
เขาเชื่อว่า มีความแตกต่างระหว่างบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่กีดกันการพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเพศเนื่องจากเป็นเรื่องต้องห้าม การทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศในการโฆษณา และการที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงเนื้อหาลามกอนาจารซึ่งมักมีความรุนแรงรวมอยู่ด้วยทางออนไลน์
“บางวัฒนธรรมทำให้ความก้าวร้าวและความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายและเด็กผู้ชายมักมีอำนาจเหนือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพศหญิงถูกทำให้ยอมรับความรุกคืบของฝ่ายชาย เราควรพูดถึงการมีเอกราชทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ การมีความสุขทางเพศร่วมกัน และข้อดีของการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการหลีกเลี่ยงอันตรายจากมัน เพราะการมีเพศสัมพันธ์เป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งของมนุษย์ และไม่ว่าคุณจะมีเพศสัมพันธ์แบบไหน ไม่ควรมีใครต้องได้รับอันตรายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ”
ชายหญิงนั่งมึนตึงใส่กัน Credit: Mixmike/Getty Images
“ให้ทุกคนได้พูดในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และให้การพูดเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ผมคิดว่ามันจะลดเรื่องไม่ดีได้มากมาย"
เมื่อเราพูดถึงการข่มขืน เรามักจะนึกถึงคนที่ถือมีดกระโดดออกมาจากพุ่มไม้แล้วลากใครบางคนไป แต่ความรุนแรงทางเพศส่วนมากเกิดขึ้นโดยผู้ที่รู้จักกับเหยื่อ
"หรือคนที่ไปเดทผ่านทินเดอร์ (Tinder) หรือผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ นั่นเป็นข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ดังนั้นเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้คนจะมีประสบการณ์ทางเพศแบบสมยอม พึงพอใจและไม่รุนแรง?”
เว็บไซต์เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ Credit: JLGutierrez/Getty Images
“มีหลายสิ่งที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องเรียนรู้ใหม่ในแง่ของวิธีที่พวกเขาแสดงและสร้างความปรารถนาของพวกเขา มันไม่ใช่เรื่องเล็ก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการพูดว่า ‘ได้’ นั้นสำคัญพอๆ กับการพูดว่า ’ไม่’”
คู่รักกำลังนอนกอดกัน Credit: Beatriz Vera / EyeEm/Getty Images
หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตราย โทรสายด่วนฉุกเฉิน 000
บริการให้ข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิต 24 ชั่วโมง (Beyond Blue) 1300 224 636 หรือ
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเรียกร้องปรับปรุงตำรวจ-ศาล