นายจ้างที่โกงค่าแรงลูกจ้างอาจต้องติดคุก

NEWS: นางเคลลี โอ ดไวเอร์ รัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ของออสเตรเลีย เห็นด้วยในหลักการสำหรับข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านลูกจ้างผู้อพยพ

นางเคลลี โอ ดไวเออร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเสนอให้มีบทลงโทษทางอาญาสำหรับการโกงค่าแรงลูกจ้าง (AAP)

นางเคลลี โอ ดไวเออร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเสนอให้มีบทลงโทษทางอาญาสำหรับการโกงค่าแรงลูกจ้าง Source: AAP

You can read the full article in English

นายจ้างต่างๆ ที่จ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดอาจต้องติดคุก ภายใต้แผนของรัฐบาลมอร์ริสัน ที่มุ่งแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่ร้ายแรง และการโกงค่าแรง

พรรคร่วมให้การสนับสนุนในหลักการสำหรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 22 ข้อจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านลูกจ้างผู้อพยพ ซึ่งได้เผยแพร่รายงานในเรื่องดังกล่าวออกมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 มี.ค.)

การไต่สวนหาความจริง ซึ่งนำโดยนายอัลลัน เฟลส์ อดีตหัวหน้าองค์กรดูแลผู้บริโภค ได้เกิดขึ้นจากการเปิดโปงการโกงค่าแรงลูกจ้างที่เกิดขึ้นมากมายในร้านสาขาของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และตามธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักมากมาย

“การเอาเปรียบค่าแรงต่อผู้อพยพย้ายถิ่นที่มาทำงานชั่วคราวขัดแย้งกับค่านิยมของชาติเราในเรื่องความยุติธรรม” รายงานดังกล่าวระบุ

“มันไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายต่อลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อธุรกิจต่างๆ ที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วย”

นางเคลลี โอ ดไวเออร์ รัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตกลงจะเสนอให้บทลงโทษทางอาญาด้วยเป็นครั้งแรก

“การฉกฉวยประโยชน์จากลูกจ้างในที่ทำงานในออสเตรเลียไม่เพียงแต่จะผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นผลร้ายต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบ เป็นการตัดราคานายจ้างที่ทำตามกฎหมาย และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของออสเตรเลียในระดับนานานชาติ”นางโอ ดไวเออร์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

“สำหรับกรณีที่ร้ายแรงและเลวร้ายอย่างมหันต์ จึงจะมีบทลงโทษทางอาญาด้วย ไม่ใช่นายจ้างที่ทำผิดเพราะเกิดจากความผิดพลาด หรือไม่ได้ตั้งใจ”

แต่แผนดังถูกต่อต้านจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย หรือเอไอ เตือนว่าบทลงโทษทางอาญานี้อาจชะลอการลงทุน

นายอินเนส วิลลอกซ์ ผู้อำนวยการบริหารของเอไอ กล่าวว่า บทลงโทษด้วยการปรับเป็นเงินสำหรับการละเมิดกฎหมายด้านการจ้างงานนั้นเป็นมาตรการยับยั้งการทำผิดที่ใช้ได้ผลอยู่แล้ว หลังจากได้มีการเพิ่มโทษค่าปรับให้มากขึ้น 20 เท่าเมื่อไม่นานมานี้

“การเพิ่มบทลงโทษทางอาญาสำหรับการโกงค่าแรงจะกีดกันการลงทุน แนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ และการเติบโตในการจ้างงาน” นายวิลลอกซ์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า คดีอาญาจะไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยทางการเงิน แต่จะทำให้คดีแพ่งที่เป็นการเรียกค่าเสียหายจะต้องรอไปก่อนจนกว่าศาลจะตัดสินคดีอาญาเสร็จสิ้น

“นั่นหมายความว่าลูกจ้างที่ถูกโกงค่าจ้างจะต้องรอเป็นปีกว่าจะได้เงินคืนมา” นายวิลลอกซ์ ชี้แจง

คณะทำงานเฉพาะกิจยังได้แนะนำให้มีโครงการขึ้นทะเบียนการจ้างแรงงานแห่งชาติ สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากที่สุด 4 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านพืชสวน (Horticulture) ด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ การทำความสะอาด และการรักษาความปลอดภัย

นายวิลลอกซ์ กล่าวว่า ข้อเสนอในเรื่องนี้นั้นจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกโครงการในทำนองเดียวกันของรัฐควีนสแลนด์ วิกตอเรีย และเซาท์ออสเตรเลีย

“โครงการขอใบอนุญาตระดับประเทศจะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลให้มากขึ้นไปอีก และจะสร้างภาระจากระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่ธุรกิจจัดหาแรงงานและลูกค้าของพวกเขา” นายวิลลอกซ์ ให้เหตุผล

ด้านนางมิเชล โอ นีล ประธานสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือเอซีทียู กล่าวตำหนิโครงการจัดหาแรงงานว่า “น่าตลก” ปล่อยให้เป็นภาระของลูกจ้างเองที่จะต้องพิสูจน์เหตุใดนายจ้างจึงควรเลิกเอารัดเอาเปรียบตน

“ความพยายามอย่างจริงจังใดๆ ที่จะแก้ไขปัญหาบริษัทจัดหาแรงงานที่ไม่ไร้ความซื่อสัตย์ จะต้องพยายามทำให้แน่ใจได้ว่าบริษัทจัดหาแรงงานเหล่านั้น ไม่ได้ถูกใช้เพื่อตัดค่าแรงลูกจ้าง ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใด หรือของลูกจ้างคนใดที่กำลังทำงานในออสเตรเลีย” นางโอ นีล กล่าว
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 11 March 2019 12:25pm
Presented by SBS Thai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends