ภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองออสเตรเลียที่เกี่ยวกับสภาพอากาศและฤดูกาล

Approaching storm

พายุกำลังเข้าใกล้บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของออสเตรเลีย Credit: Jeremy Bishop/Unsplash

คุณคงคุ้นเคยกับ 4 ฤดูกาลที่ออสเตรเลีย ที่มีทั้ง ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าชนพื้นเมืองออสเตรเลียจำแนกฤดูกาลออกเป็นจำนวนมากกว่านั้น? บางกลุ่มมีถึง 6 ฤดูต่อปี เราไปสำรวจว่าชนพื้นเมืองจำแนกสภาพอากาศและฤดูกาลอย่างไร


ประเด็นสำคัญ
  • ความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศและฤดูกาลของชนพื้นเมืองได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการเล่าเรื่องด้วยปากเปล่าและด้วยภาพและประเพณีทางวัฒนธรรม
  • วัฏจักรฤดูกาลที่ชนพื้นเมืองอธิบายแตกต่างกันไปตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพวกเขา
  • หนึ่งในภูมิความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศของชนพื้นเมือง คือความเข้าใจว่าพฤติกรรมของสัตว์หรือการเจริญเติบโตของพืชที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและฤดูกาล

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

'ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน” เป็นหลักปรัชญาสำคัญในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย มานับหลายพันปี ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสได้สังเกตสภาพแวดล้อมและเรียนรู้ความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างภูมิอากาศ สภาพอากาศ ฤดูกาล และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของสัตว์และพืชรอบตัวพวกเขา

ตัวอย่างเช่น เสียงร้องของนกชนิดหนึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะตก หรือการออกดอกของต้นไม้บางชนิดอาจบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และเป็นเวลาที่ควรย้ายไปยังพื้นที่ใหม่

คุณป้าโจแอน เซลฟ์ หญิงชาวกาดิกัล จากชายฝั่งด้านตะวันออกของออสเตรเลีย เติบโตขึ้นมาพร้อมการเรียนรู้เรื่องสภาพอากาศ ฤดูกาล และสิ่งแวดล้อมผ่านความรู้ที่สืบทอดกันมาภายในครอบครัวและชุมชนของเธอ
ความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับระบบสภาพอากาศ ฤดูกาล และสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของทุกคน สำหรับชนพื้นเมือง ความรู้นี้ทำให้เราสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางได้
คุณป้าโจแอนกล่าว
ความรู้ของชนพื้นเมืองเกี่ยวกับสภาพอากาศ เช่น พายุที่กำลังจะมา หรือช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดในภูมิประเทศของออสเตรเลีย

จอร์แดน อาห์ ชี นักวิชาการด้านภูมิปัญญาพื้นเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ดอค อธิบายถึงการเคลื่อนย้ายของชนพื้นเมืองที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ

“มีความเข้าใจผิดว่าชนพื้นเมืองเป็นชนเร่ร่อน ซึ่งเหมือนจะบอกว่าเราไม่มีที่อยู่หรือบ้าน แต่จริง ๆ แล้ว เราเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลอย่างยั่งยืน ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสได้สร้างความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับผืนดิน แหล่งน้ำ และท้องฟ้าตลอดเวลาหลายพันปี และผ่านความเชื่อมโยงนี้ เราได้พัฒนาความรู้ที่ซับซ้อนซึ่งช่วยให้เราเจริญรุ่งเรืองในสถานที่แห่งนี้ และทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า 'ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน’”

ชนพื้นเมืองออสเตรเลียมีความเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาลที่แตกต่างจากแนวคิดแบบตะวันตก เพราะไม่ได้ผูกฤดูกาลไว้กับวันที่เฉพาะเจาะจงในปฏิทิน แต่รับรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ พฤติกรรมของสัตว์ และสภาพแวดล้อมรอบตัว

“ต่างจากแนวทางตะวันตกที่กำหนดฤดูกาลด้วยวันที่ในปฏิทิน ความรู้เกี่ยวกับฤดูกาลของเราเกิดจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ พฤติกรรมของสัตว์ และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี อาหารชนิดใดที่หาได้ และเราควรจะอยู่ที่ชายฝั่งหรือในพื้นที่ในแผ่นดิน ความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศและฤดูกาลจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อวิถีชีวิตของเรา”
Burning fuel load
Fire stick farming Credit: Christian Bass/Unsplash
คุณป้าโจแอนเสริมว่า ความเข้าใจของชนพื้นเมืองเกี่ยวกับฤดูกาลยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการปฏิบัติทางดั้งเดิม เช่น การดูแลรักษาผืนดินและภูมิทัศน์

“เมื่อเราพูดถึงเรื่องนี้ สิ่งแรกที่นึกถึงคือการใช้ไฟในวิถีการเกษตร การใช้ไฟช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงบนพื้นดิน ดังนั้นหากเกิดไฟป่าจากฟ้าผ่าหรือเหตุการณ์อื่น ๆ เชื้อเพลิงจะไม่มากเกินไป และยังช่วยให้พืชเติบโตใหม่เพื่อให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่ชอบกินหน่ออ่อนมีอาหารเพียงพอ”

วงจรฤดูกาลของชนพื้นเมืองแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่พวกเขาอาศัยอยู่ ในเขตนุงการ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย มีการจำแนกฤดูกาลออกเป็นหกฤดูตลอดปี โดยฤดู เริ่มต้นฤดูร้อน (บีรัก) ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่อากาศร้อนและมีการเฉลิมฉลอง

“ฤดูบีรักเชื่อมโยงกับความร้อน ดวงอาทิตย์ และไฟ เป็นช่วงที่อากาศเริ่มร้อน และมักถูกเรียกว่า ‘ฤดูแห่งความเยาว์วัย’ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ฤดูนี้สังเกตได้จากงูและสัตว์เลื้อยคลานจะลอกคราบ ลูกนกออกจากรัง และสัตว์หนุ่มสาวเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พร้อมออกสำรวจโลก หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญในภูมิทัศน์คือดอกไม้สีเหลืองส้มของต้นมุดจาหรือที่รู้จักกันว่า ‘ต้นคริสต์มาส’ ซึ่งมีความสำคัญทางจิตวิญญาณสำหรับชาวนุงการ์ และในช่วงเวลานี้ การเผาเพื่อวัตถุประสงค์ทางวัฒนธรรมก็มักจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในขณะนั้น”
Native Christmas Tree
Moodjar, the native Christmas tree Credit: TerriAnneAllen/Pixabay
วัตถุทางดาราศาสตร์ เช่น ดวงจันทร์และวงจรของมัน ถูกนำมาใช้โดยชนพื้นเมืองเพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง

“ในระบบความรู้ของชนพื้นเมือง วงแสงรอบดวงจันทร์เป็นสัญญาณของฝนที่กำลังจะมา หากพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่าผลึกน้ำแข็งถูกแขวนลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศตอนบน แสงจันทร์ถูกหักเหและสะท้อนผ่านผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ ทำให้เกิดลักษณะวงแสงรอบดวงจันทร์ แม้แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ยอมรับว่า วงแสงรอบดวงจันทร์มักเกิดก่อนระบบความกดอากาศต่ำ ซึ่งมักตามมาด้วยฝนและอุณหภูมิที่เย็นลงในวันต่อมา”

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของตำแหน่งดวงจันทร์ในวงแสงยังมีความหมายสำคัญ เช่น การที่ดวงจันทร์ขยับไปจากกึ่งกลางของวงแสงบ่งบอกว่าลมกำลังจะมา

อย่างไรก็ตามชนพื้นเมืองได้ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศผ่านการเล่าเรื่องปากเปล่า รวมถึงภาพวาดและภาพแกะสลักบนหิน

“ในซิดนีย์ เรามีภาพแกะสลักบนหินหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือ 'Moon Rock' ซึ่งมีการแกะสลักที่แสดงถึงแปดระยะของดวงจันทร์ โดยเริ่มจากบูมเมอแรงของผู้สร้างบีอาอิเมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะชาวแกดดีขึ้นชื่อเรื่องการตกปลา ผู้หญิงของเรามักออกไปตกปลาที่วาร์รัง (ซิดนีย์ฮาร์เบอร์) บนเรือเล็ก ๆ พร้อมไฟกองเล็ก ๆ และเด็ก ๆ ไปด้วย เราใช้ดวงจันทร์เพื่อช่วยตกปลา เพื่อนให้รู้ว่าช่วงข้างขึ้นและข้างแรมของดวงจันทร์คือเวลาที่ดีที่สุด เพราะในช่วงดวงจันทร์ขึ้นใหม่หรือดวงจันทร์เต็ม ดวง ตะกอนในน้ำจะถูกกระแสน้ำพัดขึ้นมาบนพื้นทะเล ทำให้ยากต่อการมองเห็นปลา”
Halo around the moon
A moon halo Credit: Geoffrey Wyatt
มุมมองของชนพื้นเมืองที่มีต่อฤดูกาลและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง

สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสัมพันธ์ที่วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่มีต่อดินแดนอย่างลึกซึ้ง และเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้พวกเขา

หาข้อมูลความรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมได้อีกที่:
อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share

Recommended for you