ประเด็นสำคัญในบทความ
- ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นอีก 0.5% เป็น 2.35%
- บอร์ดธนาคารสำรอง ฯ ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นอีกร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 และเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ในความพยายามของธนาคารสำรอง ฯ เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ
ดร.ฟิลิป โลว์ (Dr.Philip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ กล่าวว่า บอร์ดธนาคารสำรอง ฯ ได้ให้คำมั่นในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในเป้าหมายที่ระหว่างร้อยละ 2-3
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในวันนี้จะช่วยนำอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในเป้าหมาย และสร้างสมดุลที่ยั่งยืนของอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย” ดร.โลว์ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ก.ย.)
จิม ชาลเมอส์ (Jim Chalmers) รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลสหพันธรัฐ ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวคือ “ข่าวที่สร้างความลำบากใจ” สำหรับผู้ถือสินเชื่อที่พักอาศัยจำนวนมาก
“มันเป็นเรื่องยาก สิงนี้จะทำให้ต้องรัดเข็มขัดงบประมาณครัวเรือน มันจะสร้างแรงกดดันต่อชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่กำลังตึงตัวมากพอแล้ว” รัฐมนตรีชาลเมอส์ กล่าวในรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.)
“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานครึ่งเปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเจ้าของบ้านโดยทั่วไปที่มียอดสินเชื่อที่พักอาศัยคงเหลือ $330,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดเพิ่มอีกประมาณเดือนละ $95 ดอลลาร์”
“สำหรับชาวออสเตรเลียที่มียอดสินเชื่อที่พักอาศัยคงเหลือราว $500,000 ดอลลาร์ นั่นจะเป็นค่างวดอีก $145 ดอลลาร์ที่ต้องจ่ายเพิ่มจาก $475 ดอลลาร์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม”
ทำไมอัตราดอกเบี้ยจึงเพิ่มแบบก้าวกระโดด
แม้ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ คาดไว้เมื่อปีก่อนไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะไม่ปรับขึ้นจนกระทั่งอย่างน้อยปี 2024 แต่ก็ได้มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในความพยายามของธนาคารสำรอง ฯ เพื่อรับมือกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว
สกอตต์ ฟิลิปส์ (Scott Phillips) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนจากบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน มอทลีย์ ฟูล ออสเตรเลีย (Motley Fool Australia) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีตนั้น “เคยได้ผลค่อนข้างดีในการขจัดภาวะเงินเฟ้อ”
“ปัญหาก็คือมันเจ็บปวดมากในระหว่างนั้น และธนาคารสำรอง ฯ ก็มีทางเลือกที่เลวร้ายอยู่สองอย่าง” คุณฟิลิปส์ กล่าว
“พวกเขาอาจจะปล่อยให้เงินเฟ้อลอยสูงแล้วก็ทบขึ้นไปจากอัตราที่สูงนั้น ซึ่งอาจจะนานหลายปี หรือไม่ก็พยายามและสร้างความเจ็บปวดในตอนนี้ ไม่ใช่เพราะอยากทำให้ใครเจ็บ แต่พวกเขารู้ว่าอย่างน้อยมันก็เป็นวิธีที่ได้ผลในอดีตในการขจัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว”
เมื่อไหร่อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะหยุดเพิ่มขึ้น
มีความเป็นไปได้น้อยที่ธนาคารสำรอง ฯ จะหยุดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่บอร์ดธนาคาร ฯ ได้ให้สัญญาณว่าอาจจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง “ภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”
“ขนาดและช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะถูกชี้นำโดยข้อมูลต่าง ๆ และการประเมินของบอร์ดธนาคาร ฯ ต่อแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน” ดร.โลว์กล่าว
ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ กล่าวอีกว่า มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดในปลายปีนี้ จากนั้นจะลดลงสู่ระยะเป้าหมายในภายหลัง แต่ก็ได้ชี้ว่าภาคการใช้จ่ายในครัวเรือนนั้นยังคงเป็น “แหล่งสำคัญของความไม่แน่นอน”
แต่คุณฟิลิปส์กล่าวว่า ระหว่างที่ประเทศอื่นในโลกกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงกว่าออสเตรเลีย เขาคาดว่าธนาคารสำรอง ฯ จะยังคงดำเนินแนวทางที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ต่อไป
“ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ที่ RBA ยังคงยิงปืนออกไปก่อนแล้วค่อยถามคำถามทีหลัง ผมคิดว่าพวกเขาจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้แน่ใจว่าขจัดภัยเงินเฟ้อ มากกว่าที่ปล่อยง่ายเกินไปจนมันหลุดรอดไปได้” คุณฟิลิปส์กล่าว
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง
เดเมียน รอยแลนซ์ (Damien Roylance) กรรมการผู้จัดการจากบริษัทด้านสินทรัพย์และการเงินเอ็นทูเรจ (Entourage) กล่าวว่า หนทางเดียวในการนำร่องผ่านอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นั่นคือการสอบถามกับทางสถาบันการเงินเพื่อหาบริการทางการเงินที่ดีกว่า
“ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสินเชื่อตัวใหม่และสินเชื่อตัวเก่าอาจสูงถึง 1% ซึ่งหมายความว่ายิ่งคุณอยู่กับธนาคารของคุณนานเท่าไรก็ยิ่งเป็นไปได้ว่าจะต้องจ่ายมากขึ้นเกินกว่าจำเป็น” คุณรอยแลนซ์กล่าว
แต่ถึงแม้ดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ คุณรอยแลนซ์กล่าวว่า อาจเป็นการดีกว่าที่ผู้ถือสินเชื่อจะนำเงินสำรองที่มีอยู่เข้าไปยังบัญชีออฟเซ็ต ซึ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยโดยรวมที่ผู้ถือสินเชื่อบ้านต้องจ่าย และอาจหมายถึงการจ่ายค่างวดเพื่อปิดยอดสินเชื่อบ้านได้เร็วขึ้น
คุณรอยแลนซ์ กล่าวอีกว่า การรีไฟแนนซ์สินเชื่อของคุณอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
“ตอนนี้ธนาคารหลายแห่งกำลังพยายามดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นในระดับต่ำ และข้อเสนอคืนเงินสำหรับสินเชื่อรีไฟแนนซ์” คุณรอยแลนซ์กล่าว
“หากคุณถือสินเชื่ออยู่กับธนาคารเดียวเป็นระยะหนึ่ง ตอนนี้ก็อาจจะเป็นเวลาที่ดีในการมองหาทางเลือกอื่น และดูว่าคุณจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากธนาคารอื่นหรือไม่”
แต่ คุณปีเตอร์ ไวท์ (Peter White) กรรมการผู้จัดการสมาคมนายหน้าการเงินแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานครั้งล่าสุดทำให้ผู้กู้ยืมพบว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะรีไฟแนนซ์” สินเชื่อที่ถืออยู่ และต้องติดอยู่ใน “พันธนาการสินเชื่อ”
“พูดอีกอย่างก็คือ พวกเขาถูกบังคับให้อยู่กับผู้ปล่อยสินเชื่อรายเดิมไม่ว่าจะถูกเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม เพราะพวกเขาไม่ได้รับการประกันสินเชื่อตัวใหม่เนื่องจากอัตราประเมินใบสมัครของพวกเขา ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1-2% มากกว่าอัตราดอกเบี้ยจริง” คุณไวท์กล่าว
คุณไวท์ กล่าวว่า ผู้กู้ยืมที่มีความกังวลเกี่ยวกับค่างวดที่เพิ่มขึ้นควรติดต่อนายหน้ากู้บ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อพูดคุณเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขา
“นายหน้ากู้บ้านมีข้อผูกมัดทางกฎหมายในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้กู้ยืม ภายใต้กฎหมายว่าด้วยหน้าที่เพื่อผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ธนาคารไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
รายงานเพิ่มเติมโดย คุณแฮนนา ควอน (Hannah Kwon)
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รัฐบาลออสฯ เพิ่มเพดานรับผู้อพยพสูงสุด 195,000 คน ทุ่มงบ 36 ล้านสะสางวีซ่าคั่งค้าง