กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ปัจจุบันออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางอาหารการกินมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก จุดเด่นนี้มีที่มาอย่างไร
คุณ ลอรี นาเวลล์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานด้านการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย (AMES Australia) อธิบายว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารของออสเตรเลียมีที่มาจากการย้ายถิ่นของผู้คนจากหลากภาษาและวัฒนธรรม
“การย้ายถิ่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมอาหารของออสเตรเลีย มันอาจเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าการย้ายถิ่นส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของออสเตรเลียอย่างไร ปัจจุบันไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ชานเมืองหรือเมืองไหนก็ตาม คุณจะเห็นร้านอาหารหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก และนี่เป็นจุดเด่นสำคัญมากต่อวิถีในการรับประทานอาหารของผู้คนในออสเตรเลีย”
การย้ายถิ่นฐานกับอาหาร
คุณ ลอรี อธิบายประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมด้านอาหารในออสเตรเลียที่มีลักษณะเฉพาะตัวไว้ว่า
“ย้อนกลับไปในยุคตื่นทองในทศวรรษที่ 1880 -1890 ที่มีนักสำรวจแร่ชาวจีนมาที่เข้ามาสำรวจหาแหล่งทองคำในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย และแน่นอนว่าพวกเขานำอาหารเข้ามาด้วย ตั้งแต่นั้นมาถ้าคุณเดินทางเข้าไปในเมืองเล็กๆ ในชนบท และถ้าจะมีร้านอาหารที่นอกหนือจากร้านอาหารฝรั่งสักร้านก็คงจะเป็นร้านอาหารจีน
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผนวกกับการสิ้นสุดของกฎหมายครวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวด เราเห็นผู้คนจำนวนมากยุโรปย้ายถิ่นฐานเข้ามาในออสเตรเลีย และเราจะเริ่มเห็นอาหารจากประเทศฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี แต่ก่อนหน้านั้น อาหารหลักๆ ของออสเตรเลียคือเนื้อสัตว์และผักสามชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษเสียเป็นส่วนมาก
![Pellegrini Espresso Bar, Melbourne](https://images.sbs.com.au/drupal/yourlanguage/public/pellegrinis-outside.jpg?imwidth=1280)
อิทธิพลจากการย้ายถิ่นทำให้ออสเตรเลียมีวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย เช่น มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ Source: SBS / SBS Food
แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ในปี 1951 มีการนำเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซเครื่องแรกเข้ามาในออสเตรเลียในร้านกาแฟแห่งหนึ่งบนถนนไลกอน ในเมลเบิร์น และหลังจากนั้นก็เป็นการเข้ามาของคนจากอินโดจีนซึ่งนำอาหารเวียดนาม กัมพูชา และไทยมาด้วย เมื่อไม่นานมานี้ เราก็มีกลุ่มคนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คุณสามารถหาอาหารจากทั่วทุกมุมโลกได้ มันกลายเป็นจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน"ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ AMES Australia ลอรี นาเวลล์
การย้ายถิ่นของคนไทยที่เข้ามาในออสเตรเลีย
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์รัฐวิกตอเรียระบุว่า เมื่อปี 1920 ได้มีคนไทยคนแรกที่เดินทางมาในออสเตรเลีย นั่นคือ อธิบดีกรมพระอัศวราช (บุตรา มหินตรา) ได้รับพระราชโองการจากสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
เพื่อเดินทางมาเจรจาซื้อม้าแข่งและหลังจากนั้นปรากฏว่ามีการเดินทางมาเยี่มเยือนระยะสั้นๆ ของข้าราชการและเจ้านายไทยแต่ยังไม่มีคนไทยมาลงหลักปักฐานถาวรที่ออสเตรเลีย
จนกระทั่งจนกระทั่งในปี ค.ศ.1952 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีความร่วมมือด้านการศึกษากับออสเตรเลียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนโคลัมโบ” (Colombo Plan) ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ในปี ค.ศ.1954 และได้มีการส่งกลุ่มนักเรียนไทยมาศึกษาต่อในออสเตรเลียด้วย “แผนโคลัมโบ” ดังกล่าว
อ่านเพิ่มเติม
![Image for read more article 'อ่านเพิ่มเติม'](https://images.sbs.com.au/dims4/default/4458a51/2147483647/strip/true/crop/1920x1080+0+0/resize/1280x720!/quality/90/?url=http%3A%2F%2Fsbs-au-brightspot.s3.amazonaws.com%2F5f%2F70%2F63636dff4a2e88f71911441e8276%2Fthe-origin-cover2.jpg&imwidth=1280)
ตามรอย 'นักเรียนไทยกลุ่มแรกในออสเตรเลีย'
นี่เป็นจุดกำเนิดของคนไทยกลุ่มแรกที่ได้มาพักอาศัยและศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย
จากข้อมูลล่าสุดของ Department of Home Affairs (กระทรวงมหาดไทย) ของออสเตรเลีย ระบุว่าในออสเตรเลีย มีรัฐที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุดคือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2021 พบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่จำนวน 26,718 คน
และในรัฐนิวเซาท์เวลส์พบว่าเมือง คาบรามัตตา (Cabramatta) เป็นเมืองที่มีประชากรเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่คับคั่งมากที่สุด จากข้อมูลสำมะโนประชากรปี 2021 รายงานว่าเมืองคาบรามัตตามีประชากรทั้งหมด 21,142 คน
และมีประชากรจำนวนกว่าครึ่งที่มีเชื้อสายเอเชีย โดยเป็นคนเชื้อสายเวียดนามมากที่สุดถึง 37.6 % รองลงมาคือ กัมพูชา 8.0 % และคนที่มีเชื้อสายไทยอยู่ในอันดับสามคิดเป็น 2.1 % หรือราว 443 คน
แน่นอนว่าเมื่อมีการย้ายถิ่นก็ย่อมจะมีการนำเอาอาหารของวัฒนธรรมนั้นๆ เข้ามาด้วยและเมื่อมีความต้องการทำอาหารก็ย่อมต้องมีแหล่งขายอาหารตามมา
แต่ร้านขายของชำที่ขายของไทยร้านแรกๆ ในออสเตรเลียอยู่ที่ไหน?
ตามรอย 'ร้านชำไทยร้านแรกในออสเตรเลีย'
เอสบีเอสไทยจะพาคุณไปตามรอยเรื่องนี้ ผ่านเรื่องราวของคุณ ไพบูลย์ (แดนนี) นีระวงศ์ เจ้าของร้านขายของชำไทย “ร้านช้าง Thai grocery” ในเมืองคาบรามัตตา รัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เริ่มทำการค้าขายมาตั้งแต่ปี 1985 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
คุณ ไพบูลย์ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนจากจังหวัดอุดรธานี เขาย้ายมาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียในปี 1978 โดยเริ่มแรกได้มาทำงานในโรงงานที่เมืองคาบรามัตตาเช่นเดียวกับคนงานที่มาจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายคนในเวลานั้น
คุณไพบูลย์เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังถึงว่าชุมชนคาบรามัตตาในสมัย 40 ปีก่อนนั้นเป็นชุมชนที่มีคนจากภูมิภาคแถบอินโดจีนอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะคนเวียดนาม กัมพูชา ลาวและไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมอาหารการกินคล้ายๆ กัน
"ส่วนใหญ่เป็นคนเวียดนาม ขมร ลาว ก็เยอะ แต่สินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ส่วนใหญ่จะมาจากไทย คนลาว คนเขมรก็กินเครื่องกระป๋องอะไรเหมือนคนไทย แต่ของเขาไม่มีโรงงานผลิต เวียดนามก็เริ่มมีแค่ไม่เยอะเหมือนของไทย”
คุณไพบูลย์เล่าความเป็นมาว่าจากการเป็นลูกจ้างโรงงาน เขาได้เข้ามาทำกิจการร้านชำได้อย่างไร
![Chang grocery original 1985.jpg](https://images.sbs.com.au/d4/b0/459d684542059678ac0eaf7c97a9/chang-grocery-original-1985.jpg?imwidth=1280)
ร้านช้าง Thai grocery ในเมืองคาบรามัตตา รัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เริ่มทำการค้าขายมาตั้งแต่ปี 1985 Credit: Supplied/Paiboon Nerawong
“ตอนแรกมาทำงานโรงงานได้ประมาณ 7 ปี เรารู้จักกับเจ้าของร้านเดิมนี้ที่เป็นเขาเป็นคนลาว เพราะเมื่อก่อนตอนแรกๆ เราเคยทำกับเค้า เป็นพนักงานทั้งขาย ส่ง ตอนนั้นยังวัยรุ่น มีแรง อะไรทำได้ เราก็ทำ พอเค้าจะไม่ทำก็เรียกเรามาว่าอยากทำไหม เราก็เลยตกลงราคากัน”
“ตอนที่ซื้อมา ร้านนี้ขายของจากเมืองไทยอยู่แล้ว ขายให้คนไทยจำพวกอาหารกระป๋อง (สินค้า) ทุกอย่างที่มีบริษัทขายส่งมาให้เราขายปลีก ทำไปเรื่อยๆ มีลูกค้ามาประจำ แล้วก็รู้จักกันมานาน ทุกวันนี้ก็ยังมาที่ร้าน”
"เริ่มแรกเลยคือร้านช้าง เรามาเซ้งต่อก็มาเปลี่ยนเป็น Asian Imperial แต่ทุกคนก็รู้จักกันในชื่อ Imperial ร้านช้าง นั่นแหละ"
จุดกำเนิดร้านค้าไทยในรัฐนิวเซาท์เวลส์
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ร้านช้างเป็นร้านขายของชำไทยร้านแรกคู่กับร้าน BKK ในเมืองคาบรามัตตาซึ่งเป็นแหล่งขายของเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คุณ ไพบูลย์เล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นไทยทาวน์ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น
“ตอนนั้นก็มีร้าน import -export ของคนไทยในคาบรามัตตา ชื่อ BKK (ปิดดำเนินการ) เราสนิทกับเค้ามาก เราก็ไปช่วยเค้าทำงานไม่ได้รับเงินเดือนอะไร เพราะเราก็มีงานของเรา ที่ซิดนีย์ก็มีร้าน Lucky"
ของเราเป็นร้านขายปลีก ตอนนั้นไทยทาวน์ยังไม่มี มีแต่ไชน่าทาวน์ ตอนหลังชุมชนไทยมีเยอะขึ้น ก็เลยมีไทยทาวน์ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นร้านช้างเปิดก่อนนิดหนึ่งคุณ ไพบูลย์ (แดนนี) นีระวงศ์ เจ้าของร้านช้าง Thai grocery
![Khun wanida nerawong.jpg](https://images.sbs.com.au/e8/bc/a7b9db984b36b087009a5852bbd5/khun-wanida-nerawong.jpg?imwidth=1280)
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ร้านช้างเป็นร้านขายของชำไทยร้านแรกคู่กับร้าน BKK ในเมืองคาบรามัตตาซึ่งเป็นแหล่งขายของเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ Credit: Supplied/Paiboon Nerawong
คุณไพบูลย์บอกว่าเริ่มแรกร้านช้างไม่ได้นำเข้าสินค้าเข้ามาเองแต่เป็นการรับผลิตภัณฑ์จากบริษัทขายส่งแล้วนำมาขาย ซึ่งทางร้านพยายามนำเอาสินค้ามาจำหน่ายให้หลากหลายที่สุดให้กับลูกค้า
“พวกน้ำปลา น้ำพริกแกงต่างๆ ทุกอย่างที่เมืองไทยทำขาย ทางนี้ก็รับจาก import export ในออสเตรเลีย”
อ่านเพิ่มเติม
![Image for read more article 'อ่านเพิ่มเติม'](https://images.sbs.com.au/dims4/default/7a4f24b/2147483647/strip/true/crop/1920x1080+0+0/resize/1280x720!/quality/90/?url=http%3A%2F%2Fsbs-au-brightspot.s3.amazonaws.com%2Faf%2Fe7%2Fabe357dc4a82863681997c816b80%2Fthe-origin-thai-presentation-4.jpg&imwidth=1280)
ตามรอย 'ร้านอาหารไทยแท้ร้านแรกในออสเตรเลีย'
คุณไพบูลย์อธิบายว่าการขนส่งสินค้าในสมัยนั้นจะขนส่งมาทางเรือซึ่งจะใช้เวลาเกือบ 4 อาทิตย์ ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบันที่สะดวกกว่ามาก และนอกจากร้านช้างจะมีผลิตภัณฑ์อาหารสด อาหารแห้ง คุณไพบูลย์ก็ยังนำเอาสื่อสิ่งพิมพ์ เช่นนิตยสาร หนังสือพิมพ์จากเมืองไทยเข้ามาขายให้ลูกค้าได้ติดตามข่าวสารจากเมืองไทยด้วย
“ส่วนมากมาทางเรือ ประมาณ 4 อาทิตย์ กว่าสินค้าจะออกจากท่าเรือออกมา สมัยนั้นร้านเราก็ขายพวกแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ไทย ไทยรัฐ เดลินิวส์ มีหมดเลย ซีดี เพลง เราไปรับสนามบิน ก่อนอินเทอร์เน็ตเราขายหมด แต่หลังมานี้ไม่ได้ทำ เพราะมันหายไปหมด”
![Chang grocery with newspapers.jpg](https://images.sbs.com.au/4f/ac/81482d254cfd9a13d4b95f0efba7/chang-grocery-with-newspapers.jpg?imwidth=1280)
นอกจากร้านช้างจะมีผลิตภัณฑ์อาหารสด อาหารแห้ง ยังมีการจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ เช่นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ จากเมืองไทยเข้ามาขายให้ลูกค้าได้ติดตามข่าวสารจากเมืองไทย Credit: Supplied/Paiboon Nerawong
คุณไพบูลย์เปิดเผยว่าในสมัยนั้นไม่มีร้านที่ขายของไทยมากเท่าทุกวันนี้ ทำให้คนไทยที่อาศัยในนครซิดนีย์ หรือในพื้นที่ห่างไกลออกไป ต้องเดินทางมาซื้อของที่ร้าน รวมถึงร้านอาหารไทยก็มาสั่งของที่ร้านด้วย คุณไพบูลย์เล่าว่า
“มันก็ดีนะ เค้ามาซื้อที่นี่ถูกกว่าซิดนีย์เพราะค่าเช่าแพง เมื่อก่อนคนที่ซิดนีย์ก็มาซื้อ หรือร้านอาหารไทยที่ซิดนีย์ก็มาสั่ง เมื่อก่อนเราก็ขับรถไปส่งของ”
มรดกที่ส่งผ่านรุ่นสู่รุ่น
คุณ เอ็ดเวิร์ด นีระวงค์ ลูกชายคนที่สองของคุณไพบูลย์ที่มาสานต่องานที่ร้านเป็นเจเนอเรชันที่สอง เปิดเผยว่าการที่เปิดร้านขายของชำไทยทำให้ลูกค้าสามารถหาซื้ออาหารไทยไปประกอบอาหารได้มาหลายสิบปี มันทำให้พวกเขาลดความความคิดถึงบ้านไปได้มากก็น้อย
คุณ เอ็ดเวิร์ดเปิดเผยว่าอาหารที่เป็นที่นิยมตลอดกาลของลูกค้าชาวไทยคือสินค้าของแห้งเช่น ข้าว ขนมจีน ขนมต่างๆ น้ำปลา ปลาร้า เป็นต้น
“เมื่อก่อนลูกค้าที่มาซื้อแรกๆ ตอนนี้ก็ยังมาซื้อ พวกเขาเหมือนเพื่อน เรารู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำอาหารมาขายไม่งั้นพวกเขาอาจจะต้องกินแต่อาหารฝรั่ง เบอร์เกอร์ มันฝรั่งอะไรแบบนี้”
สินค้าขายดีก็พวก ข้าว น้ำปลา ปลาร้า ขนม กุนเชียง คิดว่าทำให้คนไทย (หาย) คิดถึงบ้านคุณ เอ็ดเวิร์ด นีระวงค์ เจ้าของร้านช้างรุ่นที่ 2
![chang grocery photo 2.jpg](https://images.sbs.com.au/0e/4e/740a0f5240b696964920a8da5c8d/chang-grocery-photo-2.jpg?imwidth=1280)
ร้านช้าง เป็นร้านขายของชำไทยที่อยู่คู่ชุมชนไทยในรัฐนิวเซาท์เวลส์มาเกือบ 40 ปี Credit: Supplied/Paiboon Nerawong
แต่จะมีการปรับปรุงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามาช่วย เขาบอกว่าสินค้าอาหารที่มาจากไทยได้รับความนิยมเพราะมีคุณภาพ
“ตอนนี้มี 2 ร้าน สมัยก่อนมี BKK ด้วยแต่ปิดไปแล้ว ของไทยดี คุณภาพดี ที่ร้านเวียดนามก็ขายหมด”
“มีปรับปรุงเรื่องเทคโนโลยี ให้ทำงานง่ายขึ้น ออนไลน์เซลล์ แล้วก็เปิดร้านอาหาร”
แม้ว่าปัจจุบันคุณไพบูลย์จะวางมือหลังจากเปิดร้านมาหลายทศวรรษ แต่เขาบอกว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจที่มีลูกชายเข้ามารับช่วงต่อและปรับปรุงร้านให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาชื่อเสียงและความเป็นมาของร้านที่อยู่คู่ชุมชนไทยในรัฐนิวเซาท์เวลส์มาเกือบ 40 ปี
“ตอนนี้ได้ลูกมาสานต่อเราก็ภูมิใจ เพราะเราทำมาขนาดนี้ เขามีความรู้ทางเทคโนโลยีมากกว่าเรา”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่