เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเรียกร้องปรับปรุงตำรวจ-ศาล

Advocates are calling for sweeping reforms to make the legal system a safer space for survivors of domestic and family violence.

Family and friends attend the funeral of a violence victim Source: AAP

รายงานสำรวจพบ กว่าครึ่งหนึ่งของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในรัฐนิวเซาท์เวลส์ไม่พอใจแนวทางที่ตำรวจและระบบศาลปฏิบัติต่อพวกเขา ด้านนักรณรงค์เรียกร้องให้ปรับปรุงระบบเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย


LISTEN TO
Survivors call for improved police and court response to domestic violence image

เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเรียกร้องปรับปรุงตำรวจ-ศาล

SBS Thai

17/05/202109:16
หญิงสาวที่เคยเผชิญกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวออกมาเผยเรื่องราวของเธอเป็นครั้งแรก โดยใช้นามสมมุติว่า เจน

คุณเจนมีประสบการณ์ถูกทำร้ายโดยอดีตคู่ครองของเธอหลายครั้ง เธอเล่าว่าแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบสนองต่างกัน

"ประสบการณ์แจ้งตำรวจครั้งแรกของฉันเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนตอนที่โดนข่มขู่ ตอนนั้นอดีตแฟนของฉันขู่จะชกหน้าฉัน เขายกหมัดมาจ่อหน้าแล้ว ตำรวจเข้ามาดูแลค่อนข้างดีและเข้าอกเข้าใจทีเดียว สองสามเดือนต่อมาเขาลงมือทำร้ายฉันจริง ๆ ฉันเลยคิดได้แล้วแจ้งตำรวจให้เข้ามาช่วย เพราะไปต่อไม่ไหวแล้ว"

เธอบอกว่าไม่รู้สึกอุ่นใจหรือปลอดภัยกับแนวทางที่ตำรวจจัดการคดีของเธอรวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ตามมา

"ตั้งแต่ตอนแรกที่ไปให้ปากคำกับตำรวจ ฉันรู้สึกเหมือนถูกข่ม รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมคุกคามหรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ฉันกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชั้นศาล เพราะพวกเขามีข้อมูลไม่ครบถ้วน กังวลว่าจะมีใครอยู่ข้างฉันบ้างไหม ใครจะดูแลฉัน ฉันรู้สึกเหมือนถูกทิ้ง คนบอกว่าฉันกังวลไม่เป็นเรื่อง แต่นี่มันเกี่ยวกับตัวฉัน มันคือความปลอดภัยของฉัน"

คุณเจนเล่าว่า เจ้าหน้าที่จัดการคดีของเธออย่างไม่กระจ่างชัดว่าฝ่ายไหนเป็นเหยื่อ ฝ่ายไหนคือผู้กระทำ

"ฉันคิดเอาเองว่าประสบการณ์กับตำรวจจะเหมือนตอนครั้งแรก ซึ่งห่างกันแค่ปีเดียว ครั้งนั้นตำรวจใจดี เอาใจใส่ เข้าอกเข้าใจ เป็นห่วงสวัสดิภาพของฉัน แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แบบนั้นเลย ถึงขั้นระบุตัวผิดด้วยซ้ำว่าใครเป็นผู้กระทำ ใครถูกกระทำ"

รายงานผลสำรวจฉบับใหม่พบว่า เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจำนวนไม่น้อยเคยเจอประสบการณ์ลักษณะนี้

องค์กร Women's Safety NSW สอบถามผู้หญิง 59 คนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครัวและเคยมีปฏิสัมพันธ์กับตำรวจและศาล
domestic violence, family violence, emotional abuse, gina, filipina
Source: Getty Images/SimonSkafar
คุณเฮลีย์ ฟอสเตอร์ (Hayley Foster) ประธานบริหารองค์กร Women's Safety NSW กล่าวว่า แม้ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผลสำรวจชี้ชัดว่าเหยื่อยังขาดความเชื่อมั่นว่าระบบจะช่วยเหลือพวกเขาได้

"น่าเสียดายที่เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวที่เคยติดต่อตำรวจในรัฐนิวเซาท์เวลส์เกินครึ่งหนึ่งบอกว่า ไม่พอใจกับการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเกินครึ่งหนึ่งของเหยื่อยังกล่าวด้วยว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นความเข้าใจในพลวัตของความรุนแรงในครอบครัวและการบังคับควบคุม ดังนั้น ข้อเรียกร้องหลักของเราคือ เพิ่มการฝึกอบรมเฉพาะด้านทั้งสำหรับตำรวจ อัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ เช่น ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีประเภทนี้"

นอกจากจัดฝึกอบรมเพิ่มขึ้นและพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คุณฟอสเตอร์ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอิสระกรณีตำรวจและศาลประพฤติมิชอบแทนที่จะให้สอบสวนกันเองต่อไป

อีกทั้งต้องการให้ยกเลิกนำตัวเหยื่อเข้าสู่กระบวนการถามค้าน (cross-examination) ขณะนี้รัฐนิวเซาท์เวลส์เป็นเพียงรัฐเดียวในออสเตรเลียที่ยังคงอนุญาตกระบวนการนี้ โดยเรียกร้องให้เปลี่ยนมาเสนอพยานหลักฐานในศาลปิด (closed court) เพื่อว่าผู้หญิงจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้ออกมาให้การต่อหน้าสาธารณชนและคนในชุมชนของเธอ

"มันเจ็บปวดมากถ้าคุณลุกขึ้นมาแสวงหาความยุติธรรม แล้วผู้พิพากษากลับบอกผู้ถูกกระทำรุนแรงว่า 'พวกคุณแย่พอกันทั้งคู่ ถ้าคุณแค่เลือกเดินออกมาวันนั้น เรื่องนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้น' เราได้ฟังคำกล่าวประมาณนี้จากประสบการณ์ในกระบวนการศาลของผู้ถูกกระทำรุนแรง วันนี้เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในระบบบริการมีความเสมอต้นเสมอปลาย ให้ผู้พิพากษามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้เหยื่อสามารถพึ่งพาระบบได้โดยปลอดภัย"

ด้านคุณเจนกล่าวว่า ควรส่งเสริมให้เข้าใจความรู้สึกของเหยื่อและตระหนักถึงผลกระทบต่อพวกเขามากกว่านี้

"เข้าใจกว้าง ๆ ว่าฉันไปอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร หวังว่าพวกเขาจะเข้าใจชัดเจนกว่านี้ถึงผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัว ทำไมเหยื่อถึงนิ่งเงียบในห้องพิจารณาคดี ตอบคำถามไม่ได้ หรือจำเรื่องราวไม่ได้ ทำไมตกอยู่ในภาวะบอบช้ำเมื่อต้องให้ปากคำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉันนึกว่าพวกเขาจะเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมากกว่านี้ เพื่อนของอดีตแฟนฉันอยู่ในห้องพิจารณาคดีเปิดด้วย นั่นทำให้ฉันกลัว"

นอกจากนี้ เธอยังเห็นว่าควรเพิ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ถูกกระทำรุนแรงเพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาล

"พอเขาถูกแจ้งข้อหา ตอนนั้นศาลออกคำสั่งคุ้มครองเหยื่อให้โดยอัตโนมัติ แต่นั่นก็เป็นการจัดการขั้นพื้นฐาน ฉันคิดว่าถ้ามีมาตรการความปลอดภัยเพิ่มอีกอย่างน้อยสักชั้นหนึ่้งจะช่วยให้อุ่นใจขึ้น เช่น อุปกรณ์เชื่อมต่อกับตำรวจอย่างที่เคยมีโครงการในรัฐวิกตอเรีย น่าจะช่วยให้ฉันรู้สึกปลอดภัยพอที่จะใช้ชีวิตในชุมชนและก้าวต่อไปได้"
สารคดีของสถานีโทรทัศน์เอสบีเอสชุด See What You Made Me Do ชมฟรีออนไลน์ทาง SBS on Demand



หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน โทร. 000

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ 

Lifeline โทร. 13 11 14 หรือ 

Kids Helpline โทร. 1800 55 1800 หรือ  (บริการปรึกษา 24 ชั่วโมงสำหรับเยาวชน)

Men’s Referral Service โทร. 1300 766 491หรือ  (บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ชายโดยไม่เปิดเผยชื่อและเป็นความลับ)

 โทร. 1800 184 527 (บริการสนับสนุนสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ)

สายด่วนแห่งชาติแจ้งการกระทำทารุณและละเลยทอดทิ้งผู้พิการ โทร. 1800 880 052

ELDERHelp โทร. 1800 353 374
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share