นักพิทักษ์สิทธิ์ตำหนิการสอบภาษาอังกฤษสำหรับวีซ่าคู่ครอง

กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเพิ่มข้อกำหนดด้านทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสมัครขอวีซ่าคู่ครอง จะช่วยปกป้องประชาชนจากสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

IELTS

International student group petitions extension of IELTS, PTE result validity and seeks other reforms. Source: IELTS

นักพิทักษ์สิทธิ์ผู้ลี้ภัยและสิทธิ์สตรีกล่าวว่า การกำหนดให้ผู้ย้ายถิ่นฐานที่สมัครขอวีซ่าคู่ครองจะต้องผ่านการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นมาตรการแบบ “พ่อปกครองลูก” (paternalistic หรือการปกครองที่จำกัดอิสระของประชาชน) จะทำให้ครอบครัวไม่สามารถมาอยู่ร่วมกันได้

กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย (Department of Home Affairs) กำลังพิจารณาจะเพิ่มข้อกำหนดด้านทักษะภาษาอังกฤษสำหรับผู้สมัครของวีซ่าคู่ครอง ภายใต้ข้อเสนอนี้ ทั้งบุคคลที่สมัครขอวีซ่าและผู้ที่เป็นสปอนเซอร์วีซ่าจะต้องผ่านการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ

เอกสารรวบรวมความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจเรื่องนโยบายของกระทรวง ระบุว่า มาตรการนี้จะช่วยปกป้องผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว โดยช่วยกระตุ้นให้พวกเขาต้องเรียนภาษาอังกฤษ

“ผู้ย้ายถิ่นฐานที่อาจไม่มีทักษะภาษาอังกฤษเพียงพออาจมีความเสี่ยงมากกว่าในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการถูกเอารัดเอาเปรียบ” เอกสารดังกล่าว ระบุ

เอกสารที่ว่านี้ยังกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่พูดภาษาอังกฤษจะสามารถขอความช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องพึ่งใครมากกว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว
แต่สมาคมสตรีต่อต้านความรุนแรงแห่งออสเตรเลีย (Australian Women Against Violence Alliance  หรือ AWAVA) และศูนย์บริการให้คำแนะนำและงานช่วยเหลือปัญหาสังคมแก่ผู้ลี้ภัย (Refugee Advice and Casework Service หรือ RACS) ได้ตำหนิข้อเสนอนี้ของกระทรวงว่า เป็นมาตรการแบบ“พ่อปกครองลูก” (paternalistic หรือการปกครองที่จำกัดอิสระของประชาชน)

“เรื่องภาษานี้สร้างความเชื่อมโยงที่ผิดๆ ระหว่างความรุนแรงในครอบครัวกับผู้ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้” คุณฮานนาห์ เกรย์ ทนายความของ อาร์เอซีเอส ผู้ประสานงานโครงการ วีแมน แอต ริสต์ (Women at Risk) ของศูนย์กล่าว

“มันยังเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า วิธีปราบปรามความรุนแรงในครอบครัว คือการทำให้ยากขึ้น ที่คู่ครองซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะได้วีซ่าและกลับมาอยู่ร่วมกันกับครอบครัวของพวกเขาได้” คุณเกรย์ กล่าว

เธอยังบอกอีกว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในทั่วทุกกลุ่มภาษาและวัฒนธรรม และเป็นการ “พูดง่ายๆ เกินไป” ที่จะกล่าวว่า ปัญหานี้เลวร้ายลงจากทักษะภาษาอังกฤษของผู้ถูกกระทำ

โฆษกของกระทรวงมหาดไทย (Department of Home Affairs) กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะให้การสนับสนุนแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับใด

กระทรวงกล่าวว่า การขอคำปรึกษาจากสาธารณะจะช่วยให้ข้อมูลสำหรับการกำหนดบริบทและการนำนโนบายนี้ไปใช้งานจริง
อาร์เอซีเอส ให้ขอคำปรึกษาอย่างกว้างขวางจากผู้เชี่ยวชาญของบริการให้ความช่วยเหลือสตรีต่างๆ ซึ่งยืนยันว่า พวกเขา “ต่อต้านแข็งกร้าว” ต่อข้อกำหนดทักษะภาษาอังกฤษ

“สำหรับกลุ่มเหล่านี้ แนวคิดที่ว่าการขาดทักษะภาษาอังกฤษของผู้ถูกกระทำจากความรุนแรง ดูเหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการกล่าวโทษเหยื่อ” คุณเกรย์ กล่าว

ด้านคุณทีนา ดิกซ์สัน ผู้จัดการของเอวาวา (Australian Women Against Violence Alliance  หรือ AWAVA) กล่าวว่า ผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่างๆ ได้เมื่อพวกประสบภาวะวิกฤต

คุณเกรย์ กล่าวเสริมว่า การสอบภาษาอังกฤษ จะสร้างอุปสรรคและทำให้การได้กลับมาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวล่าช้าลงสำหรับผู้ลี้ภัย และในบางกรณีจะกีดกันอย่างสิ้นเชิงที่จะให้ครอบครัวต่างๆ ได้กลับมาอยู่ร่วมกัน

“การได้กลับมาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวทำได้ยากมากอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่จะส่งผลกระทบแง่ลบอย่างมากต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย” คุณเกรย์ กล่าว

องค์กรดังกล่าวเหล่านี้ได้ร่วมกันส่งหนังสือร่วมต่อกระทรวงมหาดไทย โดยแสดงความต่อต้านอย่างแข็งขันต่อนโยบายที่ว่า

แผนปฏิรูปนี้ถูกประกาศออกมาโดยเป็นส่วนหนึ่งของร่างงบประมาณแผ่นดินปี 2020-2021 รัฐบาลปิดรับการแสดงความเห็นต่อข้อเสนอนี้ในวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา

กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ตอบกลับสำหรับคำถามต่างๆ ที่ส่งไปถามในประเด็นเหล่านี้
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 




Share
Published 12 April 2021 1:26pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends