ประเด็นสำคัญในบทความ
- กษัตริย์อังกฤษทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
- ทุกประเทศในเครือจักรภพเป็นชาติอธิปไตย
- กษัตริย์อังกฤษไม่มีส่วนเกี่ยวของในการบริหารราชการแผ่นดินของออสเตรเลียในแต่ละวัน
- กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย (The Australian Republic Movement) เชื่อว่าชาวออสเตรเลียควรเลือกประมุขแห่งรัฐได้ด้วยตนเอง
ความผูกพันของออสเตรเลียกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้น คือสิ่งสืบทอดจากการตั้งอาณานิคมของอังกฤษ
“ออสเตรเลียได้ก่อตั้งขึ้นในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นจึงได้หยิบยืมหรือปรับใช้ประเพณีของอังกฤษมากมาย ซึ่งรวมถึงระบบรัฐบาล และหนึ่งในสิ่งเหล่านั้นก็คือสถาบันกษัตริย์” คุณแคมป์เบลล์ โรดส์ (Campbell Rhodes) นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตยออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา กล่าว
"ดังนั้น ดังนั้น กษัตริย์และราชินีแห่งสหราชอาณาจักร จึงเป็นประมุขแห่งรัฐของออสเตรเลียเช่นกัน"
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระนามเต็ม เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินเซอร์ (Elizabeth Alexandra Mary Windsor) เป็นอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร และอาณาจักรในเครือจักรภพอีก 14 แห่ง นับตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1952 พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
การเสด็จสวรรคตของพระองค์ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระราชโอรสในพระองค์ ได้ทรงสืบทอดราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม (Charles III)
ทุกประเทศในเครือจักรภพ คือชาติอธิปไตยซึ่งมีกฎหมายและรัฐบาลเป็นของตนเอง
แซนดี บิยาร์ (Sandy Biar) ผู้อำนวยการระดับชาติจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย (Australian Republic Movement หรือ ARM) อธิบายว่า โครงสร้างรัฐบาลและอำนาจของออสเตรเลียนั้น ได้รับการกำหนดโดยรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรเลีย
“ออสเตรเลียมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร และมันคือกฎหมายที่ควบคุมกฎหมายอื่น ๆ ทั้งหมด และบุคคลที่อาวุโสที่สุดในรัฐธรรมนูญนั้น คือราชินีหรือกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร บุคคลนั้นเรียกว่าประมุขแห่งรัฐของเรา และเพราะว่าประมุขแห่งรัฐของเราอยู่ในอีกฟากหนึ่งของโลก พวกเขาจึงแต่งตั้งตัวแทนให้กับออสเตรเลียในการทำหน้าที่แทนพวกเขา เรียกว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” คุณบิยาร์กล่าว
การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้เจ้าฟ้าชายชาลส์ พระโอรสในพระองค์ ได้สืบทอดราชสมบัติเป็นกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 Credit: Carl Court/AP/AAP Image
ออสเตรเลียเป็น 'ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)’
คุณจูดิธ เบรทท์ (Judith Brett) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการเมือง จากมหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe University) กล่าวว่า ในฐานะที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของออสเตรเลีย ดังนั้น เราจึงกล่าวถึงออสเตรเลียในฐานะ 'ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)’
“ประมุขแห่งรัฐอยู่ในตำแหน่งที่เป็นพิธีการ พวกเขาไม่มีอำนาจบริหาร ในขณะที่หัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจบริหาร ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกระหว่างประมุขแห่งรัฐอันเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนหยัดเพื่อเอกภาพของประเทศ และหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเปิดรับการแข่งขัน” คุณเบรทท์กล่าว
คุณแคมป์เบลล์ โรดส์ กล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารราชการแผ่นดินของออสเตรเลียในแต่ละวัน และไม่มีอิทธิพลโดยตรงต่อสังคม ระบบเศรษฐกิจ หรือรัฐบาลของออสเตรเลียอีกต่อไป
“แต่สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถ พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย และทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับออสเตรเลียเป็นอย่างดี ทุกวันนี้พระองค์ทรงมีบทบาทเสมือนที่ปรึกษาและคนสนิทของนายกรัฐมนตรี มากกว่าที่จะเป็นใครสักคนที่มีอิทธิพลโดยตรง” คุณโรดส์กล่าว
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor General) มีหน้าที่อะไร
กษัตริย์ชาลส์ที่ 3 มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor General) ในกรุงแคนเบอร์รา รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งประจำอยู่ในเมืองหลวงของรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor General) ได้รับการแต่งตั้งโดยกษัตริย์หรือราชินีตามคำแนะนำของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนปัจจุบันของออสเตรเลีย คือ ฯพณฯ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ (His Excellency General the Honourable David Hurley)
เช่นเดียวกับสถานบันพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
ทุกครั้งที่มีการผ่านร่างกฎหมาย หรือเมื่อเราไปเลือกตั้ง มันจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติโดยผู้สำเร็จราชการแทน (กษัตริย์)แซนดี บิยาร์ (Sandy Biar) ผู้อำนวยการระดับชาติ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย (Australian Republic Movement)
นอกจากนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังลงนามเพื่อรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ซึ่งปกตี แต่ไม่เสมอไป จะมาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่นั่งในสภามากที่สุดในการเลือตั้งครั้งล่าสุด"
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทอดพระเนตรพิธีการจุดไฟของชาวอะบอริจินจาปูไค (Tjapukai) ใกล้เมืองแคนส์ (Cairns) รัฐควีนส์แลนด์ ในปี 2002 Credit: Torsten Blackwood/AFP via Getty Images
ตัดสัมพันธ์
ในปี ค.ศ.1986 พระราชบัญญัติออสเตรเลีย (Australia Act) ได้ตัดขาดความสัมพันธ์สุดท้ายอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลออสเตรเลีย ยกเว้นสถาบันกษัตริย์
ระหว่างการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อาณานิคมของอังกฤษจำนวนหนึ่งได้แสวงหาเอกราช และตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล่าสุดคือประเทศบาร์เบโดส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เหลืออาณาจักรในเครือจักรภพอยู่ 15 แห่ง
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย ที่รัฐบาลปัจจุบันจากพรรคแรงงานได้แต่งตั้งให้ แมตต์ ธิเซิลธ์เวท (Matt Thistlethwaite) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเพื่อสาธารณรัฐ
ชาวออสเตรเลียหลายคน เริ่มรู้สึกได้มากขึ้นว่า ออสเตรเลียได้ฉายภาพของจิตวิญญาณความเป็นสาธารณรัฐแล้ว คุณแซนดี บิยาร์ และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย (ARM) กำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น
กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลียเชื่อว่า แทนที่จะให้กษัตริย์หรือราชินีของสหราชอาณาจักรเป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศเรา เราควรมีชาวออสเตรเลียซึ่งชาวออสเตรเลียเป็นผู้เลือกแซนดี บิยาร์ จากกลุ่ม ARM
“และเราเชื่อในสิ่งนี้ เพราะมันสมเหตุสมผลที่การตัดสินใจทั้งหมดในประเทศเอกราชเช่นเราเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และตัวแทนของเราให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของออสเตรเลียเป็นอันดับแรก” คุณบิยาร์กล่าว
ความลึกซึ้งที่มีต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คุณจูดิธ เบรทท์ กล่าวว่า ความลึกซึ้งที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็เปลี่ยนไปเช่นกัน การเยี่ยมเยือนออสเตรเลียของผู้มีชื่อเสียงบ่อยครั้ง ส่งผลให้ความศรัทธาต่อการเสด็จเยือนของสมาชิกราชวงศ์ ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ทรงเสด็จเยือนสวนสัตว์ทารองกา (Taronga Zoo) ในนครซิดนีย์ ในการเสด็จเยือนนิวซีแลนด์และออสเตรเลียอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2014 Credit: Anthony Devlin/PA Images via Getty Images
ขณะที่การเคลื่อนไหวไปสู่สาธารณรัฐนั้นเริ่มหยั่งรากลงในหลายชาติในเครือจักรภพ กษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ทรงรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ระหว่างพิธีเปิดการประชุมหัวหน้ารัฐบาลเครือจักรภพ (Commonwealth Heads of Government Meeting หรือ CHOGM) ในประเทศรวันดา โดยตรัสว่า เครือจักรภพ ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษยชาติเพียง 1 ใน 3 จะเป็น "สมาคมอิสระของชาติเอกราชที่ปกครองตนเอง" เสมอ
"ข้าพเจ้าต้องการกล่าวอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า การจัดการรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐหรือระบอบราชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจโดยแต่ละประเทศสมาชิก" กษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ทรงมีพระดำรัสแก่องค์ประชุม ซึ่งประกอบด้วยประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี
ในรอบปีที่ผ่านมา กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย ได้ปรึกษาหารือกับชาวออสเตรเลียมากกว่า 8,000 คน เพื่อทำความเข้าใจว่าสาธารณรัฐออสเตรเลียจะเป็นเช่นใด และได้ประกาศ ในเดือนมกราคม 2022 ซึ่งจะอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย เพื่อให้ประมุขของรัฐได้รับเลือกจากประชาชนชาวออสเตรเลีย
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
‘ความโศกเศร้าคือราคาที่เราจ่ายเพื่อความรัก’ นายกฯ ออสฯ สดุดี ควีนเอลิซาเบธที่ 2