เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 สื่อทั่วโลกออกข่าวไฟป่าโหมกระหน่ำในออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า “แบล็ก ซัมเมอร์” (Black summer) เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังไฟเผาไหม้วอดวายเป็นวงกว้าง ชุมชนบางแห่งที่ประสบเหตุไฟป่าก็ประสบอุทกภัยซ้ำสอง เนื่องจากฝนตกหนัก และส่งผลให้น้ำในแม่น้ำล้นตลิ่ง
คุณร็อบ เว็บบ์ (Rob Webb) ผู้บริหารของสมาพันธ์อัคคีภัยและหน่วยบริการฉุกเฉินแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (National Council for Fire and Emergency Services in Australia and New Zealand) หรือ เอเอฟเอซี (AFAC) กล่าวว่าหน่วยฉุกเฉินกว่า 30 องค์กรในรัฐและมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อประสานงาน เตรียมพร้อม และรับมือกับภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
“ออสเตรเลียเป็นประเทศที่น่าอยู่และอาศัย แต่เรามีช่วงเวลาของภัยพิบัติหลายประเภท เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เราพบเห็นภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ภัยธรรมชาติที่เกิดติดๆ กัน หรือพื้นที่ประสบภัยที่เป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นเราพบว่าเราควรแบ่งปันทรัพยากรระหว่างรัฐมากขึ้น”
นักดับเพลิงกำลังดับไฟป่า Source: AAP
ระดับความอันตรายของอัคคีภัย (Fire Danger Rating) และระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Warning System) มีความคล้ายคลึงกัน แต่ใช้กับสถานการณ์และอันตรายที่แตกต่างกัน
คุณฟิโอนา ดันสตัน (Fiona Dunstan) ผู้จัดการแผนกการมีส่วนร่วมของชุมชนจากสำนักอุตุนิยมวิทยา (National Community Engagement Manager for the Bureau of Meteorology) อธิบายถึงความแตกต่าง
“ระดับความอันตรายจากอัคคีภัยมีไว้สำหรับการเตรียมความพร้อมกับการเกิดอัคคีภัยโดยเฉพาะ เรื่องของความรุนแรง หรือความกังวลกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดอัคคีภัย เช่น ถ้าสมมุติว่าพรุ่งนี้จะมีอากาศค่อนข้างร้อนและมีลมแรง และเราไม่มีฝนตกมาสักระยะแล้ว หญ้า พืชพรรณและต้นไม้ค่อนข้างแห้ง จากทั้งหมดนี้เราจะกำหนดระดับความอันตรายของอัคคีภัย และเราจะบอกว่าเราควรเตรียมรับมือหากเกิดไฟปะทุขึ้น”
ขณะที่ ระบบเตือนภัยนั้นใช้อธิบายความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และใช้กับภัยธรรมชาติหลายประเภท ไม่ใช่เฉพาะแค่อัคคีภัย คุณดันสตันอธิบาย
“ระบบเตือนภัยของออสเตรเลียถูกออกแบบเพื่อเตือนภัยสถานการณ์หลายประเภท เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุไซโคลน ความร้อนรุนแรง และยังมีระบบแจ้งเตือนที่จัดลำดับการเตือนในแต่ละสถานการณ์อันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือธุรกิจ ดังนั้นระบบนึงสำหรับก่อนเกิดเหตุและอีกระบบนึงคือระหว่างเกิดเหตุ”
คุณอลิซาเบท โกห์ (Elisabeth Goh) อาสาสมัครของหน่วยดับเพลิงแถบภูมิภาครัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW Rural Fire Service) กล่าวว่าความเข้าใจการแจ้งเตือนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในสิ่งที่เราพบบ่อยคือหลายคนไม่หนี ไม่เข้าใจ หรือหนีช้าเกินไป เรามักต้องช่วยพวกเขาตอนที่ไฟไหม้รุนแรงมาก และมันเป็นการต้องใช้พนักงานดับเพลิงเพิ่มเพื่อช่วยพวกเขาออกจากสถานการณ์อันตราย
คุณเว็บบ์กล่าวว่า ระบบใหม่นี้พิจารณาสภาพอากาศและพืชพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศ และระดับความอันตรายของอัคคีภัยใหม่ได้รวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ล่าสุดและข้อมูลที่หน่วยงานรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และกรมอุตุนิยมวิทยารวบรวมไว้
“ระบบใหม่นี้สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น ละเอียดมากกว่าที่เราเคยทำมาก่อน”
ระดับความอันตรายของอัคคีภัย
อันดับต่อมาคือ ‘สูง’ (High) สีเหลือง หมายความว่าเตรียมดำเนินการ
คุณเว็บบ์กล่าวว่า ในระดับอันตรายสีเขียวและสีเหลือง ชุมชนควรหาข้อมูลเรื่องสภาพอากาศและติดตามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยฉุกเฉินในท้องถิ่น
“เราควรระแวดระวังสถานการณ์รอบตัวในออสเตรเลีย การเกิดไฟปะทุเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราพูดว่า ‘เตรียมพร้อมดำเนินการ’ เราขอให้ชุมชนระวังมากขึ้น ตรวจสอบสภาพอากาศมากขึ้นนิดหน่อย หรือตรวจสอบเว็บไซต์ของหน่วยงานมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาอาจต้องทำ”
การแจ้งเตือนสูงที่สุดมี 2 ประเภท ได้แก่ ‘รุนแรง’ (Extreme) สีส้ม และ ‘ภัยพิบัติ’ (Catastrophic) สีแดง
คุณเว็บบ์อธิบายว่า ระดับรุนแรงหมายความว่าคุณต้องดำเนินการโดยทันที เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคุณ ระดับภัยพิบัติหรือสีแดงหมายความว่า คุณต้องออกจากพื้นที่เสี่ยงต่อไฟป่าเพื่อให้รอดชีวิต
“เมื่อต้องดำเนินการทันที หมายความว่าคุณต้องตัดสินใจว่าคุณจะทำอย่างไร เมื่อสถานการณ์เหตุอัคคีภัยอยู่ในระดับรุนแรง จะไม่สามารถควบคุมไฟได้ ดังนั้นคุณต้องตระหนักถึงสิ่งที่คุณต้องทำ แผนการเอาตัวรอดจากไฟป่าของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในบริเวณนั้นหรือย้ายไปที่ที่ปลอดภัยกว่า”
ลมแรงทำให้ไฟป่าโหมกระหน่ำ ในรัฐวิกตอเรีย Source: AAP
แม้ว่าพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นในออสเตรเลียจะเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน บริเวณอื่นของประเทศ เช่น ทางเหนือ จะประสบไฟป่าในช่วงฤดูหนาว
“สถานการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน บ้านคุณอยู่ที่ไหน คุณเตรียมบ้านพร้อมแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อคุณได้ยินถึงการพยากรณ์อากาศขั้นรุนแรง และคุณอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อไฟป่า คุณควรมีแผนการเอาตัวรอดจากไฟป่า และตัดสินใจว่าคุณอาจเลือกที่จะหนีออกไป หรือคุณอาจเลือกที่จะปรึกษากับครอบครัวของคุณถึงสิ่งที่คุณจะทำ”
Examples of the three-tiered Australian Warning levels.
ระดับแรกคือ ‘แนะนำ’ (Advice) ซึ่งเป็นสีเหลือง หมายความว่าอันตรายได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีผลกระทบในทันที
ระดับที่สองคือสีส้ม เรียกว่า ‘เฝ้าดูและดำเนินการ’ (Watch and Act) หมายความว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและคุณควรดำเนินการเพื่อปกป้องตัวคุณเอง
ระดับที่สามคือสีแดง หรือ ‘คำเตือนฉุกเฉิน’ (Emergency warning) หมายความว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตรายและการดำเนินการล่าช้าจะทำให้ชีวิตของคุณตกอยู่ในความเสี่ยง
คุณดันสตันกล่าวว่า คุณจะรับมืออย่างไรในแต่ละคำเตือนนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเหตุฉุกเฉินด้วย
กรณีน้ำท่วมหรือไฟป่า คุณอาจต้องอพยพออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากเกิดความร้อนรุนแรงหรือพายุลูกเห็บ คุณควรหาที่หลบภัย
การรู้ว่าคุณและครอบครัวจะรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างไรเป็นกุญแจสำคัญ
“การวางแผนและพูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับว่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรในแต่ละเหตุการณ์ เราจะทำอะไรบ้าง? เราจะไปที่ไหน? เราจะเอาอะไรไปด้วย? เราจะทำอย่างไรกับสัตว์เลี้ยงและลูกๆ ของเรา? การพูดคุยกับครอบครัวหรือกับชุมชนในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการในสถานการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก”
Natural disasters in Australia Source: AAP
“คุณจะเจอน้ำท่วมไหม? จะเจอพายุไหม? จะเจอไฟป่าไหม? การเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเรียนรู้สิ่งที่คุณสามารถทำเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การแบ่งเวลาเพื่อทำความเข้าใจกับอันตรายในพื้นที่สามารถช่วยชีวิตคุณได้”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณรู้หรือไม่ว่าเหตุการณ์แบบไหนควรโทรหาทริปเปิลซีโร (000)