ควรทำให้การบังคับควบคุมเป็นความผิดอาญาหรือไม่

ขณะที่เอสบีเอสเผยแพร่สารคดีโทรทัศน์ชุด See What You Made Me Do ที่เกี่ยวกับการข่มเหงในความสัมพันธ์ สตรี 4 คน ได้แสดงความเห็นของพวกเธอเกี่ยวกับการบังคับควบคุม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งก่อนเกิดการฆาตกรรมอันเป็นผลจากความรุนแรงในครอบครัว

Nemat Kharboutli, Manjula O'Connor, Nicole Lee and Jasmine*.

Clockwise from top left: Nemat Kharboutli, Manjula O'Connor, Nicole Lee and Jasmine*. Source: SBS News

คำเตือน: บทความนี้มีเนื้อหาที่บรรยายถึงลักษณะของการบังคับควบคุมและความรุนแรงในครอบครัว

การบังคับควบคุมเป็นรูปแบบพฤติกรรมอย่างจงใจของการข่มเหง ที่สามารถแยกคู่ครองของตนให้อยู่โดดเดี่ยวจากเพื่อนฝูงและครอบครัว จำกัดการไปไหนมาไหน และทำให้ถูกเฝ้าจับตามอง

มันอาจรวมไปถึง การใช้พฤติกรรมครอบงำทางอารมณ์และจิตใจของเหยื่อ ไปพร้อมกับการข่มเหงทางสังคม การเงิน และการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการข่มเหง

แต่ขณะที่ผู้ทำงานปกป้องความรุนแรงในครอบครัวในออสเตรเลีย ต่างเห็นด้วยว่า พฤติกรรมบังคับควบคุมในความสัมพันธ์เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรจึงจะดีที่สุด

ผู้ทำงานในช่วยเหลือเหยื่อที่รอดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัวเกรงว่า อาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ตามมาจากการทำให้การบังคับควบคุมเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ชุมชนชายขอบ

ในนิวเซาท์เวลส์ หลังการไต่สวนหาความจริงของรัฐสภา คณะกรรมาธิการมีกำหนดจะให้คำแนะนำเรื่องนี้ในเดือนหน้า ขณะเดียวกัน คณะทำงานเฉพาะกิจอิสระในควีนส์แลนด์กำลังขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายด้านการบังคับควบคุมและมีกำหนดจะรายงานเรื่องนี้ในเดือนตุลาคม

ในขณะนี้นั้น ขณะที่บางรัฐและมณฑลในออสเตรเลียตระหนักถึงพฤติกรรมการบังคับควบคุมภายใต้กฎหมายแพ่ง แต่แทสเมเนียเป็นเพียงรัฐเดียวที่ได้กำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา โดยเฉพาะสำหรับบางองค์ประกอบของการบังคับควบคุมในความสัมพันธ์ แต่การใช้กฎหมายนี้นั้นมีเพียงไม่กี่กรณี

จัสมิน*เคยถูกบังคับควบคุมในความสัมพันธ์

Jasmine (not her real name)
Source: SBS News
จัสมิน (นามสมมติ) ย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียเมื่อสองปีก่อน เพื่อแต่งงานกับชายผู้หนึ่งที่เธอได้พบในอินเดีย

หญิงวัย 30 ปีผู้นี้ กล่าวผ่านล่ามว่า ชายคนดังกล่าวใช้เวลาจีบเธอนานหลายเดือน แต่จากนั้นเธอรู้สึกว่าถูกเขาควบคุม ก่อนทั้งสองแต่งงานกัน เขาขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย หากเธอทิ้งเขาไป

“ครั้งหนึ่ง เขาบอกฉันว่า ‘ผมจะเดินทางลงทะเลให้จมน้ำตายเดี๋ยวนี้เลย หากคุณไม่ย้ายมาอยู่ที่นี่กับผม’ ฉันรู้สึกหวาดกลัวแต่ก็สงสารเขา

ขณะที่ในช่วงแรกๆ ที่พวกเขาอยู่ด้วยกันนั้น “ก็โอเคดี” แต่จัสมินกล่าวว่า จากนั้นไม่นาน เธอรู้สึกโดดเดี่ยวและเหมือนถูกหลอกใช้

“เขามักบังคับร่วมเพศกับฉัน และไม่มีสิ่งอื่นใดเลย ไม่มีการพูดคุยกันเรื่องอื่น อย่างเดียวที่เขาต้องการคือการร่วมเพศ”

เธอกล่าวว่า เขาเอาโทรศัพท์มือถือของเธอไป เพื่อไม่ให้เธอติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนของเธอ และมาบัดนี้เองที่เธอเพิ่งตระหนักว่า ในตอนนั้นเธอกำลังประสบรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมการบังคับควบคุม
การบังคับควบุคมเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด ก่อนเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมคู่ครอง

จากการตรวจสอบล่าสุดในนิวเซาท์เวลส์พบว่า ผู้ก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว 77 คนจากทั้งหมด 78 คนที่สังหารคู่ครองของตน เคยมีพฤติกรรมการบังคับควบคุมในความสัมพันธ์

แมนจูลา โอคอนเนอร์ ทำงานช่วยเหลือผู้รอดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัว

Manjula O'Connor
Source: SBS News
ดร.แมนจูลา โอคอนเนอร์ เป็นจิตแพทย์ ที่ทำงานกับผู้หญิงที่มีพื้นเพจากเอเชียใต้เป็นส่วนใหญ่

เธอมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานกับผู้รอดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัว และเชื่อว่าการทำให้การบังคับควบคุมเป็นความผิดทางอาญาจะช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้

“ประโยชน์สูงสุดคือ ผู้ก่อเหตุจะรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับ มันเป็นความผิดทางอาญา” ดร.โอคอนเนอร์ กล่าว

“คุณไม่สามารถจับใครเป็นตัวประกันหรือควบคุมจิตใจหรือชีวิตของใครได้”

“ผู้ก่อเหตุจะรู้ว่า พวกเขาไม่สามารถข่มขู่ใครได้ และมันจะชี้ทิศทางให้แก่ศาลและผู้พิพากษา และแน่นอนว่า ให้แก่ชุมชนด้วย”

“คนไข้ของฉันหลายคนบอกกับฉันว่า ความเข้าใจว่าการบังคับควบคุมคืออะไรนั้น ช่วยพวกเขาอย่างมากในกระบวนการบำบัด มันเป็นการยอมรับว่า สิ่งที่พวกเขาได้ทนทุกข์ทรมานมาโดยที่ไม่รู้เลยว่าคืออะไรนั้น ความจริงแล้วเป็นความรุนแรงในครอบครัว”

นิโคล ลี ถูกระบบทำให้ผิดหวัง

Nicole Lee
Source: SBS News
แต่นิโคล ลี นักเคลื่อนไหวเพื่อผู้ทุพพลภาพและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว เป็นห่วงว่า การทำให้การบังคับควบคุมเป็นความผิดทางอาญานั้นอาจส่งผลที่ไม่พึงประสงค์

คุณ ลี ผ่าน 10 ปีของการถูกกระทำจากเงื้อมือของอดีตคู่สามี เธอเป็นผู้ที่มีความทุพพลภาพ และสามีของเธอเป็นผู้ดูแลเธอในขณะนั้น

“มีพวกเราหลายคนที่เคยได้รับผล จากระบบที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์และถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายพวกเรา”

“และฉันเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ที่ผู้ข่มเหงฉันเรียกตำรวจมาและให้ตำรวจนำตัวฉันไปภายใต้กฎหมายด้านสุขภาพจิต”

เธอกล่าวว่า มันทำลายความไว้วางใจของเธอต่อตำรวจ เนื่องจากพวกเขาได้เชื่อว่าเธอเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง แทนที่จะเป็นเหยื่อที่ตอบโต้ต่อความรุนแรง

“นั่นเป็นหนึ่งในความกลัวของฉันเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ผู้หญิงมักถูกป้ายสีว่าจู้จี้ขี้บ่น ว่าเป็นคนบ้า ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ตีโพยตีพาย และจนกว่าพวกเราจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ฝังลึกอยู่ในชุมชนเกี่ยวกับผู้หญิง เราจะต้องพบกับปฏิกิริยาตอบสนองเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากระบบ”

“ระบบนั้นมีความเข้าใจที่จำกัดมากเกี่ยวกับความชอกช้ำทางจิตใจที่ทำให้ผู้คนมีปฏิกิริยาตอบสนองไปในรูปแบบต่างๆ และกฎหมายด้านการบังคับควบคุมอาจส่งผลเสียต่อบุคคลที่กฎหมายพุ่งเป้าที่จะช่วยเหลือ”

อดีตสามีของคุณลีนั้นต่อมายอมรับผิดต่อการข่มเหงดังกล่าว และถูกตัดสินจำคุกสองปีครึ่ง

เธอเชื่อว่า คำตอบอยู่ที่ระบบการตอบสนองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชุมชน ไปจนถึงการปฏิรูปอย่างเต็มรูปเกี่ยวกับระบบศาลและกระบวนการทางกฎหมาย

องค์กรของ เนมัต คาร์บูตลิ ช่วยเหลือผู้หญิงในภาวะวิกฤต

Nemat Kharboutli
Source: SBS News
คุณ เนมัต คาร์บูตลิ เป็นตัวแทนสตรีมุสลิมแห่งออสเตรเลีย (Muslim Women Australia) ซึ่งเป็นองค์กรด่านหน้าที่ให้ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เธอกล่าวว่า การกำหนดเป็นกฎหมายให้การบังคับควบคุมเป็นการกระทำผิดที่แยกต่างหาก ควรเป็นกลไกหนึ่งของการปกป้องผู้หญิงและเด็ก

องค์กรของเธอเคยเห็นตัวอย่างเหตุการณ์มากมาย ที่ผู้หญิงมาถึงยังที่พักฉุกเฉิน แต่กลับถูกระบุชี้ว่าเป็นบุคคลหลักที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

“สถานการณ์ที่พบบ่อยที่เราเคยเห็นมาคือ ผู้หญิงคนหนึ่งเดินออกจากความรุนแรงในครอบครัว แล้วไปยังที่พักฉุกเฉิน และตำรวจใช้กำลังนำตัวเธอออกไปจากที่พักฉุกเฉิน เพราะมีหลักฐานการกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อลูกๆ”

“สิ่งที่เรากำลังพบในชุมชนหลากวัฒนธรรมคือ บางครั้งผู้หญิงต้องประสบกับการถูกทำให้ต้องเงียบเฉย จากการปราบปรามผู้กระทำผิด”

“บางครั้ง มันเพราะการที่ไม่มีใครเชื่อพวกเขา หรือเพราะพวกเขาต้องการให้ความรุนแรงยุติในทันที และต้องการได้รับความช่วยเหลือในตอนนั้นเลย แต่ไม่ต้องการผ่านกระบวนการทางอาญาที่ยืดเยื้อเกินความจำเป็น”

เธอกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปทางวัฒนธรรมอย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยให้มีการฝึกอบรมในทุกด้านของระบบยุติธรรม รวมทั้ง ให้มีโครงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการให้การศึกษาแต่ชุมชน

ดร.โอคอนเนอร์ ตระหนักถึงความท้าทายต่างๆ เหล่านี้เช่นกัน แต่กล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้ไม่ใข่สิ่งที่จะก้าวข้ามไปไม่ได้”

“อันอาจใช้เวลา 3-4 ปีกว่าที่จะนำไปใช้ได้จริง แต่เราไม่สามารถเลิกล้มได้ เพียงเพราะมันดูเหมือนจะยากเกินไป”

“รัฐบาลของเราจำเป็นต้องลงทุนในการฝึกอบรมสำหรับตำรวจ ฝ่ายตุลาการ และสำหรับชุมชน”

สารคดีของสถานีโทรทัศน์เอสบีเอสชุด See What You Made Me Do ออกอากาศครั้งแรก วันพุธที่ 5 พฤษภาคมนี้ เวลา 20.30 น.ทางช่องโทรทัศน์เอสบีเอสหรือชมฟรีออนไลน์ทาง SBS on Demand



หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน โทร. 000

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ

Lifeline โทร. 13 11 14 หรือ

Kids Helpline โทร. 1800 55 1800 หรือ  (บริการปรึกษา 24 ชั่วโมงสำหรับเยาวชน)

สายด่วนแห่งชาติแจ้งการกระทำทารุณและละเลยทอดทิ้งผู้พิการ โทร. 1800 880 052


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 10 May 2021 4:29pm
By Lin Evlin
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends