ดร.เอม สินเพ็ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ พูดถึงการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ศกนี้ ว่าทั้งคนไทยในประเทศไทยและคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศต่างตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก
“คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนตื่นตัวกันมาก มีคนไปลงเลือกตั้งในต่างประเทศเยอะ เพราะมีข่าวว่าจะมีเลือกตั้งมานานพอสมควรเลยเหมือนจะมีการ build up ว่าจะมีเลือกตั้งแล้วนะ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก”
จุดเด่นการเลือกตั้งครั้งนี้
ดร.เอม เปิดเผยว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมีความสำคัญเท่ากันหมด แค่ครั้งนี้อาจมีจุดเด่นในเรื่องจำนวนพรรคการเมืองที่มากขึ้น การกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแข่งขันด้านนโยบายของพรรคต่างๆ มากขึ้น
การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดเด่นคือมีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นหลายพรรค มีตัวเลือกมากขึ้น เรามีใบเลือกตั้ง 2 ใบ มีการคิดถึงเรื่องยุทธศาสตร์มากขึ้น และ split vote จะมีผลกระทบอย่างไร และก็มีความตื่นตัวเรื่องนโยบายมากขึ้น
กระแสพรรคไหนมาแรง
ดร.เอม ชี้ว่ากระแสโซเชียลมีส่วนทำให้บางพรรคมีความโดดเด่นขึ้นมาในช่วงก่อนเลือกตั้งในขณะที่บางพรรคที่เคยเป็นพรรคเดียวกันมาก่อนแต่มาแยกตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่การชูนโยบายที่คล้ายกันอาจทำให้คนไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองพรรค
ใน 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมาก้าวไกลมาแรง กระแสโซเชียลสนับสนุนพรรคมากขึ้น อาจเป็นเรื่องของนโยบาย หรือผู้สมัครหลายคนดีเบตเก่งทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น อาจเป็นแนวโน้มที่ดีของพรรค
กงสุลใหญ่ประจำออสเตรเลียเชิญชวนคนไทยไปใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร Source: Supplied, Pixabay / กงสุลซิดนีย์แจ้งลงทะเบียนขอเลือกตั้งนอกประเทศได้ถึงแค่ 9 เม.ย.
“พรรคอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐ กับรวมไทยสร้างชาติ เพราะว่าเคยอยู่ด้วยกันมากก่อนเลยไม่แน่ใจว่าฐานเสียงของใครจะไปทางไหนเรื่องจากนโยบายก็ใกล้เคียงกัน อาจมีคนไม่เข้าใจว่าแตกต่างกันยังไง”
The King Maker ตัวแปรสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาล
ดร.เอม กล่าวว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือพรรคที่ได้คะแนนโหวตมากที่สุดอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอไป เพราะพรรคขนาดกลางและไม่เข้าข้างฝ่ายใดเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างเช่นพรรคภูมิใจไทย ไทยสร้างไทย ชาติพัฒนากล้า และประชาธิปัตย์
ตรงนี้น่าสนใจเพราะจำได้ว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคภูมิใจไทยพูดก่อนเลยว่า พรรคเราเป็นพรรค king maker ถ้าเราไปข้างไหนพรรคนั้นจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ
"ครั้งนี้มีพรรคที่เป็น king maker อยู่หลายพรรค ไม่แน่ใจว่าพรรคที่อยู่ตรงกลางจะตัดสินใจยังไง จะมี deal making อะไรเกิดขึ้น"
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ดร.เอม ชี้ว่าการเมืองไทยมาการเปลี่ยนแปลงขนาดจุลภาคเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่มีความสำคัญกับการเมืองไทย ทั้งในเรื่องนโยบาย และการมีประสบการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมความเข้าใจทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น
คนไทยเริ่มสนใจนโยบายมากขึ้น หลายพรรคตั้งใจพูดนโยบายให้มีความแตกต่างไม่ใช่แค่พูดสโลแกน
“และการที่เรามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ได้มีประสบการณ์โดยตรงหรือโดยอ้อมทางการเมือง เช่นการเรียกร้อง การประท้วง ประท้วงทางอินเตอร์เน็ต มันสร้างเสริม ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้น”
การใช้เทคโนโลยีกับผลกระทบของการเลือกตั้ง
ดร. เอม สินเพ็ง อธิบายว่า การที่ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงเทคโนโลยีทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารทางการเมืองได้รวดเร็วและง่ายดายกว่าสมัยก่อน และทำให้คนรุ่นใหม่รับข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือพรรคใด
“ประเทศไทยมีคนเข้าถึงสื่อโซเชียลและอินเตอร์เน็ตมากกว่า 75 เปอร์เซนต์ของประชากร มันเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างใหญ่ เป็น structure change”
“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับการเมืองจะเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะมันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเยอะ โดยเฉพาะฐานเสียงที่มาจาก Twitter และการเข้าถึงเทคโนโลยีทำให้คนในประเทศได้รับข่าวสาร ได้คิด ได้ตัดสินใจว่าจะโหวตให้ใครมันก็อาจขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาอ่าน หรือสิ่งที่ถกเถียงกันในโซเชียล”
การเมืองกับคนรุ่นใหม่
ดร.เอม วิเคราห์ว่าการที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีประสบการณ์ทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมมากขึ้นซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนที่อาจไม่ได้มีประสบการณ์เข้าร่วมทางการเมืองบ่อยครั้งนัก ประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนสองรุ่นอาจส่งผลให้ชุดความคิดในเรื่องการเมืองต่างกัน
“การที่คนรุ่นใหม่ได้ take action ทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม มันเป็นประสบการณ์การทำกิจกรรมทางการเมืองที่แตกต่างจากสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนเราต้องลงไปทำแบบ face to face แต่สมัยนี้เราสามารถทำกิจกรรมการเมืองอยู่กับบ้านได้ เราเป็น anonymous ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใครก็ได้”
“ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใคร มีอุมการณ์อย่างไร เราต้องการอะไรกับประเทศ ถ้าเทียบกับรุ่นพ่อแม่เค้าอาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งซึ่งนานๆ มีที มันเป็นประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า”
อนาคตการเมืองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง
ดร.เอม มองว่าการเติบโตของการเมืองและประชาธิปไตยในไทยขึ้นอยู่กับกระบวนการเลือกตั้งว่าจะยุติธรรมเพียงใด และประชาชนจะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นได้หรือไม่ ไม่ว่าพรรคที่ตนเลือกอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม
ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่ยุติธรรมได้แค่ไหนแม้ว่าพรรคที่ตนเลือกจะแพ้ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะทดสอบคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ถ้าพรรค progressive ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วการเลือกตั้งมันไม่มีปัญหา เป็นไปค่อนข้างราบรื่นแล้วจะรับได้ไหม
“จะเป็น Political maturity ที่คนรุ่นใหม่ต้องยอมรับแล้วเดินต่อไป ต้องเข้าใจว่าการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่น่าสนใจ
หลายพรรคการเมืองไทยมีท่าทีจับขั้วตั้งรัฐบาลกันแล้ว