เอสบีเอส ไทย พูดคุยกับเจ้าหน้าที่โครงการ Paths to Safety ของสวัสดิภาพสมาคม ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลียที่ประสบปัญหาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic and Family Violence)
LISTEN TO
รู้เท่าทันภัยความรุนแรงในครอบครัว
SBS Thai
10/05/202117:56
ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร เกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง
ความรุนแรงในครอบครัว คือพฤติกรรมที่สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งทำให้อีกคนหนึ่งหวาดกลัวหรือรู้สึกโดนบังคับ ไม่ว่าทางร่างกาย คำพูด หรือจิตใจ เกิดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทำร้ายร่างกาย บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ทำร้ายสิ่งของสัตว์เลี้ยง บังคับให้ทำอะไรบางอย่างโดยขู่ว่าไม่งั้นจะทำร้าย ด่าทอ ด้อยค่า รวมถึงบังคับไม่ให้ใช้เงิน ไม่ให้ไปทำงาน ไม่ให้คบเพื่อนหรือครอบครัว
โดยภาพรวมคือพฤติกรรมที่เกิดจากการที่ฝ่ายหนึ่งต้องการควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งโดยการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ อาจมีสาเหตุจากความไม่ให้เกียรติหรือไม่เคารพกันและกัน ฐานะการเงินหรือสังคมต่างกันมาก ทำให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย
ใครเป็นผู้กระทำความรุนแรงได้บ้าง เหยื่ออาจเป็นใครได้บ้าง
ทุกคนในครอบครัวกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภรรยา สามี ลูก ปู่ยาตายาย แต่จากงานวิจัยและสถิติต่าง ๆ พบว่าผู้หญิงมักเป็นผู้ถูกกระทำ อาจด้วยว่าสังคมยังมีแนวคิดชายเป็นใหญ่อยู่มากแม้ว่าสังคมออสเตรเลียจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของทุกเพศมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว เพศหญิงยังคงมีรายได้น้อยกว่าเพศชายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น โอกาสการศึกษาน้อยกว่า หรือมีภาระในการดูแลคนในครอบครัวทำให้ต้องเสียสละความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องพึ่งพาฝ่ายชาย จนมีทางเลือกในชีวิตน้อยลงไปด้วย ฝ่ายหญิงจึงมักเสียเปรียบและไม่มีอำนาจต่อรองในความสัมพันธ์
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อุปสรรควีซ่า-วัฒนธรรมฉุดรั้งผู้หญิงย้ายถิ่นฐานในความสัมพันธ์รุนแรง
สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ออสเตรเลียเป็นอย่างไร
ข้อมูลของสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) ปี 2019 พบว่า 1 ใน 3 ของคดีฆาตกรรมมีสาเหตุจากความรุนแรงในครอบครัว และ 2 ใน 3 ของเหยื่อเป็นผู้หญิง
การสำรวจของสถาบันอาชญากรรมวิทยาของออสเตรเลีย (Australian Institute of Criminology) พบว่า เกือบ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่มีคู่ครองประสบความรุนแรงในครอบครัวช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดย 2 ใน 3 บอกว่าความรุนแรงเริ่มขึ้นหรือหนักมากขึ้นในช่วงดังกล่าว
นอกจากนี้ สายด่วน 1800RESPECT ยังได้รับสายรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
เห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในออสเตรเลียที่ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสังคมให้ความสำคัญมาก มีนโยบายและกฎหมายเพื่อพยายามแก้ปัญหานี้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย
คนไทยที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ออสเตรเลียมักเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลักษณะใด
ส่วนมากมาในลักษณะที่หญิงคนไทยเป็นฝ่ายถูกทำร้าย เริ่มจากฝ่ายหญิงย้ายมาจากประเทศไทย ไม่ค่อยรู้จักใครในออสเตรเลีย พูดภาษาอังกฤษได้น้อย และอาจไม่ได้มีทักษะที่สามารถหางานในออสเตรเลียได้้ รวมถึงยังไม่มั่นใจที่จะเข้าสังคมด้วยตนเอง จนเกิดอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
Paths to Safety โครงการช่วยเหลือหญิงไทยจากความรุนแรงในครอบครัว
หลายคู่ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายอย่างมากเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิของตนเองในประเทศนี้ เชื่อใจให้จัดการเรื่องวีซ่า เอกสารราชการ รวมถึงเปิดบัญชีธนาคาร ทำให้ฝ่ายหญิงไม่สามารถควบคุมการเงินของตนได้ หรือไม่บอกฝ่ายหญิงถึงสิทธิในการไปเรียนภาษาอังกฤษกับ ที่อบรมผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่โดยเฉพาะ หรือไม่ให้ไปทำงานเพราะอยากให้ทำงานบ้านหรือดูแลคนในครอบครัว เป็นต้น
ปัจจัยด้านวีซ่าอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยหลายคนด่วนตัดสินใจลงหลักปักฐานกับคู่ครอง เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็เกิดเสียดายความพยายามทั้งหมดที่ทำมา รวมถึงสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่เคยมีเมื่อย้ายถิ่นฐานมา ทั้งยังมีแรงกดดันจากสังคมทางบ้านหากต้องย้ายกลับไป หรือเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนเลือกทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อยู่หลายปี
เมื่อขอความช่วยเหลือแล้วมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป
กรณีทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่เอาชีวิต เมื่อแจ้งความกับตำรวจแล้ว ตำรวจจะถามความต้องการของผู้เสียหายด้วยว่าประสงค์ให้ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อไป หากผู้เสียหายต้องการ ตำรวจอาจยื่นขอคำสั่งศาลคุ้มครองไม่ให้ผู้ต้องหาเข้าใกล้หรือข่มขู่ทำร้ายผู้เสียหายได้อีก รวมถึงดำเนินคดีอาญาต่อไป
ศาลของออสเตรเลียมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงโดยตรง ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าของคดีความและส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านวีซ่า บ้านพักฉุกเฉิน หรือหน่วยงานวางแผนแก้ปัญหาร่วมกับผู้เสียหาย (case management) เช่น สวัสดิภาพสมาคม ผู้ประสบความรุนแรงนอกเหนือจากทางร่างกายสามารถขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
'คำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว' คืออะไร
หากพบเห็นคนใกล้ตัวที่อาจเผชิญปัญหานี้อยู่จะช่วยอย่างไรได้บ้าง
ขอแนะนำให้คุณรับฟังปัญหาของเขาโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องบอกให้เขาทำอะไร อย่าโทษผู้เสียหาย แต่เริ่มจากถามความต้องการว่าเขาอยากให้ช่วยอย่างไร และให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาได้ หลีกเลี่ยงการพูดเรื่องส่วนตัวของเขาให้คนอื่นฟัง ขอความยินยอมจากเขาก่อนนำเรื่องไปเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อขอคำปรึกษา
หากคุณอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงโดยเฉพาะที่อาจถึงแก่ชีวิต อย่าลังเลที่จะโทรหาตำรวจ
ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวทางป้องกันอย่างไร
อาจเริ่มต้นที่ให้ความรู้ในชุมชนว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นอย่างไรในโลกปัจจุบัน ความเท่าเทียมทางเพศคืออะไร การแก้ปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงทำได้อย่างไรบ้าง การสื่อสารความรู้สึกของตนเองให้กับคู่ครองอย่างตรงไปตรงมาทำอย่างไร รวมถึงไม่การผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านสื่อ เช่น ฉากตบจูบในละคร ที่สำคัญมากคือส่งเสริมทักษะ ศักยภาพ และความภูมิใจในตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้คนเราเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง เลือกสิ่งดี ๆ ให้ตนเอง กล้าเดินออกจากความรุนแรง
ช่องทางขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ
หากมีเหตุด่วนโดยเฉพาะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต กรุณาแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 000
ผู้อาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์สามารถติดต่อ สายด่วนความรุนแรงในครอบครัวของรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ โทร. 1800 65 64 63 ตลอด 24 ชั่วโมง
หากต้องการปรึกษาสวัสดิภาพสมาคมเพื่อร่วมวางแผนหาทางออก สามารถติดต่อสมาคมได้ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล
- โทร. 02 9264 3166 หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้
- อีเมล
หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน โทร. 000
หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ
Men’s Referral Service โทร. 1300 766 491หรือ (บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ชายโดยไม่เปิดเผยชื่อและเป็นความลับ)
สายด่วนแห่งชาติแจ้งการกระทำทารุณและละเลยทอดทิ้งผู้พิการ โทร. 1800 880 052
ELDERHelp โทร. 1800 353 374
สารคดีของสถานีโทรทัศน์เอสบีเอสชุด See What You Made Me Do ออกอากาศครั้งแรก วันพุธที่ 5 พฤษภาคม เวลา 20.30 น. ทางช่องโทรทัศน์เอสบีเอส ติดตามตอนที่สองในวันที่ 12 พฤษภาคม และตอนที่สาม วันที่ 19 พฤษภาคม จากนั้นฉายให้ชมกันอีกครั้งวันอาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทางช่อง SBS VICELAND
หรือชมฟรีออนไลน์ได้ทุกเมื่อทาง SBS on Demand
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
VIC เสนอกฎเข้มห้ามพ่อแม่ก้าวร้าวเหยียบโรงเรียน