สมาชิกสภาเทศบาลท้องถิ่นผู้หนึ่ง มุ่งมั่นจะปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ในชุมชนหลากวัฒนธรรมทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์ หลังการสำรวจล่าสุดพบร้อยละ 80 ของบ้านในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ (smoke alarm)
ในพื้นที่ของ นายจอร์จ ซาเคีย สมาชิกสภาเทศบาลในเขตแคนเตอร์เบอรี-แบงส์ทาวน์ (Canterbury-Bankstown) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์ มีประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวกว่าร้อยละ 40 ที่เกิดในต่างประเทศ และ 1 ใน 4 ของประชาชนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
คุณซาเคีย กล่าวว่าเขารู้สึกตกใจเมื่อผลการสำรวจนิรนามโครงการหนึ่งชี้ว่า บ้าน 8 หลังในทุกๆ 10 ในย่านลาเคมบา (Lakemba) ไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟที่ทำงานได้ตามปกติ
“มีการสำรวจนิรนามที่ทำภายในเทศบาลของเรา คือเขตลาเคมบา ที่เชื่อว่าราวร้อยละ 80 ของทั้งเขต พวกเขาไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ หรือมี แต่มันไม่ทำงาน” คุณซาเคีย เผย
“นี่เป็นอุปสรรคที่เรามี ซึ่งเราจำเป็นต้องให้ความกระจ่าง โดยเฉพาะให้ข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ แม้แต่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เป็นภาษาต่างๆ เพื่อช่วยกระจายข้อมูลออกไป และบอกว่าเราคอยช่วยเหลือคุณอยู่ ความจริงแล้วนี่เป็นภาระผูกพันที่ผู้ให้เช่าบ้านต้องปฏิบัติตาม และเราอยู่ตรงนี้เพื่อช่วยเหลือคุณ”
คุณซาเคีย สมาชิกสภาเทศบาลผู้นี้ รู้ดีว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ ที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างจำนวนผู้ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ในเขตของเขาที่มีอัตราสูงมาก กับระดับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยที่อยู่ในระดับต่ำ“เรามีผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก และในต่างประเทศพวกเขาใช้แหล่งความร้อนที่แตกต่างจากสิ่งที่เราใช้ในประเทศนี้”
อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณรอดชีวิตได้หากเกิดเพลิงไหม้ในบ้านของคุณ (Youtube) Source: YouTube
“ความจริงแล้ว บางคนใช้ถ่าน ใช้กันภายในบ้านเลย เพื่อให้ความอบอุ่น ซึ่งนั่นเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอการระเบิด ซึ่งนี่ทำให้ผมเกิดความมุ่งมั่นขึ้นมา” คุณซาเคีย ยกตัวอย่าง
ด้านหน่วยดับเพลิง เมลเบิร์น เมโทรโปลิแทน ไฟร์ บริเกด (Melbourne Metropolitan Fir Brigade) ที่ดูแลเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่นครเมลเบิร์นและปริมณฑล ไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเขตลาเคมบา
เมลเบิร์น เมโทรโปลิแทน ไฟร์ บริเกด ดำเนินโครงการที่ใช้ชื่อว่าโครงการ ‘เฟลมส์ ฟอร์ ทีนส์’ (Flames for Teens) ซึ่งสอนให้วัยรุ่นที่เพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ในเมลเบิร์นได้เรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันเพลิงไหม้ผ่านการเรียนในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ
คุณมาร์ก โครว์ เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและยังเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนหลากวัฒนธรรม ที่สอนในโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากได้มีการระบุชี้ว่ากลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นที่เพิ่งมาอยู่ใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับอันตรายจากเพลิงไหม้
หลังจากดำเนินโครงการมานาน 15 ปี คุณโครว์ และทีมของเขามีหลักฐานหนักแน่นที่ชี้ว่าโครงการของเขานั้นบรรลุวัตถุประสงค์
“เรามีการสำรวจก่อนและหลังจากเข้าโครงการของนักเรียนโดยสุ่มทำการสำรวจ แต่สิ่งที่เราพบคือพวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องโทรหาทริปเปิลซีโร (หมายเลข 000) ซึ่งก็เข้าใจได้จากที่ที่พวกเขาจากมา พวกเขาไม่รู้ เราก็สอนพวกเขา เราสอนเรื่องแผนในการหลบหนีออกจากบ้านเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และสอนเรื่องอุปกรณ์ตรวจจับควัน (smoke alarm) ซึ่งเรื่องอุปกรณ์ตรวจจับควันเป็นสารสำคัญที่เรามุ่งเน้นในการสอนของเรา” คุณโครว์ อธิบาย
เช่นเดียวกันกับคุณซาเคีย สมาชิกสภาเทศบาลท้องถิ่นในซิดนีย์ คุณโครว์ กล่าวว่า สารหนึ่งที่ยากที่จะทำให้บรรดาผู้เช่าบ้านตระหนักไว้เสมอคือ พวกเขามีสิทธิที่จะอยู่ในบ้านเช่าหรือห้องเช่าที่มีอุปกรณ์ตรวจจับควันที่ทำงานได้ตามปกติ
“คนจำนวนมากในออสเตรเลียไม่แน่ใจเรื่องกฎหมายข้อนี้ และไม่เข้าใจว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านเช่า ที่จะต้องจัดหาอุปกรณ์ตรวจจับควันและบำรุงรักษาให้มันทำงานได้ตามปกติ”
“โดยทั่วไปแล้ว ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากในออสเตรเลีย ไม่เข้าใจ ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่รู้สิทธิของตน เมื่อพวกเขาตรวจสอบอุปกรณ์ตรวจจับควันหรือตระหนักว่าไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับควันติดตั้งอยู่ในบ้าน นั่นเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านเช่า ที่จะต้องจัดหาและทำให้อุปกรณ์ทำงานได้สำหรับผู้เช่า”ในรัฐนิวเซาท์เวลส์นั้น การติดตั้งและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟยังเป็นวาระสำคัญที่ต้องทำอันดับหนึ่งสำหรับหน่วยงานด้านอัคคีภัยท้องถิ่น ในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย
Installing and maintaining smoke alarms is a number one priority for local fire brigades working with at-risk communities. Source: AAP
นายไมเคิล มอร์ริส ผู้กำกับการของบริการไฟร์แอนด์เรสคู (Fire and Rescue) ที่ดูแลด้านอัคคีภัยและการกู้ภัย กล่าวว่า หน่วยของเขานั้นได้ดำเนินโครงการชื่อโฮม เซฟตี้ เช็คส์ หรือการตรวจความปลอดภัยเพลิงไหม้ในบ้านมาหลายปีแล้ว โดยเจาะกลุ่มชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างชุมชนของคุณซาเคีย ซึ่งวัฒนธรรมและภาษาอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงภัย
“บ่อยครั้งที่ ผู้อพยพใหม่อาจรู้สึกกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ และคิดว่าบริการไฟร์แอนด์เรสคู (บริการดับเพลิงและกู้ภัย) นั้นเก็บค่าบริการ เราจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบชัดเจนว่า เรามาเพื่อช่วยเหลือ เราไม่คิดค่าบริการใดๆ สำหรับการไปช่วยดับไฟ เพื่อที่จะได้ไม่มีอุปสรรคใดในการที่คุณจะโทรศัพท์ไปยังสถานีดับเพลิงใกล้บ้านของคุณ หรือโทรไปยังหมายเลข 000 หากคุณมีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับไฟไหม้” คุณมอร์ริส แนะนำ
ในรัฐนิวเซาท์เวลส์นั้นมีการเสียชีวิตราว 21 รายทุกปี อันเป็นผลมาจากเหตุเพลิงไหม้บ้าน แต่คุณมอร์ริส ผู้กำกับการของบริการไฟร์แอนด์เรสคู กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตเหล่านั้นอาจป้องกันได้หากบ้านที่เกิดเพลิงไหม้มีอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟที่ทำงานตามปกติ
“มีบ้านเพียง 1 ใน 3 หลังเท่านั้นที่ทดสอบเครื่องตรวจจับควันไฟในบ้านเป็นประจำ และโชคร้ายที่เครื่องตรวจจับควันไฟอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นที่จับและจากอายุของเครื่อง หรืออื่นๆ และอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 10 ปี” คุณมอร์ริส ย้ำ
“มีเพียงอุปกรณ์ตรวจจับควันเท่านั้นที่จะเพิ่มโอกาสที่คุณจะรอดชีวิตเมื่อคุณเกิดไฟไหม้ในบ้าน และโชคร้ายที่สภาพแวดล้อมในบ้านสมัยใหม่ เหตุไฟไหม้เล็กๆ อาจเกิดขึ้นและเพียงแค่ไม่กี่นาทีบ้านของคุณทั้งหลังก็จะเต็มไปด้วยควันไฟที่อันตรายถึงตาย”
ที่เว็บไซต์ของบริการไฟร์แอนด์เรสคู (บริการดับเพลิงและกู้ภัย) มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยด้านอัคคีภัยเป็นภาษาต่างๆ 30 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งสามารถอ่านได้จากที่
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ออสเตรเลียจะไม่ให้วีซ่าผู้มีประวัติความรุนแรงในครอบครัว