กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ปัจจุบันอาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมากในออสเตรเลีย เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องรสชาติ ส่วนประกอบที่มีสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพ
หรือการที่คนออสเตรเลียได้ไปท่องเที่ยวและสัมผัสวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมากขึ้น หรือการที่ราคาไม่แพงเกินไปและคนทั่วไปสามารถจ่ายได้ เหตุผลเบื้องต้นดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมร้านอาหารไทยในออสเตรเลียเติบโตแบบก้าวกระโดด
จากข้อมูลใน เนื่องในโอกาส การประชุมนานาชาติไทยศึกษา จัดทำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ฟิลิป เฮิร์ช (Dr. Philip Hirsch) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ประชากร จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เปิดเผยว่าในปี 2014 แค่เพียงในนครซิดนีย์แห่งเดียวมีร้านอาหารไทยอยู่ประมาณ 678 แห่ง
“เฉพาะในซิดนีย์และแถว (รอบๆ) ซิดนีย์มีร้านอาหารไทยประมาณ 678 แห่งที่ลงใน Australian Thai restaurant directory”
ดร. ฟิลิป ระบุว่า ในการสำรวจในปี 2014 พบว่าเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยในออสเตรเลียกับจำนวนร้านอาหารไทยแล้ว เป็นสัดส่วนที่ต่างกันมาก
และเมื่อเทียบจำนวนร้านอาหารไทยกับร้านอาหารทั่วไป คิดเป็น 1ใน 4 ซึ่งถือว่าร้านอาหารไทยก็เป็นส่วนสำคัญเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในออสเตรเลีย
“ ปี 2014 ถ้าจะดูตามรายการของร้านอาหาร ประมาณ 1 ใน 4 ของร้านอาหารทั้งหมดเป็นร้านอาหารไทย ซึ่งถือว่ามีผลพอสมควรในการรู้จักประเทศไทยผ่านอาหาร”
ตามรอยที่1 ร้านอาหารไทย ร้านแรกในออสเตรเลีย Credit: SBS Thai/Supplied
จุดกำเนิดร้านอาหารไทยรสชาติไทยแท้ในออสเตรเลีย
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ชุมชนไทยในออสเตรเลียยังมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับชายชาวออสเตรเลีย นักเรียน พนักงานรายการวิทยุ radio Australia นักเรียนการทหาร เป็นต้น
คุณโรเบิร์ตและคุณประภา ลาร์คิน ก็เป็นคู่สามี ภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกัน หลังจากที่พบรักกันเมื่อครั้งคุณโรเบิร์ตไปทำงานในฐานะนายช่างที่กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และพบคุณประภาที่ทำงานอยู่ที่นั่น หลังจากแต่งงานกัน ทั้งสองตัดสินใจลงหลักปักฐานในนครเมลเบิร์น คุณประภาเล่าความหลังในสมัยนั้นให้เอสบีเอสไทยฟังว่า
“ครั้งแรกมาออสเตรเลีย เมื่อ ปี 1972 แล้วมาแต่งงานปี 1973 ตอนนั้นทำงานอยู่ที่กรมชลฯ อยู่2 ปี แล้วคุณโรเบิร์ตก็ถามว่า อยากไปออสเตรเลียไหม (เรา) ก็ไม่รู้จัก ตอนนั้นทุกคนก็เห่อแต่อเมริกา ก็บอกไปๆ ไปต่างประเทศ ก็มาเรียนที่ RMIT แล้วทำงานที่ Repco export แล้วก็แต่งงาน แล้วก็อยู่ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”
คุณโรเบิร์ต เล่าให้เราฟังว่าชุมชนไทยในสมัยนั้นทุกคนรู้จักกันหมดเพราะเป็นชุมชนขนาดเล็ก
“ตอนเราที่แต่งงานกัน ตอนนั้นในเมลเบิร์น มีคนไทยไม่กี่คน หลักๆ คือกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวออสเตรเลีย มีคนไทยที่ทำงานที่ Radio Australia มีนักเรียนทุนโคลัมโบ นักเรียนทั่วไป และนักศึกษาทหารเพียงไม่กี่คนเท่านั้น”
และด้วยความเป็นชุมชนเล็กๆ จึงได้มีการพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำและหนึ่งในวัฒนธรรมของคนไทยคือ เมื่อมีงานเลี้ยงต้องมีการทำอาหารมาแบ่งกันรับประทานเสมอ คุณโรเบิร์ตเล่าว่า
“เพราะเราเป็นชุมชนเล็กๆ เราก็เจอกันพบปะสังสรรค์ แล้วก็ทำอาหารมาแบ่งกันทานเป็นประจำ จนมาถึงจุดที่เราทำอาหารเลี้ยงคนสัก 50 คน แต่มีคนมา100 คน หรือถ้าเราทำอาหารเลี้ยงคนสัก 200 คนมาจริง 500 คน”
เมื่อคุณพ่อของคุณโรเบิร์ตทราบว่ามีคนจำนวนมากตั้งตารอมาชิมอาหารไทยที่คุณประภาทำเป็นประจำจึงเสนอให้ทั้งสองเปิดร้านอาหารไทย
เมนูของร้านอาหารบ้านไทยในปี 1977 Credit: Supplied/Bob Larkin
ในที่สุดร้านอาหารบ้านไทยจึงถือกำเนิดขึ้นบนถนน St Kilda Road ในช่วงท้ายปี 1976 และเมื่อจัดการเรื่องใบอนุญาตต่างๆ เรียบร้อย ร้านบ้านไทยได้เปิดทำการเต็มตัวในช่วงต้นปี 1977 คุณโรเบิร์ตเล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“คุณพ่อของผมแนะนำให้เปิดร้านอาหาร เขาเห็นว่าน่าจะทำเงินได้มาก แล้วจริงๆ เราก็ทำกำไรได้เยอะอย่างที่พ่อว่านั่นแหละ จนในที่สุดเราก็เปิดร้านที่ถนน St Kilda มันเคยเป็นสตูดิโอถ่ายภาพยนตร์มาก่อน เราเอามาปรับปรุง ผมคิดว่าเราเปิดขายต้นปี 1977 แล้วธุรกิจก็เริ่มจากตรงนั้น”
เมนูอาหารสุดแซ่บ
คุณประภาเล่าให้ฟังว่าก่อนจะเปิดร้านได้ไปทำการศึกษาวิธีการทำอาหารและการทำเมนูอาหารที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งกรุงเทพฯ รวมถึงได้สั่งน้ำพริกแกงมาจากร้านทำน้ำพริกที่ประเทศไทยส่งตรงมาที่เมลเบิร์น
“น้ำพริกแกงของที่ร้านจะสั่งมาจากกรุงเทพ สั่งทีละ 200 กิโลมาทางเครื่องบิน ให้ร้านทำน้ำพริกทำส่งมาโดยเฉพาะแล้วค่อยมาตรวจพิสูจน์ที่นี่ว่าไม่มีส่วนประกอบที่ไม่ได้รับอนุญาติให้เข้ามาในออสเตรเลีย ก็จะมีน้ำพริกแกงเขียวหวาน แกงแดง มัสมั่น แพนง แกงกะหรี่”
คุณโรเบิร์ตเสริมว่าพวกเขาตกลงกับการบินไทยเพื่อขนส่งเครื่องแกงทุกเดือน ซึ่งปริมาณเครื่องแกงที่ส่งมานั้นจะใส่ถุงพลาสติกและบรรจุมาในถังขยะขนาดใหญ่1 ถัง
“เราโชคดีที่ตอนนั้นการบินไทยมีการขนส่งสินค้าไม่มากนักและเราก็สามารถตกลงกับสายการบินให้ส่งน้ำพริกแกงมาให้เราทุกเดือนเราส่งพริกแกงมาเยอะมากเต็มถังขยะใหญ่ๆ 1 ถัง ”
คุณประภาเปิดเผยว่าเมนูที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามากที่สุดคือ เมนูแกงเขียวหวาน แม้ว่าทางร้านจะเตือนลูกค้าว่าแกงเขียวหวานจะเผ็ดแต่ลูกค้าก็ไม่ฟัง
ที่คนชอบทานมากคือแกงเขียวหวานบอกพวกเขาว่าเผ็ด เขาก็ไม่ฟังคุณ ประภา ลาร์คิน เจ้าของร้านบ้านไทย
เผ็ดจนน้ำตาไหลแต่ทำไมคนหลั่งไหลมาลิ้มลอง
ร้านอาหารบ้านไทยถือเป็นร้านอาหารที่ใหญ่โตในสมันนั้นเพราะมีถึง 2 ห้อง และมีจำนวนที่นั่งประมาณ 70 ที่นั่ง คุณโรเบิร์ต เล่าว่า
“มีที่นั่งทั้งหมดประมาณ 70 ที่นั่ง เรามีสองห้องห้องด้านหน้านั่งได้ประมาณ 40 คน ด้านหลังอีกสัก 30 คน แต่บางทีก็รับคนได้ถึงเกือบร้อยคน”
นักรีวิวอาหารจาก Melbourne Herald มารับประทานอาหารที่ร้านบ้านไทยแล้วเอาไปเขียนวิจารณ์ในคอลัมน์ Credit: Supplied/Robert Larkin
คุณโรเบิร์ตเล่าเหตุการณ์ที่นักรีวิวอาหารจาก Melbourne Herald มาลองทานอาหารแล้วกลับไปเขียนรีวิวว่า “Blinking back the hot-water tears” แล้วกลายเป็นทอลก์ออฟเดอะทาวน์ว่า
“ในตอนที่เราเปิดร้านใหม่ๆ ก็มีนักวิจารณ์อาหารคนแรกๆ เข้ามาชิมอาหารที่ร้าน หลังจากนั้นเขาเอาไปเขียนว่า เขาอยากจะบรรยายถึงเรื่องรสชาติอาหาร แต่พอชิมพริกแกงไปได้คำเดียวก็พูดอะไรไม่ออก เพื่อนๆ ของเขาที่มาด้วยก็ได้แต่นั่งหัวเราะ เขาเป็นคนอังกฤษซึ่งไม่เคยลองอาหารที่เผ็ดแบบที่เราขายมาก่อน"
"เพื่อการตลาด เราเขียนไว้ในเมนูว่าคนที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรสั่งแกงหรือควรแจ้งให้เราทราบ เพื่อจะได้เรียกรถพยาบาลทันหากคุณมีอาการหัวใจวาย แต่ยิ่งเราเตือนเท่าไหร่ ก็มีคนอยากมาลองมากขึ้นเท่านั้น”คุณ โรเบิร์ต ลาร์คิน เจ้าของร้านอาหารบ้านไทย
แม้แต่คนดังก็ยังมาลองอาหารไทย
ร้านบ้านไทยเป็นร้านอาหารไทยที่เต็มไปด้วยความทรงจำ และมีหลายๆ เหตุการณ์ที่คุณโรเบิร์ตเล่าว่า เป็นเหตุการณ์บันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่ได้ต้อนรับดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวธิเบตและชาวพุทธทั่วโลก
“คืนหนึ่ง มีคนจองโต๊ะมาเป็นกลุ่ม เราก็ไม่รู้จักว่าพวกเค้าคือใคร สักประมาณ 3 ทุ่ม พวกเขามาถึง เราเพิ่งรู้ว่าคือ องค์ดาไลลามะกับคณะผู้ติดตามประมาณสัก 20 คน แม่ครัวของเราบอกว่าเธอทำอาหารให้ไม่ได้เพราะพระองค์เป็นนักบวชในศาสนาพุทธ ที่จะไม่ฉันข้าวเย็นแต่องค์ดาไลลามะบอกว่าไม่เป็นไรหรอกพระองค์ใช้เวลาเนปาลซึ่งยังเป็นตอนเช้าอยู่”
นอกจากไอคอนระดับโลกอย่างดาไลลามะจะมาเยือนที่ร้านยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ที่มารับประทานอาหารที่ร้านบ้านไทย เช่น คุณ บ็อบ ฮอว์ก นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของออสเตรเลียและเป็น นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
“นายกรัฐมนตรี บ็อบ ฮอว์ก ก็มาทานที่ร้าน เราไม่รู้ว่าเขาจะมา แต่ลูกสาวของเขาเป็นลูกค้าประจำของเราเธอบอกว่าเดี๋ยวพ่อของฉันจะมาทานด้วย จนมีคนเข้ามานั่งแล้วเราถึงเห็นว่าเป็น บ็อบ ฮอว์ก ถ้าเรารู้ว่าเป็นเขา เราคงจะให้เขาไปนั่งโต๊ะที่เป็นส่วนตัวกว่านี้ แต่วันนั้นเขานั่งข้างหน้าร้านเลย ใครเข้ามาก็เห็นว่านายกฯ นั่งทานข้าวกับลูกสาว”
นายกรัฐมนตรี บ็อบ ฮอว์ก หนึ่งในลูกค้าของร้านบ้านไทย Credit: Keystone/Hulton Archive/Getty Images
“ลูกค้าของเราคนหนึ่งเป็นผู้จัดการ ชื่อ เคน โบรเซียแอค แล้วเขาเป็นผู้จัดการนักร้องชื่อดังสมัยนั้น คุณ จอห์น ฟาร์นแนม ตอนที่เขามาทานข้าว ทุกคนพร้อมใจกันถามว่า ช่วยร้องเพลงให้เราฟังหน่อยได้ไหม?”
ในเวลานั้นมันไม่มีร้านอาหารแบบนี้ที่ไหน เราจึงเป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คน เรามีคนมากหน้าหลายตามาทานอาหารที่ร้าน ทั้งคนที่มีชื่อเสียงและคนทั่วไปคุณ โรเบิร์ต ลาร์คิน เจ้าของร้านอาหารบ้านไทย
ถึงเวลาขยายร้าน
ต่อมา ราว ปี 1987 คุณโรเบิร์ตและคุณประภา ได้ย้านร้านบ้านไทยที่ถนน St Kilda Road ไปที่ Prahran market ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีที่นั่งเยอะกว่า ในช่วงนั้น คุณประภาและคุณโรเบิร์ตเล่าว่าเป็นช่วงที่อาหารไทย เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวคนออสเตรเลียและเริ่มมีร้านอาหารไทยเปิดเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
“ตอนที่เราย้ายร้านไปตลาดพาแรน เริ่มมีร้านอาหารไทยเปิดเยอะ น่าจะสัก 10-12 ร้านได้ ตอนนั้นคนไทยเริ่มเข้ามาเยอะ เริ่มมีร้านอาหารลาว อาหารอีสาน หลายๆคน มาเปิดร้านอาหารมากขึ้น มีคู่สามี ภรรยาชาวไทยกับชาวออสเตรเลียมากขึ้นด้วย”
ทำไมร้านอาหารในตำนานต้องปิดตัว
กว่า 12 ปีที่ร้านบ้านไทย ไม่เพียงแต่ได้เผยแพร่อาหารรวมถึงวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวออสเตรเลียในวงกว้าง ร้านบ้านไทยยังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยให้ชุมชนเล็กๆ เป็นที่รู้จักและยอมรับในออสเตรเลีย คุณโรเบิร์ตและคุณประภาเปิดเผยว่าการตัดสินใจปิดร้านที่มีเรื่องเล่าและความทรงจำมากมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย
“มันถึงขั้นที่คุณตุ่มกลายเป็นคนบ้างาน เธอตื่นนอนตอนเช้าราว 10.00 น. และทำงานจนถึง 4 ทุ่ม และกว่าจะกลับบ้านก็ ตี 1 ตี 2 ตอนนั้นเรามีลูกสาม เราต้องให้คุณยายบินมาจากเมืองไทยและมาดูแลลูกๆ แต่เราก็ไม่มีเวลาให้กับพวกเขา"
มันถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะเลือกร้านอาหารหรือครอบครัว เราจึงตัดสินใจขายร้านให้กับหลานชายคุณ โรเบิร์ต ลาร์คิน เจ้าของร้านบ้านไทย
อาหารไทยดังไกลทั่วโลก
เกือบ 50 ปี ผ่านมา คงปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันในออสเตรเลียคงไม่มีใครไม่รู้จักอาหารไทย มีร้านอาหารไทยใหม่ๆ เปิดกิจการมากมายทั้งในเมืองใหญ่ๆ และในเมืองส่วนภูมิภาคที่ห่างไกลทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นในปี นี้ยังมีคนไทยที่นำเอาอาหารไทยไปแข่งขัน จนได้แชมป์ในรายการอาหารที่มีผู้ชมติดตามมากที่สุดรายการหนึ่งของออสเตรเลีย
ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าอาหารไทยเป็นหนึ่งในอาหารยอดฮิตระดับโลกอย่างแท้จริง คุณโรเบิร์ตเปิดเผยว่าวิวัฒนาการของอาหารไทยและร้านอาหารไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี
การที่คนรู้จักอาหารไทยมากขึ้น ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น บางครั้งไม่จำเป็นต้องมีรายการอาหารมากมายในเมนู เพียงแค่เลือกและเชี่ยวชาญในการทำอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษก็เพียงพอที่จะทำให้ติดตลาดได้
"ทุกวันนี้มีร้านอาหารไทยเปิดเยอะแยะไปหมด คิดว่าตอนนี้ผู้คนรู้จักอาหารไทยดี และจะไปตามหาร้าน
อร่อยๆ มีคนบอกฉันว่า คุณควรไปร้านที่ริชมอนด์ ที่มีอาหารจานนี้ขายโดยเฉพาะ มันเหมือนเมืองไทยมากขึ้นที่คนจะไปร้านที่ขายเฉพาะอาหารบางอย่างที่พวกเขาทำอร่อยที่สุด”
และนี่คือเรื่องราวของการตามรอย ร้านอาหารไทยแท้ร้านแรกในออสเตรเลีย ในพอดคาสต์ซีรีส์ The Origin ตามรอยไทยในออสเตรเลีย
ฟังเรื่องราวเต็มๆ ได้ที่นี่:
LISTEN TO
ตามรอย 'ร้านอาหารไทยแท้ร้านแรกในออสเตรเลีย'
SBS Thai
24/10/202422:17
_________________________________________________________________________
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
คำถามอะไรที่ชาวออสเตรเลียมากกว่าหนึ่งล้านคนไม่กล้าถามนายจ้าง?