วรรณวิดา จิรเลิศไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวพิเศษ เอสบีเอส ไทย รายงานจากนครซิดนีย์
สุดสัปดาห์นี้ ย่านไทยทาวน์ในนครซิดนีย์เต็มไปด้วยประชาชนชาวไทยทั้งจากละแวกใกล้เคียง และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ห่างไกลในออสเตรเลีย ที่มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2566 ณ จุดลงคะแนนเคลื่อนที่ (mobile unit) ที่โรงแรมเมโทร โฮเทล มาร์โลว์ (Metro Hotel Marlow) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ.2566
ภาพบริเวณจุดปิดประกาศ บริเวณคูหาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
เจ้าหน้าที่กำลังให้บริการคนไทยที่จุดตรวจสอบเขตเลือกตั้ง Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้บัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์เป็นบัตรเสีย จากการจัดส่งล่าช้าไม่ทันเวลานับคะแนน ท่านกงสุลใหญ่ ฯ เปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีกับบริษัทการบินไทย ซึ่งมีเที่ยวบินเดินทางออกจากซิดนีย์ไปกรุงเทพ ฯ ทุกวัน โดยมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งบัตรเลือกตั้งกลับเมืองไทยแล้ว
นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
ท่านกงสุลใหญ่ ฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการเลือกตั้งว่า เป็นกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศ นำไปสู่ความเจริญและความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทย พร้อมเชิญชวนให้คนไทยในออสเตรเลียออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อยังทำได้
“คนไทยในต่างประเทศที่ยังมีความห่วงใยบ้านเมือง พี่น้องที่อยู่ที่เมืองไทย ก็อยากให้ออกมาช่วยใช้สิทธิแสดงพลังของพวกเรา” ท่านกงสุลใหญ่ฯ กล่าว
เอสบีเอส ไทย ได้พูดคุยกับประชาชนชาวไทยที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นและความคาดหวังที่น่าสนใจในหลากแง่มุม
เพราะการมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทย
คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
“ส่วนตัว (คิดว่า) เลือกตั้งครั้งนี้อยากเห็นคนทำงานคนใหม่ ๆ เข้ามาลองทำดูบ้าง เพราะคนเก่า ๆ ก็ไม่ได้เห็นอะไร ถ้าคนใหม่ ๆ ยังไม่เห็นอีก อีก 4 ปีก็ค่อยว่ากันใหม่แล้วกัน” คุณพลอย กล่าว
คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี ซึ่งเดินทางมาเลือกตั้งพร้อมกันทั้งครอบครัว กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย
ชัดเจนแล้วว่าควรออกมาใช้สิทธิ
คุณเอก (นามสมมติ) คนไทยในออสเตรเลียจากจังหวัดหนองคาย Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
ขณะเดียวกัน เนื่องจากมีเพื่อนคนไทยบางส่วนที่พลาดข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คุณเอกกล่าวอีกว่า ต้องการให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ในครั้งหน้า
“จริง ๆ คนไทยหลายคนอาจพลาดสิทธิ เพราะว่าไม่ทราบข่าวสารอัพเดตก็มีส่วนนึงครับ อย่างเพื่อนผมหลายคนยังไม่รู้เลยว่า ลงทะเบียนกันแล้วหรอ หมดเขตแล้วหรอ ก็มีครับ อยากให้ทุกคนออกมา อยากฝากข่าวการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ในรอบต่อไปครับ”
คนไทยที่นี่จะต้องตื่นตัวมากกว่านี้
คุณจิน จินดาวรรณ โรจนวิภาค บาร์เทนเดอร์สาวที่อยู่ซิดนีย์มาแล้ว 3 ปี Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
เมื่อถามถึงมุมมองส่วนตัวในการมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ คุณจินกล่าวว่า ขอเลือกพรรคที่ชูนโยบายใหม่ที่ไม่เคยมีพรรคไหนผลักดันมาก่อน
“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์รวมหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าการศึกษา เกษตร เศรษฐกิจ ไปจนถึงการชูนโยบายเรื่องสุราที่มันดันผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพื่อให้เป็นอีกทางนึงที่ให้เกษตรกรบ้านเรามีรายได้มากขึ้น” คุณจิน กล่าว
คนบริหารประเทศต้องรับฟังเสียงประชาชน
คุณแอร์ สุธิดา แสนศิริพันธุ์ นักศึกษาปริญญาโทในนครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
“ทุกพรรคมีนโยบายที่อยากให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่เราก็อยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศเปิดรับอะไรใหม่ ๆ และยึดถือเรื่องความก้าวหน้าของประเทศเป็นที่ตั้ง” คุณแอร์ กล่าว
เสียงเล็ก ๆ เมื่อรวมกันก็สามารถล้มช้างได้
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ สาวไทยจากเมืองออเรนจ์ (Orange) รัฐนิวเซาท์เวลส์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
ขณะเดียวกันก็ขอฝากข้อความผ่าน เอสบีเอส ไทย เชิญชวนให้ชาวไทยมาลงคะแนนเสียงเพราะหากพลาดโอกาสครั้งนี้ อาจต้องรอนานถึง 4 ปี
“การตัดคะแนนที่ไทย ไม่ใช่ว่าใครได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะได้พื้นที่ จำนวนคนเล็ก ๆ ในต่างประเทศ อาจช่วยเพิ่มที่นั่งในสภาให้พรรคที่เราเชียร์ได้” คุณแอมป์ กล่าว
มาตรา 112 ต้องได้รับการแก้ไข
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis นักแปลและล่ามอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้ง The Australian Alliance for Thai Democracy Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณโมกล่าวอีกว่า ต้องการเห็นพรรคการเมืองเพิ่ม 2 นโยบายต่อไปนี้ ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม และทุนกู้ยืมทางการศึกษา (student loan) ที่เข้าถึงได้จริง
“รัฐต้องให้ความสำคัญกับความกินดีอยู่ดีของทุกคน ทั้งผู้ถือสัญชาติไทย ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าวทุกชนชั้น อีกทั้งเรื่องมาตรา 112 ที่เรามองว่าค่อนข้างล้าสมัย ส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิกไปเลย แต่อย่างน้อยสุดคือต้องมีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน” คุณโม กล่าว
การเลือกตั้งครั้งนี้คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
คุณโด่ง ชวาลิน เศวตนันท์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมกควอรี (Macquarie University) Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
เมื่อถามถึงการมองนโยบายของพรรคการเมืองกับการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ คุณโด่งกล่าวว่า ต้องเป็นพรรคที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนในสังคม พร้อมเสริมว่าหน้าที่ของคนไทยไม่ได้จบลงเพียงการลงคะแนนเสียงเท่านั้น
“เราเชื่อมั่นว่าครั้งนี้เสียง (บัตรเลือกตั้ง) ของพวกเราทุกคนต้องไปถึงเมืองไทยได้ปลอดภัยแน่นอน แต่หลังจากที่เราไปเลือกตั้งแล้ว ก็ยังเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องจับตาดูกันต่อไป เชื่อว่าเดี๋ยวนี้มันมีโซเชียลมีเดีย มันสามารถตามกันได้ ฉะนั้นคิดว่าการที่จะมาตุกติกมันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน” คุณโด่งกล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย
การเมืองไทย: สิ้นหวังหรือมีหวัง?