ร้านอาหารไทยในบริสเบนถูกตรวจพบเอาเปรียบลูกจ้าง

NEWS: ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจของนครบริสเบน ถูกองค์กรแฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน ตรวจพบจ่ายค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นนักเรียนต่างชาติ 3 คนต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด

เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด Source: Pixabay

จากข่าวเผยแพร่ของ แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน หรือผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม ระบุว่า ร้านอาหารไทยดังกล่าวที่ถูกเจ้าหน้าที่สืบสวนขององค์กรตรวจพบว่ากระทำผิด คือร้าน  ‘Phat Elephant’ ซึ่งมีเจ้าของร้านคือ อลิสา ผดุงเกียรติ (Alyssa Phadungkiat) 

เจ้าหน้าที่สืบสวนของแฟร์ เวิร์ก ได้เข้าไปตรวจสอบการจ่ายเงินค่าจ้างของพนักงานในร้าน ‘Phat Elephant’ หลังได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากลูกจ้างในร้าน 3 คน ซึ่งเป็นนักเรียนสัญชาติไทย อายุ 20 ปีเศษ และถือวีซ่านักเรียนในขณะทำงานที่ร้าน

เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าลูกจ้างทั้งสามได้รับค่าจ้างที่ไม่ถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงระหว่าง 12-17 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับลูกจ้างแคชชวล (casual loading) และอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ (weekend penalty rate) ซึ่งเป็นสิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับตามข้อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมร้านอาหาร (Restaurant Industry Award)

ลูกจ้างที่ถือวีซ่านักเรียนทั้งสามคนนั้นได้รับค่าจ้างไม่ครบ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมกัน 27,164 ดอลลาร์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สืบสวนยังพบว่าร้านอาหาร ‘Phat Elephant’ ละเมิดกฎหมายด้านการบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานและการจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง และยังไม่มีช่วงเวลาให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างทำงานอย่างเหมาะสม

นางซานดรา พาร์กเกอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม กล่าวว่า ร้านอาหาร ‘Phat Elephant’ หลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีด้วยการจ่ายเงินค่าจ้างที่ขาดไปเต็มจำนวนคืนให้แก่ลูกจ้างทั้งสามคนในทันที และแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

“ลูกจ้างทุกคนในออสเตรเลียมีสิทธิในที่ทำงานที่เหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือถือวีซ่าใด เป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นในอัตราที่เรียกกันว่า ‘อัตราท้องตลาด’ และตัดราคาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อกำหนดของอุตสาหกรรม อัตราค่าจ้างในตลาดแรงงานของออสเตรเลียสำหรับลูกจ้างเหล่านี้เป็นอัตราที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้” นางพาร์กเกอร์ ระบุ

“นายจ้างทุกคนมีความรับผิดชอบตามกฎหมายกำหนดที่จะต้องรู้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมาย ที่มีผลต่อลูกจ้างของตน และจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่พวกเขาอย่างเต็มจำนวนด้วย” นางพาร์กเกอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม ย้ำ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (22 ก.พ. 2019) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ (National minimum wage) อยู่ที่ 18.93 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงหรือ 719.20 ดอลลาร์ต่อการทำงาน 38 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ (ก่อนหักภาษี)

นายจ้างและลูกจ้างที่ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรแฟร์ เวิร์ก สามารถไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.fairwork.gov.au ซึ่งมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย หรือโทรศัพท์ไปได้ที่บริการแฟร์ เวิร์ก อินโฟไลน์ ที่หมายเลข 13 13 94
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 22 February 2019 1:17pm
Updated 25 February 2019 12:44pm
Presented by SBS Thai
Source: Fair Work Ombudsman


Share this with family and friends