Feature

ฮูต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ แม้พ่อแม่จะเสียเงินนับแสนเหรียญส่งมาเรียนในออสเตรเลีย

ท่ามกลางวิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ฮู บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชาวจีน กล่าวว่า การอาศัยอยู่ในเต็นท์เป็นทางเลือกด้านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวที่เขามีเงินพอจะจ่ายได้

Hu Dezu tent life

การอาศัยอยู่ในเต็นท์หมายความว่า เดซู ฮู ไม่ต้องแก่งแย่งบ้านเช่าที่มีน้อยในตลาดและค่าเช่าที่แพง เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป Source: Supplied

ประเด็นสำคัญ
  • วิกฤตค่าครองชีพกำลังบีบให้ผู้ย้ายถิ่นฐานและนักเรียนต่างชาติบางคนต้องคิดหาทางเลือกด้านที่อยู่อาศัยประเภทอื่น
  • การอาศัยอยู่ในเต็นท์ช่วยให้ผู้ย้ายถิ่นฐานและนักเรียนต่างชาติบางคนประหยัดค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์
  • นักศึกษาชาวจีนในออสเตรเลียบางคนงดการไปฉลองเทศกาลตรุษจีนกับครอบครัว เพื่อหาที่พักก่อนมหาวิทยาลัยเปิดเทอม
อาจดูแปลกที่เต็นท์เป็นที่นอนตอนกลางคืนของนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวชาวจีนมักใช้จ่ายเงินกว่า 250,000 ดอลลาร์ เพื่อส่งบุตรหลานไปรับการศึกษาในต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย

แต่เมื่อ เดซู ฮู บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจาก RMIT ได้งานแรกเป็นช่างถ่ายวิดีโอในระดับเริ่มต้นที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนในเมืองชนบทที่อยู่ห่างจากแอดิเลดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 85 กิโลเมตรนั้น เขาพบว่าพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีอะพาร์ตเมนต์หรือยูนิตให้เช่า หรือบ้านเช่าก็มีราคาแพงเกินไป

ฮูกล่าวว่า การเดินทางเป็นเวลา 2 ชั่วโมงระหว่างอะพาร์ตเมนต์ที่เขาแชร์ในแอดิเลดไปยังที่ทำงานของเขานั้น ทำให้เขาเหนื่อยล้าอย่างมาก ในขณะที่ค่าน้ำมันรายเดือน 1,000 ดอลลาร์ที่เขาต้องจ่ายก็มากเกินไป

จากนั้นไม่นาน เขาก็เริ่มจอดรถ Subaru Forrester 2006 ของเขาไว้ที่ที่ทำงานและนอนด้านหลังรถ

แต่เมื่อเสียงจากรถที่ผ่านไปมาบนถนนรบกวนเกินกว่าจะรับมือได้ เขาบอกว่าเขาเห็นคาราวาน พาร์ก (caravan park) ที่อยู่ติดกับที่ทำงาน ซึ่งค่าเช่า 90 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เขาจึงได้ไปกางเต็นท์สำหรับ 6 คนในบริเวณพื้นที่สำหรับตั้งเต็นท์ที่นั่น
Hu Dezu tent life
ชีวิตที่เรียบง่าย: ฮู กล่าวว่า คาราวาน พาร์ก ที่เขาอาศัยอยู่นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็น รวมทั้งห้องครัวที่ใช้ร่วมกัน Source: Supplied
“เมื่อมีพายุ เต็นท์ทั้งหลังจะสั่นและถูกลมพัดจนผิดรูปไป เสียงลมดังมากและใบหน้าของเราก็เหมือนถูกตบจากเต็นท์ที่ถูกลมพัดกระแทก เมื่อเรานั่งอยู่ข้างในเต็นท์” ฮูเล่า

แต่ขณะเดียวกัน ฮูบอกว่า มันก็ดีกว่าทางเลือกอื่น
ผมชื่นชอบวิถีชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ค่าครองชีพของผม (ตอนนี้) น้อยกว่า (ก่อนหน้านี้) ที่ผมจ่ายเป็นค่าน้ำมันทุกสัปดาห์
เดซู ฮู
เมื่อเดินทางมาถึงครั้งแรกในฐานะนักเรียนต่างชาติในเมลเบิร์นในปี 2018 ฮูเล่าว่าเขาจำได้ว่ารู้สึกตกใจกับราคาที่พักนักศึกษาที่ "แพงจนน่าขัน"

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้ออกวีซ่าให้แก่นักเรียนต่างชาติ 405,000 คนในปีงบประมาณปีนั้น ปัจจุบันมีนักเรียนต่างชาติมากกว่า 650,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในออสเตรเลีย

เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ออสเตรเลียมองนักเรียนต่างชาติเหมือนเป็นตัวทำเงิน โดยมองว่าพวกเขาเป็นผู้สร้างรายได้ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยและเป็นตัวส่งเสริมเศรษฐกิจ (4 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่าพวกเขาจะมีส่วนสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญต่อออสเตรเลีย แต่กลุ่มด้านที่อยู่อาศัยและสวัสดิภาพก็กล่าวว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานรวมถึงนักศึกษาต่างชาติมากขึ้นที่รู้สึกว่าตน "ตกเป็นแพะรับบาป" ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงในออสเตรเลีย
คุณ แอนดรูว์ อึ้ง สมาชิกคณะกรรมการสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ต้นเหตุมาจากนโยบายที่แย่ ไม่ใช่มาจากผู้ย้ายถิ่น

“การยกเว้นภาษี เช่น เนกาทิฟ เกียริง (negative gearing) ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น แต่การลงโทษนักลงทุนด้วยภาษีที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ที่มีในตลาด” คุณ อึ้งกล่าวกับ เอสบีเอส ภาษาจีน

คุณ สเตลลา โซ ผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของซิดนีย์ กล่าวว่า มีความต้องการเข้ามาอย่างมากในช่วงปีใหม่เพื่อให้เธอเป็นตัวแทนดำเนินการแทนผู้เช่าและเจ้าของบ้านเช่าในตลาดที่บ้านเช่าขาดแคลน

“เจ้าของบ้านกำลังเพิ่มค่าเช่าสำหรับผู้เช่าเดิมราวร้อยละ 14 แต่ถ้าเป็นผู้เช่าใหม่ ค่าเช่าก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20” คุณโซกล่าว

เธอกล่าวว่า นักเรียนต่างชาติชาวจีนพยายามหาที่พักให้เช่าตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม โดยบางคนก็งดการเฉลิมฉลองตรุษจีนปีนี้ ซึ่งโดยปกติพวกเขาจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในประเทศจีน เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดในการหาที่พัก

“เจ้าของบ้านดูเหมือนจะไม่กังวลเกี่ยวกับราคาค่าเช่าเลย เพราะพวกเขามีคนจำนวนมากแย่งชิงบ้านเช่าของพวกเขา” คุณโซกล่าวเสริม
คุณ หลิว เสี่ยวฮั่น ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวจีนกล่าวว่า เธอไม่เชื่อว่ารัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ต้นตอ

การลดจำนวนการรับผู้ย้ายถิ่นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

ช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าเช่า มีครั้งหนึ่งที่คุณหลิวและคู่ครองต้องอาศัยอยู่เต็นท์เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

แต่นับตั้งแต่นั้นมา พวกเขาได้พยายามเก็บเงินจนซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งได้สำเร็จในเมืองสแตนธอร์ป เมืองชนบทของควีนส์แลนด์ที่มีประชากร 5,000 คน
การเติบโตของจำนวนประชากรไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ... แต่สาเหตุคือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ
หลิว เสี่ยวฮั่น
8056b713-01bf-442a-ae99-1bda8b38e4f2.jpg
คุณ หลิว เสี่ยวฮั่น ผู้ย้ายถิ่นชาวจีน ที่เคยอาศัยอยู่ในเต็นท์ ช่วงที่เธอเผชิญค่าเช่าบ้านที่สูงและตลาดงานที่หายากในปี 2018 Credit: supplied
ไกลจากความสว่างไสวของเมืองใหญ่ ไกลจากการแก่งแย่งกันเพื่อจะได้ที่อยู่อาศัย และไกลจากการต้องจ่ายในราคาสูง ฮูกล่าวว่า เขารู้สึกโล่งใจที่หลุดพ้นจากวัฎจักรเหล่านั้น

“ตอนที่ผมบอกลาเพื่อนร่วมบ้านและออกจากที่ห้องเช่าไปอาศัยอยู่ที่คาราวาน พาร์ก … ผมรู้สึกเป็นอิสระอย่างมาก” ฮูกล่าว

ค่าเช่าที่ตั้งเต็นท์ของฮูนั้น รวมสิทธิ์เข้าใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องเล่นเกม ห้องซักรีด และห้องครัว ซึ่งบ่อยครั้งที่ฮูจะไปต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรับประทาน

ในช่วงพักผ่อน เขาก็มักออกกำลังกายตามลำพังหรือเล่นบาสเก็ตบอลร่วมกับผู้ตั้งแคมป์คนอื่น ๆ ที่สนามภายในคาราวาน พาร์ก

“ผมสามารถนั่งเล่น เพลิดเพลินกับสายลม และฟังเพลง ขณะอ่านหนังสือ ด้วยเช่นกัน” ฮูกล่าว

เมื่อฝนตก เขาบอกว่าเขามักลงเอยด้วยถุงนอนที่เปียกโชกและมีไอน้ำเกาะตัวภายในเต็นท์ แต่ในบางครั้งเขาก็สนุกกับการงีบหลับท่ามกลางเสียงฝนที่ตกหนัก

แม้จะต้องอาศัยอยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก แต่ฮูกล่าวว่าเขาชื่นชอบวิถีชีวิตใหม่อันแสนประหยัดของเขา

“ผมไม่ต้องการที่จะซื้อของมากมายอีกต่อไปเพราะไม่มีที่จะเก็บ เราคิดคำนึงถึงพื้นที่ของเรามากขึ้น พื้นที่ที่เราจำเป็น ซึ่งไม่มากนัก” ฮู กล่าว

"สำหรับผม ผมไม่คิดว่าผมจะใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดไป แต่มันก็คุ้มที่จะลอง"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai

Share
Published 23 February 2024 3:00pm
By Shan Kou, Koma Cheng, Tania Lee
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends