ราคากาแฟเซเว่นขึ้น $1 ดอลลาร์ สะท้อนปัญหาผู้ไร้บ้านและสวัสดิการรัฐ

กาแฟ $1 ดอลลาร์ของร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” จะเพิ่มราคาเป็น $2 ดอลลาร์หลังวันที่ 4 ต.ค.นี้ การขึ้นราคาครั้งนี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการแก้ปัญหาผู้ไร้บ้านในออสเตรเลีย

7-Eleven logo with man selling the Big Issue magazine.

Lionel Farnham, who's sold The Big Issue for 25 years, says many homeless Australians won't be able to afford $2 coffees. Credit: supplied image and Getty.

กาแฟร้อนราคา $1 เมนูยอดนิยมในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น จะเพิ่มราคาขึ้นเป็น $2 ดอลลาร์ โดยเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 13 ปี และคาดว่าราคาใหม่จะมีผลในวันอังคารที่ 4 ต.ค.นี้

การปรับราคาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ที่ผ่านมา

ขณะที่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากยังคงเพลิดเพลินกับกาแฟดังกล่าวในราคาถูก แต่สำหรับผู้ไร้บ้านจำนวนไม่น้อย การเพิ่มราคาครั้งนี้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถซื้อกาแฟได้อีก

ลิโอเนล ฟาร์นแฮม (Lionel Farmham) จำหน่ายหนังสือพิมพ์ เดอะ บิ๊ก อิชชู (The Big Issue) หนังสือพิมพ์ท้องถนนของออสเตรเลียที่ให้โอกาสผู้ไร้บ้านและผู้ด้อยโอกาสในสังคมในการหางานทำ เขาจำหน่ายหนังสือพิมพ์นี้อยู่บนทางเท้าหน้าผับ ยัง แอนด์ แจ็คสัน (Young and Jackson) มาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว

คุณฟาร์นแฮมเป็นผู้ไร้บ้านจนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลซาลเวชัน อาร์มี (Salvation Army) เมื่อไม่กี่ปีก่อน กล่าวว่า สำหรับผู้ไร้บ้านนั้น การได้รับเครื่องดื่มร้อน ๆ จากผู้คนบนท้องถนนนั้น “เป็นเรื่องน่ายินดี”

“มันเป็นเรื่องดีที่มีเครื่องดื่มร้อน ๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาว” คุณฟาร์นแฮมกล่าว

“นั่นเพราะผู้ไร้บ้านต้องอยู่ท่ามกลางอากาศเย็น และการได้กาแฟสักแก้วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี”

“เครื่องดื่มร้อนราคาแก้วละ $1 ดอลลาร์ก็พอซื้อได้ แต่ถ้า $2 ดอลลาร์มันก็คงเป็นเรื่องยาก”

คุณฟาร์นแฮมกล่าวอีกว่า ผู้ไร้บ้านมักจะ “ไม่ได้รับเงินเลย” เขาอธิบายว่าผู้ไร้บ้านจำนวนมาก “อับอายเกินไป” ที่จะขอรับความช่วยเหลือจากเซ็นเตอร์ลิงก์ (Centrelink) ส่วนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้วนั้น เงินสวัสดิการที่ได้รับก็ “ไม่เพียงพอเลย”

“พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ” คุณฟาร์นแฮมกล่าว

เสียงเรียกร้องเพิ่มเงินสวัสดิการผู้ว่างงานให้สูงขึ้น

เจนนี สมิธ (Jenny Smith) ประธานองค์กรผู้ไร้บ้านออสเตรเลีย (Homelessness Australia) กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากต้องเลือกระหว่างมีอาหารกินกับมีเงินจ่ายค่าเช่า ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากเงินสวัสดิการของรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ

คุณสมิธกล่าวว่า ความกดดันจากค่าครองชีพ “กำลังสร้างแรงกดดัน” ต่อชาวออสเตรเลียที่มีเงินได้ในระดับต่ำสุด และกำลังเรียกร้องให้เซ็นเตอร์ลิงก์เพิ่มเงินสวัสดิการจากวันละ $45 ดอลลาร์เป็นวันละ $70 ดอลลาร์
เธอกล่าวว่า การดำรงชีวิตด้วยเงิน $45 ดอลลาร์นั้น “เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึง”

“ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับผู้มีรายได้น้อยในออสเตรเลีย” คุณสมิธกล่าว

“เรื่องการปรับราคาขึ้นที่คุณกำลังพูดถึง (การขึ้นราคากาแฟของเซเว่นอีเลฟเว่น) ถือเป็นเรื่องแย่อีกเรื่องในสถานการณ์ที่ยากลำบาก”

คุณสมิธกล่าวอีกว่า สภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลีย (ACOSS) ก็กำลังเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าเช่าที่พักอาศัย จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ $10 ดอลลาร์ให้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ $15 ดอลลาร์

“มันยังคงเป็นเงินได้ในระดับต่ำ ขณะที่มูลค่าของเงินเหล่านั้นก็มีเพียงแต่จะลดลงไป” คุณสมิธกล่าว

“แต่ในตอนนี้นับว่ามันเป็นเรื่องน่าอัปยศ”

คุณสมิธกล่าวว่า แม้อัตราเติบโตค่าจ้างเป็นเรื่องลำดับแรกในการอภิปรายของรัฐบาลปีนี้ แต่ก็ได้กล่าวอีกว่า “ยังไม่มีการพูดถึงการขึ้นค่าจ้างสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด”

โครงการผู้ไร้บ้านสู่ผู้มีบ้าน (From Homeless to a Home)

คุณแอนดรูว์ (Andrew) เป็นผู้ไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และก่อนหน้านี้อาศัยรถตู้เป็นบ้าน เขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผู้ไร้บ้านสู่ผู้มีบ้าน (H2H) ซึ่งต่อมาเขาได้รับความช่วยเหลือให้มีที่พักอาศัยซึ่งต้องออกค่าใช้จ่ายเองครึ่งหนึ่ง และเงินสวัสดิการจากเซ็นเตอร์ลิงก์ของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

คุณแอนดรูว์ กล่าวว่า เงินสวัสดิการจากเซ็นเตอร์ลิงก์ “น้อยเกินไป” ที่ผู้คนจะประทังชีวิตได้ และเขาก็ซื้อสิ่งของจำเป็นพื้นฐานได้ก็ต่อเมื่อเงินสวัสดิการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

“มันยากที่จะประทังชีวิตด้วยเงินสวัสดิการในระดับปกติ เพราะคุณต้องจ่ายค่าที่พักให้โรงแรม” คุณแอนดรูว์ กล่าว

“แต่เมื่อพวกเขาเพิ่มเงินสวัสดิการขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงโควิด มันเหมือนฟ้าประทานจริง ๆ ผมมีเงินซื้ออาหารและจ่ายค่ามือถือให้ใช้ต่อได้”

คุณแอนดรูว์ไม่คิดว่าการเพิ่มเงินเซ็นเตอร์ลิงก์จะเป็นเรื่องของการ “มอบไลฟ์สไตล์ใหม่อันยอดเยี่ยม” แต่เขามองว่าเป็นเรื่องของการให้โอกาสผู้คน “ในการมีชีวิตรอด”

เขาเล่าอีกว่า เมื่อใครสักคนเป็นผู้ไร้บ้าน กาแฟนั้นถือเป็น “ความหรูหรา” อันที่จริงแล้ว แม้กระทั่งอาหารก็ถือว่าเป็นความสำคัญอันดับ 3 ที่อยู่ตามหลังเรื่องสำคัญกว่าอย่างการหาที่พักพิง และการหาห้องน้ำใช้

“สิ่งที่ผู้คนเห็นแย้งกัน (ในเรื่องการขึ้นเงินสวัสดิการ) ก็คือการที่คนจะสุขสบายมากเกินไป และจะไม่พยายามมีส่วนร่วมในสังคมหรือในระบบเศรษฐกิจ และไม่หางานทำ” คุณแอนดรูว์กล่าว

“แต่ผมคิดว่า ความเป็นจริงก็คือจำนวนเงิน (สวัสดิการ) ที่จ่ายนั้นไม่ครอบคลุมค่าครองชีพจริง ๆ ซึ่งรวมถึงค่าที่พักอาศัยหรือค่าอาหารด้วย รวมถึงไม่ครอบคลุมการติดต่อกับใครด้วยโทรศัพท์มือถือ เพราคุณมีนัดมากมายที่คุณต้องเข้าพบ รวมถึงนัดกับหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และอะไรทำนองนั้น”

คุณแอนดรูว์บอกว่า เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นร้านโปรดของเขาเมื่อเขาเป็นผู้ไร้บ้าน

“เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นร้านโปรดของผมในช่วงที่เป็นผู้ไร้บ้านก็ว่าได้ นั่นก็เพราะกาแฟราคา $1 ดอลลาร์ มันถือเป็นความหรูหราที่ผมซื้อได้” คุณแอนดรูว์กล่าว
ในปี 2020 ก่อนที่การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้น มีผู้คนมากกว่า 300 คนต้องหลับนอนอยู่ข้างถนนในเมลเบิร์นทุกคืน

อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องหลับนอนอยู่ในรถ หรือนอนอยู่บนโซฟาที่บ้านของคนอื่น และอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่แออัดอย่างรุนแรง

จากการสำรวจสำมะโนประชากร (Census) โดยสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) เมื่อปี 2016 ได้บันทึกจำนวนผู้ไร้บ้านในเขตเมืองเมลเบิร์น 1,725 คน ขณะที่ทัวร์ออสเตรเลียนั้นมีผู้คนที่ได้รับการจัดให้เป็นผู้ไร้บ้านจำนวน 116,427 คน

โดยเฉลี่ยแล้ว ในจำนวนชาวออสเตรเลียทุก ๆ 1,000 คน จะมีจำนวนผู้ไร้บ้านอยู่ประมาณ 5 คน

เซเว่นอีเลฟเว่นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงราคากาแฟร้อนดังกล่าวเป็นผลจาก “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทุกส่วน ซึ่งทำให้ราคาในปัจจุบันไม่มีความยั่งยืน”

“เราเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นการเพิ่มราคาเพียงเล็กน้อย เราให้ความสำคัญกับคุณและการสนับสนุนของคุณอย่างต่อเนื่อง และเราหวังว่าจะได้พบกับคุณอีกครั้งในร้านค้าของเราเร็ว ๆ นี้” เซเว่นอีเลฟเว่นโพสต์ในเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ เซเว่นอีเลฟเว่น ได้รับการติดต่อเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า จะมีกลยุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ไร้บ้านรวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งต้องพึ่งพากาแฟราคา $1 ดอลลาร์หรือไม่


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 31 August 2022 6:27pm
By Tom Canetti
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends