คนไทยในออสฯ ส่งเสียงถึง สว. สะท้อนทัศนะการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 66

Democracy monument during twilight time,Thailand

พรรคอันดับหนึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ สว.250 ควรมีบทบาทอย่างไร คนไทยในไทยและออสเตรเลียร่วมสะท้อนความเห็น Source: Moment RF / Tumjang/Getty Images

2 เดือนกว่าคนไทยจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่ และนายก ฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการ ช่วงนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้จนต้องจับตาอย่างไม่กะพริบ ตั้งแต่การจับมือร่วมรัฐบาล บทบาทของ กกต. และ สว.250 เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในจอและนอกจอ คนไทยในออสฯ สะท้อนความเห็นในประเด็นนี้อย่างไร


วรรณวิดา จิรเลิศไพบูลย์ ติณระวัฒน์ บัญญัติ และ ชญาดา พาวเวลล์
เอสบีเอส ไทย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ของไทย เสร็จสิ้นลงแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของ กกต. มี 3 พรรคในแนวร่วมประชาธิปไตยที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชน นำโดยพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ตามลำดับ

แม้จะมีการประกาศออกมาในเรื่องการจับมือกับพรรคอื่น ๆ ของพรรคก้าวไกลเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลออกมาแล้ว แต่กว่าจะได้รู้ผลอย่างเป็นทางการว่า นายก ฯ จะเป็นใคร รัฐบาลชุดแรกหน้าตาแบบไหน ก็ต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการโดย กกต. ที่อาจกินเวลาถึง 60 วัน ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา และโหวตเลือกประธาน ส.ส. จากนั้น จึงจะสามารถโหวตเลือกนายก ฯ คนใหม่ จัดตั้งรัฐบาล และทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คงต้องรอถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 เป็นอย่างน้อย
กด ▶️ เพื่อฟังรายงาน
SYD THAI POLITICAL MOVEMENT RNF POD image

คนไทยในออสฯ ส่งเสียงถึง สว. สะท้อนทัศนะการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 66

SBS Thai

23/05/202320:36
สิ่งหนึ่งที่หลายคนจับตาในเส้นทางการเมืองไทยหลังเลือกตั้งปีนี้ คือบทบาทของ สว. 250 คน ซึ่งมีอำนาจในการเลือกบุคคลที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูณไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้รับการลงมติเห็นชอบจากประชาชน 16 ล้านเสียง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในยุครัฐบาล คสช. และประเด็น “อภินิหาร” กกต. ที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประชาชนไม่น้อยกังวลว่าอาจมีอิทธิพลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้
Move Forward Party And Supporters Celebrate The Election Results
15 พ.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โบกมือทักทายผู้สนับสนุน ระหว่างฉลองผลการเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด Source: NurPhoto / NurPhoto/NurPhoto via Getty Images
แต่สิ่งที่จุดชนวนการถกเถียงอย่างร้อนแรงในสังคม คือการที่ สว. บางส่วน ออกมาแถลงจุดยืนผ่านรายการโทรทัศน์ที่เมืองไทย ว่าจะไม่ยกมือเลือกให้พรรคก้าวไกลซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากประชาชน ให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล สร้างความไม่พอใจไปจนถึงการตั้งข้อกังขาของการมีอยู่ของ สว. 250 คน ในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคแนวรวมประชาธิปไตยโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งส่วนมากเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ จนเป็นที่มาของ hashtag #สวมีไว้ทำไม และการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ทั้งในจอและนอกจอ
ภาพคนไทยจากกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (AATD) ระหว่างชุมนุมในนครซิดนีย์
20 พ.ค. 2566 ชาวไทยส่วนหนึ่งจากกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (AATD) ระหว่างชุมนุมเพื่อส่งเสียงไปยัง สว.ให้เลือกนายกฯ ตามเสียงประชาชน Credit: Wanvida Jiralertpaiboon/SBS Thai
คลื่นความร้อนจากประเด็นการเมืองไทยแผ่ไกลไปถึงคนไทยในออสเตรเลียด้วย โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 พ.ค.) คนไทยจำนวนหนึ่งในออสเตรเลีย จากกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (The Australian Alliance for Thai Democracy) ได้ไปรวมตัวกันในย่านไทยทาวน์ของนครซิดนีย์ เพื่อส่งเสียงจากต่างแดนไปยังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เมืองไทยให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis ผู้นำกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย เชื่อว่าเหตุผลของการที่คนไทยบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ คือความไม่พอใจของหลาย ๆ คน ต่อท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จนต้องออกมาส่งเสียงอีกครั้งให้รับรู้ว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการคืออะไร
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis ผู้นำกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis ผู้นำกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (AATD) Credit: Wanvida Jiralertpaiboon/SBS Thai
“กิจกรรมนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเชื่อว่าเป็นอารมณ์ร่วมของหลาย ๆ คน ทั้งที่ไทยและในซิดนีย์ ก็คือความรู้สึกโกรธที่ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วว่าอยากให้พรรคไหนเป็นแกนนำก่อตั้งรัฐบาล แต่ท่าทีของ สว. ที่เราได้เห็นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายคนรู้สึกว่า จะต้องออกมาทำให้เสียงของประชาชนเป็นที่รับรู้อีกรอบหนึ่งใช่ไหม เขาจะได้รู้ว่านี่คือเจตจำนงของประชาชน คือฉันทามติที่ทุกคนมีร่วมกัน” คุณโมกล่าว
เราต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องออกมาย้ำเตือนว่านี่เป็นสิ่งที่ทุกคนคิดตรงกัน ... เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนที่สุด
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis
เช่นเดียวกับ คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม แสดงความกังวลกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับผลการเลือกตั้ง พร้อมย้ำให้ สว. ทำสิ่งที่ถูกต้อง
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (AATD)
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยไทย (AATD) Credit: Wanvida Jiralertpaiboon/SBS Thai
“ตอนแรกดีใจมากค่ะ แล้วก็สักพักหนึ่งกังวล เพราะพอเรามาคิดถึงจำนวนที่นั่งที่ทางพรรคฝั่งประชาธิปไตยได้ ถึงแม้ตอนแรกถึง 310 ที่นั่งแล้ว มันก็ยังไม่เพียงพอให้ได้กึ่งหนึ่งของสภา 376 เสียง มันทำให้เกิดความกังวล และยิ่งเรารู้อยู่แล้วว่า 250 ที่เราจะหามาเพิ่มจากตรงนั้นให้ได้ครบ มันไม่สามารถ ... มันอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่ามันยากนิดนึง เพราะว่า 250 นั้นเป็นเสียงที่มาจากกลุ่มคนกลุ่มเก่าที่เขาเลือกมาไว้แล้ว” คุณแอมป์ กล่าว
อยากจะส่งข้อความไปขอร้อง สว. ให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ขอแค่นั้นเลย ประชาธิปไตยคือประชาธิปไตย 14 ล้านเสียงที่เราได้มามันคือประชาธิปไตย อย่าให้กลุ่มของพวกคุณเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ทำให้ประเทศของเราเจริญกว่านี้
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ

คนรุ่นใหม่ ‘พอแล้ว’ กับรัฐบาลชุดเก่า

ดร. ศิวพล ชมภูพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร อธิบายถึงปรากฎการณ์ของการเมืองไทยที่มีพลังคนรุ่นใหม่ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก และมีส่วนให้พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยระบุว่า พวกเขาเติบโตมาภายใต้เงาของรัฐบาลชุดก่อนที่มาจากการรัฐประหาร และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

“เด็กรุ่นนี้ เอารุ่นที่เป็นลูกศิษย์ผมแล้วกัน ช่วงนิสิตช่วงชั้นปี 1-4 เขาเติบโตมาในการรับรู้ความเป็นไปทางการเมืองภายใต้ยุคที่รัฐบาลคุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเคยเห็นการรัฐประหารอย่างต่ำมาก็ 2 ครั้ง ก็คือปี 2549 (ยุค คมช.) และปี 2557 (ยุคคุณประยุทธ์) ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว (พวกเขา) เด็กมาก” ดร. ศิวพล กล่าว

“แน่นอนเขาโดนกล่อมเกลา เขาโดน socialisation (ขัดเกลาทางสังคม) มาแบบหนึ่ง แล้วในวันที่เขาเห็นการกดทับใด ๆ ของรัฐบาลยุคก่อน หรือการข่มขู่คุกคามกับฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่เห็นต่าง เขาเห็นแน่นอน เพราะฉะนั้น กระแสที่เขาเติบโตมาก็คือจากการเคลื่อนไหวในการชูสามนิ้ว”
กระแสวันนี้ มันเห็นได้ชัดว่าพลังคนรุ่นใหม่เขาโอเคกับคุณพิธา หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคแนวร่วมที่เป็นพรรคในเชิงที่เราเรียกว่าพรรคประชาธิปไตย
ดร. ศิวพล ชมภูพันธ์
“เขาเริ่มมีการเหมารวมอะไรบางอย่างในเรื่องที่เป็น สว. ว่าจะเป็นผู้สูงอายุบ้าง ความต่างทางอายุบ้าง ใด ๆ ก็แล้วแต่ มันอาจจะทำให้เขาเกิดกระแสการรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่ามันเป็นไปในแนวทางที่ดี ไม่ได้มีการแบ่งเฉดกันอย่างชัดเจนเหมือนสมัยสงคราม หรือที่เราเรียกกันเล่น ๆ ว่ากีฬาสี”

ผลเลือกตั้งชี้ประชาชน 'ต้องการออกจากเงาเผด็จการ'

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งมาร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ชุมนุมในนครซิดนีย์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นการออกจากระบอบเผด็จการ และเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปประเทศ จากเสียงของประชาชนส่วนหนึ่งที่ลงคะแนนให้กับพรรคที่กล้าหยิบยกประเด็นใหญ่ ๆ เช่น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกองทัพ
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมือง Credit: Wanvida Jiralertpaiboon/SBS Thai
“สำหรับผม การเลือกตั้งครั้งนี้คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างหลัก ๆ ของการเมืองไทย” คุณปวิน กล่าว

“มันเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผลการเลือกตั้งมันทำให้ออกจากระบอบเดิม อย่าลืมว่ารัฐบาลสองชุดที่ผ่านมา ชุดแรกก็คือรัฐประหาร ถัดมาก็เป็นของคุณประยุทธ์ ก็เป็นพวกเดียวกัน เพราะฉะนั้น อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นการออกจากเงาของเผด็จการก็ว่าได้” คุณปวินกล่าว

“อันที่สอง การเลือกตั้งครั้งนี้ ผลมันออกมาคือพรรคก้าวไกลได้รับเสียงมากที่สุด เผอิญว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายหลายอันที่ critical มาก ๆ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปมาตรา 112 และอาจจะมีการแตะถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย รวมถึงปฏิรูปกองทัพ ซึ่งไม่มีพรรคไหนเลยที่พูด”
แล้วการที่ไม่มีพรรคไหนที่พูด และเป็นพรรคเดียวที่พูดเรื่องนี้และได้เสียงมากที่สุดด้วย มันบอกอะไรเราหลายอย่าง มันบอกว่าสังคมส่วนหนึ่งต้องการที่ให้เมืองไทย move on สักที และไม่ใช่แค่ move on เฉย ๆ แต่ move on โดยต้องหยิบเอาประเด็นยาก ๆ ขึ้นมาพูดสักทีหนึ่ง
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

'เสียงส่วนใหญ่' ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป

คุณปิยบุตร (นามสมมุติ) คนไทยจากนครเมลเบิร์นคนหนึ่ง ได้สะท้อนความเห็นอีกมุมหนึ่งต่อการเคลื่อนไหวกดดัน สว. ของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล โดยมองว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป พร้อมย้ำถึงความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. และโดยเฉพาะ สว. ในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการบริหารบ้านเมือง

“เสียงส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป พวกเราหลายคนอาจจะลืมการปฏิวัติสีส้มในยูเครนเมื่อปี 2547 ที่มีสหรัฐ ฯ ให้การสนับสนุน การปฏิวัติครั้งนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทางการเมืองของยูเครน แล้วก็เป็นจุดกำเนิดของความวิบัติที่ชาวยูเครนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้” คุณปิยบุตร กล่าว

“เพราะฉะนั้นแล้ว การเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญมากที่สุดกับการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งการใช้จำนวนเสียงเลือกตั้งสูงสุดมากดดันก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว”
ผู้นำประเทศจะต้องมีความสามารถถึงพร้อมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และวุฒิภาวะ เพราะหากเรามีประชาธิปไตยแบบตามใจฉันก็คือเผด็จการ แต่ถ้ามีเสรีภาพไร้ขอบเขตมันก็คืออันธพาล
คุณปิยบุตร
คุณปิยบุตร ยังแสดงทัศนะอีกว่า ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ สว.เลือกนายก เพื่อปิดทางไม่ให้ขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อฝ่ายเสรีนิยมได้รับชัยชนะ ซึ่งเกินความคาดหมายของหลายฝ่ายแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลเอง แต่ตอนนี้กลับใช้วิธีกดดันด้วยวิธีต่าง ๆ ให้ สว. ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ตนเคยพยายามลดทอนอำนาจให้เลือกฝ่ายตนเป็นรัฐบาล เข้าทางสำนวนที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

"ถ้าหากเรายังจำกันได้พรรคก้าวไกล มีความพยายามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งตรงบนเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว. มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ไม่สำเร็จ เพื่อตัดทอนฐานเสียงในรัฐสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือครั้งนี้ กรณีที่ขั้วรัฐบาลเดิมสามารถชนะการเลือกตั้ง เพราะว่าไม่มีประโยชน์กับพรรคก้าวไกล ณ ตอนนั้น โดยมีข้ออ้างหลากหลาย"

"แต่ทว่า เมื่อฝ่ายเสรีนิยมสุดโต่งอย่างพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแบบพลิกความคาดหมายของทุกฝ่าย แม้แต่พรรคก้าวไกลเอง ทำให้ตอนนี้ เสียงของ ส.ว. 250 คน มีความหมายขึ้นมาในทันทีในสถานการณ์การเมืองเวลานี้ เพราะเป็นทางสุดท้ายที่จะทำให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เข้าทำนองว่าเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง"

คุณปิยบุตรมองว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลในอนาคต ก็อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูณเพื่อเปิดทางให้ สว.ที่เข้ามาในสภาเป็นคนที่อยู่ในอาณัติของตน และอาจทำให้รากฐานการปกครองของประเทศ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความสั่นคลอน
Aerial view of the Grand Palace in Bangkok illuminated at night . Thai culture .
พระบรมมหาราชวังในยามค่ำคืน Source: Moment RF / kiszon pascal/Getty Images
"ในอนาคต ไม่แน่ว่าหากพรรคก้าวไกลสามารถเป็นรัฐบาลแล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง แล้วเราอาจเห็นว่ามีการให้อำนาจ ส.ว. มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้ เนื่องจากว่า ณ เวลานี้ มวลชนสีส้มขยายตัวแบบเขย่งก้าวกระโดด การมี สว. ในอาณัติของพรรคก้าวไกลก็จะมีประโยชน์มหาศาลกับการแก้ไข และการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมตลอดกาล"

"ทั้งการแก้ไขที่เหมือนกับการยกเลิกมาตรา 112 ที่จะทำให้เสาหลักของชาติพังทลาย เราก็จะได้นักการเมืองหลากหลายสายพันธุ์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป มาเป็นประมุขของรัฐแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่เราอาจจะได้เห็นพ่อค้ายาเสพติด เจ้ามือหวย เจ้ามือบ่อน เจ้าแม่ร่างทรง หรือว่าต่างชาติส่งตัวแทนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ประเทศไทยก็จะได้เป็นสาธารณรัฐแทนราชอาณาจักร"

คุณปิยบุตร กล่าวอีกว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการบริหารประเทศ คือต้องไม่ปฏิเสธหรือย่ำเหยียบรากเหง้าความเป็นชาติและวัฒนธรรมไทย
ตามความคิดของผม สิ่งที่ควรปรับก็คือ ทัศนคติที่ปฏิเสธรากเหง้าของความเป็นชาติ วัฒนธรรมของไทย การบูชาชาติและวัฒนธรรมตะวันตก เพราะเมื่อตัวคุณปฏิเสธรากเหง้าของตัวเองแล้ว คุณก็จะไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ที่จะให้ร่มเงาหรือให้ดอกผล ก็จะเป็นเพียงวัชพืชที่ไม่มีประโยชน์ที่จะถูกคนต่างชาติเหยียบย่ำอย่างไร้ศักดิ์ศรีและคุณค่า
คุณปิยบุตร
นอกจากการเคารพรากเหง้าของความเป็นชาติและวัฒนธรรมไทยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณปิยบุตรมองว่าควรจะเกิดขึ้น คือการพัฒนาคุณภาพพลเมืองให้ก้าวทันตามการพัฒนาทางวัตถุ พร้อมย้ำว่าปัญหาของประเทศนั้นอยู่ที่นักการเมืองไม่ใช่สถาบันกษัตริย์

“หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจริง และควรทำนะครับก็คือ หาวิธีการพัฒนาคุณภาพของพลเมืองให้ทันกับการพัฒนาวัตถุ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญที่สุดของปัญหาทุกอย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะตัวนักการเมืองที่สามารถแก้ไขและออกกฎหมายต่าง ๆ”
เพราะว่าปัญหาของประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ที่ตัวนักการเมือง
คุณปิยบุตร

เมื่อ สว.250 ยังมีบทบาท ก็ต้องตามกติกา

คุณโอ๊ต คนไทยในนครซิดนีย์ สะท้อนความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า แม้ส่วนตัวจะเห็นว่า ส.ส. ควรมีหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หากจะให้การเมืองเดินต่อไปได้ ก็จะต้องเคารพหลักตามรัฐธรรมนูณในฉบับปัจจุบัน เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรนั้นก็ค่อยว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

“การเรียกร้องให้ สว.โหวตตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ตอนนี้ ผมมองว่า เราควรที่จะกลับเข้าสู่กระบวนการกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ สส. ก็มีสิทธิ์ที่จะโหวตได้ ส่วน สว. ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขามีสิทธิ์ที่จะสามารถโหวตได้ เพราะ สว. เองก็ผ่านประชามติของประเทศไทย 18 ล้านเสียง แล้วในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถโหวตร่วมกันได้ 2 สภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี” คุณโอ๊ต กล่าว
Members of the National Legislative Assembly (NLA) place
ห้องประชุมในอาคารรัฐสภาของไทย Source: LightRocket / Piti A Sahakorn/LightRocket via Getty Images
เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ การที่จะไปกดดันเพื่อให้ สว. ให้ทำตาม อันนี้ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย เราอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เราทราบอยู่แล้วว่า ไม่มีครั้งไหนที่มันมีการเลือกตั้งเสร็จแล้วจะต้องไปบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้ทำตาม ไม่มีครับ
คุณโอ๊ต
 “ใจจริงผมในตรงนี้ ก็คือควรจะเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ในการโหวตเลือกนายก ฯ มากกว่า สว. ควรที่จะอยู่ในตำแหน่งในหน้าที่ในส่วนที่เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ เพราะว่าตำแหน่งใน ส่วนของนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งบริหาร ตัวนี้ต้องแยกกัน”

คุณโอ๊ต กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลต้องตัดสินใจ ระหว่างทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับฐานเสียงของตน แต่ก็มีความเสี่ยงที่หลายพรรคจะไม่จับมือร่วมรัฐบาลด้วย หรือเลือกที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล เช่น การไม่แตะต้องในส่วนของมาตรา 112
อย่าว่าแต่ สว.มองเลยครับ คนไทยทุกคนที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกลมองเหมือนกัน ก็คือการแก้มาตรา 112 ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลเองนอกเหนือจากพรรคก้าวไกลก็มองเช่นเดียวกับผม ถ้ามีเงื่อนไขนี้เข้ามา ผมเชื่อเลยว่าหลายพรรคถอน แต่เผอิญว่าพรรคก้าวไกลสัญญาไปแล้ว
คุณโอ๊ต
"ทีนี้ พรรคก้าวไกลก็ต้องเลือกเอาเอง จะเอาพรรคร่วมรัฐบาลหรือจะเอาแฟนคลับของ อันนี้ต้องคิด และอันนี้เป็นข้อใหญ่เลย"

“นโยบายอื่นที่ผมดูเนี่ยไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลิกเกณฑ์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ... อะไรพวกนั้นมันเป็นกระพี้ (เพียงเปลือกนอก) มันเป็นกระพี้ทั้งนั้น ประเด็นของพรรคก้าวไกลคือตรงนี้

จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยต่อจากนี้

ดร. ศิวพล ชมภูพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวอีกว่า สภาวการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจมีรัฐบาลรักษาการณ์ เกิดสูญญากาศทางการเมือง ไปจนถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกอย่างเป็นไปได้หมด
Democracy Monument in Bangkok
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย Credit: Igor Prahin/Getty Images
“มองการเมืองไทยยังไงผมตอบไม่ได้นะเอาจริง ๆ เพราะผมต้องดูที่ว่า วันนี้มันจะมีจุดสำคัญ 2 สเต็ป คือสเต็ป กกต. กับสเต็ป สว. ผมอาจจะมอง สว. ในแง่ลบไปนิดนึง แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางทีผมก็มีความหวังเหมือนกันว่าเขาอาจจะมีการโหวตที่ไม่ไปในทางเดียวกันหมด ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ตบเท้าพรึบ 250 คน หรืออาจจะมีกระแสจาก ส.ส. ฝ่ายตรงข้าม” ดร. ศิวพล กล่าว

“สมมุติผมให้ 2 ซีน ซีนแรกเป็นซีนที่คุณพิธาสามารถฝ่าด่านอรหันต์ 3-4 ด่านทั้งหมดทั้งปวงได้ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจะเกิดขึ้น สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าความหวังใหม่มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยเราอยู่ภายใต้ระบบนี้”

“แต่ในซีนที่ 2 ถ้าคุณพิธาไม่ได้เป็น ผมคิดว่าการเมืองไทยอาจจะยังวนอยู่ในแบบเดิมก็ได้นะ ซึ่งอาจจะไปหวยออกที่คุณอนุทิน หรือในขณะเดียวกันมันอาจจะกลับมาเป็นที่คุณอุ๊งอิ๊ง หรือคุณเศรษฐา สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใต้การโหวตใหม่ก็ได้นะครับ เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นหมดเลย”
ผมเชื่อว่าความหวังในการเปลี่ยนแปลงมีค่อนข้างสูงนะครับ อันนี้ผมก็ยังหวังว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแน่นอน แต่เปลี่ยนไปทางที่เราชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นเอง
ดร. ศิวพล ชมภูพันธ์
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share