ริทู ดาร์ (Ritu Dhar) เริ่มเก็บออมเงินเหรียญที่เป็นเงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ หลังจากเธอตกลงใจว่า เธอไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสามีที่กดขี่ขมเหงเธอได้อีกต่อไป
เพราะเพิ่งแต่งงานได้ไม่นานในออสเตรเลีย ริทูไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในประเทศใหม่ที่เธอเพิ่งย้ายมาอยู่
เธอถือวีซ่าชั่วคราวและขณะนั้นกำลังประสบความยากลำบาก โดยเธอไม่สามารถขับรถยนต์ไปไหนมาไหนได้ เธอไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ และไม่มีเพื่อนฝูงเลย เธอต้องพึ่งพาสามีที่เพิ่งแต่งงานกันไม่นานเพียงคนเดียวเท่านั้น
แต่ชายที่เธอแต่งงานด้วยไม่ได้เป็นคนอย่างที่เธอคาดหวังไว้ ริทู กล่าวว่า เขาไม่ได้ข่มเหงเธอทางร่างกาย แต่เขาบังคับควบคุมเธอสองปีต่อมา หลังจากที่เธอให้กำเนิดลูกชาย เธอก็รู้ว่า เธอต้องหลบหนีจากเขา
Ritu Dhar came to Australia on a temporary visa, and originally struggled in the new surroundings. Source: Supplied
“ตอนนั้น ฉันเต็มไปด้วยความหวาดกลัว” ริทู บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“ฉันหวั่นเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับชีวิตของฉันและกับลูกชายของฉัน”
เธอจึงคิดวางแผน และเริ่มเก็บออมเงินเหรียญ 5 เซนต์ จากทุกที่ที่เธอพบภายในบ้าน
“ฉันได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของเงินเหรียญ 5 เซนต์ โดยเชื่อมโยงได้ว่า 5 เซนต์จะกลายเป็น 1 ดอลลาร์ได้ และนั่นทำให้ฉันตระหนักถึงความสำคัญของเงินและการยืนได้ด้วยขาของตนเอง”
เธอใช้เงิน 20 ดอลลาร์ที่มาจากเงินเหรียญ 5 เซนต์ทั้งหมด เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่กับลูกชายวัย 1 ขวบ หลังจากเธอหลบหนีจากความสัมพันธ์ที่มีแต่การกดขี่ข่มเหงนั้น
16 ปีให้หลัง ริทู ดาร์ ขณะนี้เป็นผู้ช่วยครู ในรัฐวิกตอเรีย และเพิ่งซื้อบ้านและรถยนต์เป็นของตนเอง
สำหรับริทูแล้ว เธอจัดการหลบหนีพร้อมเงินเหรียญที่เก็บสะสมมาด้วยตนเอง แต่เธอกล่าวว่า ต่อไปนี้ คงจะง่ายขึ้นมากจากโครงการใหม่ของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวให้หลบหนีออกจากความรุนแรงในครอบครัวได้
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการต่างในร่างงบประมาณแผ่นดิน ได้รับการประกาศในวันอังคารที่ 11 พ.ค. โดยรัฐบาลให้คำมั่นจะให้งบ 30 ล้านดอลลาร์สำหรับ 3 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย ที่หลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัว
เงินดังกล่าวจะให้เป็นทุนสำหรับโครงการในระดับรากหญ้าต่างๆ และช่วยสนับสนุน “การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจ” สำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย
นอกจากนี้ โครงการนำร่องซึ่งช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว จะขยายระยะเวลาต่อไปอีกหนึ่งปี โดยจะใช้ทุนดำเนินโครงการ 10 ล้านดอลลาร์
ส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวนี้ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาจะสามารถได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 ดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟสำหรับที่พัก สำหรับสิ่งจำเป็นอื่นๆ และสำหรับบริการด้านการแพทย์
รัฐบาลกล่าวว่า นี่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงที่อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการสังคมและเงินสวัสดิการจากรัฐบาลได้ เนื่องจากสถานะทางวีซ่าของพวกเธอ
“สิ่งที่รัฐบาลทำจะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ที่ฉันเคยประสบเมื่อ 16 ปีก่อน” ริทู กล่าว
อ่านเพิ่มเติม
รู้เท่าทันภัยความรุนแรงในครอบครัว
ศูนย์กฎหมายสำหรับชุมชนและผู้หญิง 9 แห่ง (community and women’s legal centres) ทั่วประเทศจะได้รับเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการย้ายถิ่นฐานได้
กลุ่มให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวยินดีกับมาตรการเหล่านี้ แต่กล่าวว่า ควรเกิดขึ้นนานแล้วสำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยต่างๆ
คุณ เรนาตา ฟิลด์ ผู้จัดการด้านการวิจัยและนโยบายสำหรับองค์กร ความรุนแรงในครอบครัวนิวเซาท์เวลส์ (Domestic Violence NSW) กล่าวว่า องค์กรได้เป็นเรียกร้องให้มีความช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยมานานแล้ว เพราะผู้หญิงกลุ่มนี้ประสบความรุนแรงในอัตราที่สูงกว่า อีกทั้งยังเผชิญอุปสรรคด้านภาษา และไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมได้
“มันเป็นเงินจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความจำเป็นที่มี แต่ดีเยี่ยมที่มีเงินนี้ให้”
ผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวบางคนเผชิญกับการถูกข่มขู่จากคู่ครองของพวกเธอว่า พวกเธอจะถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลีย คุณแคธ สคาร์ธ จาก AMES Australia องค์กรด้านการตั้งถิ่นฐานสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย กล่าว
เธอกล่าวว่า สำคัญยิ่งที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ของพวกเธอ
“มันเป็นปัญหาอย่างแท้จริงสำหรับผู้หญิงเหล่านั้นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่กำลังประสบความรุนแรง” คุณแคธ สคาร์ธ กล่าว
“เพื่อที่เราจะสามารถทำให้แน่ใจได้ว่า พวกเธอได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทางร่างกาย และจากทั้งการข่มขู่ที่บอกว่า ‘หากคุณไม่ทำตามสิ่งที่ฉันสั่งให้คุณทำ ฉันจะแจ้งกับกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและคุณจะถูกเนรเทศ’ นี่สำคัญอย่างมาก”
หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ
หรือติดต่อ สวัสดิภาพสมาคม เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนไทย ในโครงการ Pathway to Safety ของสมาคม ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลียที่ประสบปัญหาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic and Family Violence) โทร. 02 9264 3166 หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้ หรืออีเมล [email protected]
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ควรทำให้การบังคับควบคุมเป็นความผิดอาญาหรือไม่