สัญญาณหลายอย่างบ่งชี้ว่าเดือนหน้า RBA จะขึ้นดอกเบี้ย

มีหลายปัจจัยที่ธนาคารกลางออสเตรเลียจะนำมาพิจารณาตัดสินใจว่าจะลด เพิ่ม หรือคงอัตราดอกเบี้ย

Shoppers browse goods for sale at a retail store

Inflation is a major factor in the RBA's decision making. Source: AAP / Jane Dempster

ประเด็นสำคัญ
  • ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียจะจัดการประชุมคณะกรรมการวันอังคารหน้า
  • ในการประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.1
  • จากข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าเดือนนี้อาจมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียหรืออาร์บีเอ (RBA) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ธนาคารกลางตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้

แต่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน และการใช้จ่ายการค้าปลีก อาจเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปของ RBA ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคือ

ปัจจัยด้านเงินเฟ้อ

สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสล่าสุด

ซึ่ง CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในช่วงไตรมาสเดือนกันยายน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ต่อปี

จากข้อมูลของ ABS ชี้ว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญที่สุดในช่วงไตรมาสดังกล่าว ได้แก่ น้ำมันรถยนต์ (ร้อยละ 7.2) ไฟฟ้า (ร้อยละ 4.2) ค่าเช่า (ร้อยละ 2.2) และการซื้อที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 1.3)

Line graph showing Australia's annual inflation
Consumer prices rose 1.2 per cent over the three months to September, making a 5.4 per cent increase over the past 12 months. Source: SBS
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ไอแซค กรอสส์ กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์ว่า

อัตราเงินเฟ้อเป็น "สถิติที่สำคัญที่สุดเพียงประการเดียวที่ RBA ใช้พิจารณา" ในการตัดสินใจว่าจะลดลง เพิ่ม หรือคงอัตราดอกเบี้ย

“และช่วงนี้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่ RBA คาดไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อนในตอนที่ธราคารกลางตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้”

และนี่เป็นปัจจัยที่ RBA จะต้องนำมาพิจารณาอย่างแน่นอน และเป็นเหตุผลที่ใช้ในการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ไอแซค กรอสส์ จากมหาวิทยาลัยโมนาช

“นั่นเป็นเพราะไม่เพียงแต่ตัวเลขจะสูงกว่าที่คาดไว้เท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่เสถียรอยู่มาก หากตัวเลขดังกล่าวสูงในไตรมาสเดือนกันยายน ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในไตรมาสเดือนธันวาคมเช่นกัน”

“ดังนั้น ความจริงที่ว่าเราเห็นข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อลดลงนั้นมันไม่แน่นอนอย่างที่เราเคยคิดไว้”

ปัจจัยการว่างงาน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ RBA นำมาพิจารณา แม้ว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อก็คือการว่างงาน

จากข้อมูลของ ABS ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ ชี้ว่าในเดือนกันยายน อัตราการว่างงานของประเทศลดลงเหลือร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.7

ในช่วงเดือนกันยายน มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 7,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 20,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่า 63,300 ตำแหน่งของเดือนก่อนหน้า


อัตราการจ้างงานที่ไม่มากเท่าที่คาดการณ์นั้นส่วนใหญ่มาจากคนสมัครทำงานตำแหน่งงานพาร์ทไทม์ซึ่งเพิ่มขึ้น 46,500 ตำแหน่ง ในขณะที่ตำแหน่งงานเต็มเวลาลดลง 39,900 ตำแหน่ง อาจารย์กรอสส์ ชี้ว่า

“อัตราการว่างงานยังต่ำมาก”

 “มันไม่ได้ต่ำเหมือนเมื่อก่อน … แต่แน่นอนว่า เรายังไม่เห็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือการชะลอตัว”

“ผมคิดว่านั่นเป็นข่าวที่น่ายินดี อัตราเงินเฟ้อยังคงสูง และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจของออสเตรเลียก็ยังทรงตัวอยู่ได้”

ปัจจัยจากการใช้จ่ายของประชาชน

แม้ว่าการใช้จ่ายของการค้าปลีกจะไม่ "สำคัญ" เท่าตัวเลขเงินเฟ้อหรืออัตราการว่างงาน ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของ RBA แต่ปัจจัยด้านนี้ก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำมาประกอบการพิจารณา" อาจารย์กรอสส์ เปิดเผย

ตัวเลขที่เผยแพร่โดย ABS เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าในเดือนกันยายน ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 0.9% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่มีการประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% และมีการใช้จ่ายมากขึ้น ในเดือนก่อนหน้า 0.3%

แม้ว่าตัวเลขด้านนี้ในเดือนกันยายนจะดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา แต่ผลจากการใช้จ่ายที่ซบเซามาเกือบทั้งปีทำให้มูลค่าการค้าปลีกยังคงต่ำเป็นประวัติการณ์


อาจารย์ กรอสส์ วิเคราะห์ว่า

“โดยทั่วไป ตัวเลขการค้าปลีกจะอ่อนตัวลงหลังจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด เนื่องจากประชาชนจะเหมาซื้อทุกอย่างที่ห้างนำมาขาย”

“แต่ในเดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการค้าปลีกเหล่านั้นเพิ่มขึ้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนเดียว”

“คุณคงไม่อยากตั้งความหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงเดือนเดียว แต่ตัวเลขการเพอ่มขึ้นของการจับจ่าย 0.9 เปอร์เซ็นต์ นั้นดีกว่ามันเป็นศูนย์หรือติดลบ ดังนั้นมันจึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเราไม่อ่อนแอ”

RBA จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าหรือไม่?

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ไอแซค กรอสส์ กล่าวว่า

มีแนวโน้มที่ RBA จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่จะคงที่ไว้
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ไอแซค กรอสส์ จากมหาวิทยาลัยโมนาช

“การคาดเดาการตัดสินใจของ RBA นั้นไม่ง่าย แต่ผมคิดว่ามันมีรูปแบบของการตัดสินใจที่พวกเขาอาจจะรอตัวเลขเงินเฟ้อรายไตรมาส และจากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะลด ขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ยไว้” เขากล่าว

“ดังนั้น ผมคิดว่ามันจะเป็นการดำเนินการในกรอบการทำงานของพวกเขาที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน และจะส่งสัญญาณว่าหากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง พวกเขาอาจต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก”

อาจารย์ กรอสส์กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน RBA อาจจะ "แง้มประตูไว้" เพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

“ท้ายที่สุดแล้ว การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วจะขึ้นอยู่กับข้อมูลจากปัจจัยต่างๆ ที่ RBA ใช้พิจารณา ”

“ถ้าพวกเขาเห็นค่ากาแฟ ค่าใช้จ่ายในการออกไปข้างนอก ค่าใช้ประจำวันที่มากขึ้นเรื่อยๆ ฉันคิดว่านั่นคงเป็นสัญญาณว่าพวกเขาน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง”

เมื่อไหร่อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มลดลง?

หากอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “เราจะได้เห็นการสิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน” อาจารย์ ไอแซค กรอสส์ กล่าว

ผมไม่คิดว่า RBA จะทำแบบนั้นทันทีที่แต่แน่นอนว่า หากสิ่งต่างๆ คลี่คลายเร็วกว่าที่คาดไว้ เราก็อาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปี
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ไอแซค กรอสส์ จากมหาวิทยาลัยโมนาช

“มันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น” อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ไอแซค กรอสส์ จากมหาวิทยาลัยโมนาช สรุป

 รายงานเพิ่มเติมโดย AAP

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  




บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


 

Share
Published 1 November 2023 11:48am
By Amy Hall
Presented by Chayada Powell
Source: SBS


Share this with family and friends