ผลสำรวจพบคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มคนที่เหงามากที่สุดในออสเตรเลีย

Feeling lonely and vulnerable. Teenage girl covering her face and crying on a couch, while her mother stroking her on a head

ผลสำรวจพบคนหนุ่มสาวในออสเตรเลียเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกเหงามากที่สุด Source: Getty / Olga Rolenko/Getty Images

คนหนุ่มสาวในออสเตรเลียกำลังประสบกับความทุกข์ทางจิตใจมากกว่าและรู้สึกเหงามากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่แก่กว่า โดยเป็นผลที่พบจากการวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คน 17,000 คนระหว่างปี 2001-2021


จากรายงานเรื่อง ‘ครัวเรือน รายได้ และพลวัตด้านแรงงานในออสเตรเลีย’ (Household, Income and Labor Dynamics in Australia) หรือที่รู้จักกันในชื่อรายงาน HILDA ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายด้านความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ สวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้คนในประเทศ ได้พบแนวโน้มหลักที่สำคัญ 4 ประการ

ประการแรกคือ ความทุกข์ทางจิตใจของผู้คนกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2021 ร้อยละ 42.3 ของผู้ที่อายุ 15-24 ปี มีความทุกข์ทางจิตใจ ซึ่งสูงกว่าเป็นสองเท่าของสถิติในปี 2011 ที่อยู่ที่ร้อยละ 18.4

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่รู้สึกเหงามากที่สุดยังเป็นคนกลุ่มอายุเดียวกันคือ 15-24 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากระหว่างปี 2001-2009 ซึ่งกลุ่มคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวมากที่สุดคือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ศ. โรเจอร์ วิลคินส์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการร่วมของการสำรวจ HILDA อธิบายว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้

"ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียมากมักประสบกับความทุกข์ทางใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อการระบาดใหญ่ของโควิดมาถึงในปี 2020 เราเห็นความรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี และผมก็เดาว่านี่สอดคล้องหรือนี่เป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบมากที่สุดจากข้อจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์และการพบปะทางสังคม" ศ.วิลคินส์ ผู้อำนวยการร่วมของการวิจัย HILDA กล่าว

ชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียรายงานความรู้สึกเหงาเป็นสถิติเฉลี่ยที่สูงกว่า เมื่อเมื่อเทียบกับชาวออสเตรเลียและผู้ย้ายถิ่นฐานที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมือง
การแต่งงานก็ลดลงเช่นกัน

ในปี 2001 ราว 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปีแต่งงานแล้ว แต่มาถึงปี 2019 จำนวนนั้นลดลงเหลือ 48.2 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2021

แต่ศ.วิลคินส์กล่าวว่า อัตราส่วนการมีคู่ครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

"มีสาเหตุหลักสองประการที่ทำให้การแต่งงานลดลง ประการแรกคือผู้คนมักจะทำสิ่งต่าง ๆ เช่น สร้างครอบครัว ซื้อบ้าน และแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นผู้คนในช่วงอายุ 20 มากขึ้น ที่เป็นคู่ครองกันโดยพฤตินัยมากกว่าที่เราเคยเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมจึงคิดว่ายังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในด้านการแต่งงาน ผมคิดว่าผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีแนวโน้มว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีกระดาษแผ่นหนึ่งเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ของพวกเขา แน่นอนว่าไม่มีตราบาปจากการอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน" ศ.วิลคินส์ อธิบาย

ในปี 2001 ราว 64 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอายุระหว่าง 18-64 ปีมีงานทำ แต่จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 74 เปอร์เซ็นต์เมื่อถึงปี 2019

และสัดส่วนของผู้หญิงในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 64.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2001 เป็น 74.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019
ศ.วิลคินส์อธิบายในประเด็นนี้ว่า

“การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานฟูลไทม์ความจริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง สถิติการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ก่อนปี 2000 อยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานพาร์ทไทม์ แต่นับตั้งแต่นั้นมาเราได้เห็นสถิติการทำงานของผู้หญิงทั้งพาร์ทไทม์และฟูลไทม์เพิ่มขึ้น จนถึงปี 2016 ที่เราไม่เห็นความก้าวหน้าในเรื่องความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายและหญิง แต่นับตั้งแต่นั้นที่เราเห็นความแตกต่างของค่าจ้างลดน้อยลง โดยในปี 2016 ผู้หญิงมีรายได้ราว 78 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างผู้ชายที่ทำงานฟูลไทม์ ข้อมูลล่าสุดซึ่งสูงขึ้นเป็น 86 เปอร์เซ็นต์” ศ.วิลคินส์ ให้ข้อมูล

และเป็นครั้งแรกที่การสำรวจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยร้อยละ 14.1 ของผู้ที่มีอายุเกิน 15 ปีเคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือ vaping

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้วในปีนี้ เพื่อจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าหรือ vaping


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai


Share