กดฟังรายงาน
LISTEN TO
สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษในออสเตรเลีย
SBS Thai
11/02/202209:05
ตามปกติแล้ว ช่วงฤดูร้อนในออสเตรเลียเป็นช่วงที่มีรายงานเหตุการณ์ที่ผู้คนได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสพิษจากแมงกะพรุนมากกว่าช่วงอื่นๆ เช่น ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในเมืองแคนส์ถึง 6 รายแค่เพียงภายในสัปดาห์เดียว
นั่นทำให้เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางน้ำได้ออกคำเตือนให้ผู้คนที่ว่ายน้ำในพื้นที่ทางเหนือสุดของควีนส์แลนด์ ให้คอยระวังแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) ซึ่งมีขนาดเล็กมาก หลังจากที่มีการสังเกตเห็นแมงกะพรุนชนิดนี้อยู่ทั่วไปในท้องทะเลอย่างมากผิดปกติ
แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2 เซนติเมตร ทำให้ผู้คนที่ว่ายน้ำสังเกตเห็นมันได้ยากเมื่ออยู่ในน้ำ
แมงกะพรุนชนิดนี้มักพบในน่านน้ำเขตร้อนตลอดฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่เมืองเจอรัลด์ตัน (Geraldton) ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไปจนถึงเมืองบันดาเบิร์ก (Bundaberg) ทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ดร.ลิซา-แอนน์ เกิร์ชวิน นักชีววิทยาทางทะเล ของมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ในควีนส์แลนด์ กล่าวว่าการใช้ตาข่ายขึงในน้ำบริเวณใกล้ชายหาดนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปกป้องนักว่ายน้ำจากแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) ที่อันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ใช่แมงกะพรุนอิรุคันจิ
แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Irukandji) ที่มีขนาดเล็กมากจนทำให้ผู้คนที่ว่ายน้ำอยู่สังเกตเห็นมันได้ยาก Source: AAP Image/AP Photo/Brian Cassey
"มีโครงการที่ดีมากในการปกป้องความปลอดภัยของผู้คนจากแมงกะพรุนกล่อง แต่น่าเสียดายที่ผู้คนมักเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าอยู่ภายในตาข่าย พวกเขาจะไม่ถูกแมงกะพรุนปล่อยพิษใส่ แต่อิรุคันจินั้นเล็กมาก มันมีขนาดเท่ากับเล็บนิ้วก้อยของคุณ และพวกมันก็ลอดผ่านตาข่ายเข้ามาได้ ดังนั้นเมื่อมีแมงกะพรุนอิรุคันจิไหลบ่าเข้ามา เราจึงมีผู้คนที่ถูกแมงกะพรุนปล่อยพิษใส่ภายในตาข่ายเหล็ก" ดร.เกิร์ชวิน กล่าว
บริการรถพยาบาลของรัฐควีนส์แลนด์เผยว่า อาการจากการได้รับพิษของแมงกะพรุนอิรุคันจิอาจใช้เวลาระหว่าง 5-45 นาทีจึงจะปรากฏ
อาการเหล่านี้อาจรวมถึงอาการปวดหลังหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกและช่องท้อง
แม้ว่าการได้รับพิษจากแมงกะพรุนอิรุคันจิมักจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ควรเรียกรถพยาบาลทันทีและให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยนำบุคคลนั้นขึ้นมาจากน้ำและราดบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชูทันทีเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที
หากไม่มีน้ำส้มสายชู ไม่ควรสัมผัสหรือถูบริเวณผิวหนังที่ถูกพิษแมงกะพรุน แต่ควรนำหนวดของแมงกะพรุนออกไปอย่างระมัดระวังและล้างผิวหนังบริเวณนั้นด้วยน้ำทะเล
เหตุการณ์ที่อันตรายที่สุด แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก คือการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish)
เว็บไซต์ Healthdirect ของรัฐบาลสหพันธรัฐ ระบุว่าเมื่อหนวดแมงกะพรุนกล่องสัมผัสกับผิวหนังของมนุษย์ มักจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและมีรอยสีแดงหรือสีม่วงคล้ายถูกหวดด้วยแส้
ดร.เกิร์ชวิน กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้เซรุ่มต้านพิษ (anti-venom) รักษาในทันทีเพื่อช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง
"อย่าลืมว่าแมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก นี่คือสายพันธุ์ที่อันตรายอย่างน่ากลัว แค่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง คนก็ตายได้เลย คนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถตายได้ภายใน 2 นาที” ดร.เกิร์ชวิน กล่าว
แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก นี่คือสายพันธุ์ที่อันตรายอย่างน่ากลัว แค่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง คนก็ตายได้เลย คนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถตายได้ภายใน 2 นาที
ทั่วทั้งรัฐควีนส์แลนด์ มีการขึงตาข่ายเหล็กในน้ำตามชายหาดที่ได้รับความนิยมสูง เพื่อเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้แมงกะพรุนกล่องเข้ามาศาสตราจารย์ ไคลี พิตต์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลของมหาวิทยาลัยกริฟฟิต กล่าวว่าชายหาดที่ผู้คนนิยมไปจะมีทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อช่วยผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลก่อนที่ความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง
แค่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง คนก็ตายได้เลย Source: Auscape/Universal Images Group via Getty Image
"หากคุณอยู่ที่ชายหาดในออสเตรเลียตอนเหนือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐควีนส์แลนด์ตอนเหนือ คุณมักจะเห็นว่ามีตาข่ายเหล็กขึงไว้ในน้ำตามแนวชายหาดให้เป็นสิ่งกีดขวางเพื่อปกป้องผู้คน ดังนั้น หากคุณว่ายน้ำภายในตาข่ายเหล็ก คุณจึงค่อนข้างปลอดภัย แต่คุณจะเห็นตามชายหาดว่าจะมีป้ายเตือนและมักจะมีขวดน้ำส้มสายชูวางไว้ที่ป้ายเตือนนั้นด้วย ดังนั้น การรักษาขั้นพื้นฐานหากคุณได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ให้ล้างผิวหนังบริเวณนั้นด้วยน้ำส้มสายชู และนั่นจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ของผิวหนังใกล้เคียงถูกพิษจนไหม้ และช่วยหยุดยั้งไม่ให้อาการเลวร้ายลง" ศาสตราจารย์ พิตต์ แนะนำ
การรักษาขั้นพื้นฐานหากคุณได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ให้ล้างผิวหนังบริเวณนั้นด้วยน้ำส้มสายชู
และที่สำคัญจะต้องโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลในทันที โดยควรทำตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นปฐมพยาบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์มาถึงทันเวลา
อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าเราได้รับพิษจากแมงกะพรุนชนิดใด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีอันตราย หากประสบเหตุในพื้นที่เขตร้อนของออสเตรเลีย หรือหากมีผิวหนังหลายบริเวณที่ได้รับพิษและหากบุคคลที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนดูมีอาการเหมือนไม่สบาย
แต่ในขณะที่การถูกพิษจากแมงกะพรุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่โดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตราย
คุณเอดรีแอนน์ โลว์ เป็นผู้อำนวยการด้านการให้การศึกษาของสมาคมช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ ประจำพื้นที่ชายหาดทางเหนือของซิดนีย์ (Surf Lifesaving Sydney Northern Beaches)
เธอกล่าวว่า การได้รับพิษจากแมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle) เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยที่สุดตามชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย และรักษาได้ง่าย
"อย่าถูตรงบริเวณที่ถูกพิษ และคุณสามารถใช้นิ้วดึงหนวดของแมงกะพรุนออกได้เพราะว่าผิวหนังบริเวณนิ้วจะหนากว่าผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นคุณอาจจะแค่รู้สึกคันเล็กน้อย แต่คุณจะไม่ถูกปล่อยพิษใส่ จากนั้นให้คุณนำบริเวณที่ได้รับพิษแช่ในน้ำร้อน แต่ต้องไม่ร้อนเกินกว่าที่คุณจะทนได้ และบางทีน้ำที่ไม่ร้อนสำหรับเราอาจะร้อนเกินไปสำหรับเด็ก ดังนั้นคุณ จำเป็นต้องตรวจสอบดูก่อนสำหรับคนที่ได้รับพิษ และคุณจำเป็นต้องนำผิวหนังบริเวณที่ถูกพิษแช่ในน้ำร้อนอย่างน้อย 20 นาที" คุณ โลว์ อธิบาย
นำผิวหนังบริเวณที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle Jellyfish) แช่ในน้ำร้อนอย่างน้อย 20 นาที แต่ต้องไม่ร้อนเกินกว่าที่คุณจะทนได้
เธอกล่าวต่อไปว่า หากอาการไม่ทุเลาลงหลังจากใช้ความร้อนหรือน้ำร้อน ให้ประคบผิวหนังบริเวณที่ถูกพิษด้วยเจลประคบเย็นหรือน้ำแข็งที่ใส่ในถุงพลาสติก
หากได้รับพิษในบริเวณที่บอบบาง โดยเฉพาะรอบดวงตา คุณโลว์แนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ประจำอยู่ที่ชายหาด (lifeguard) หรือให้โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลทันที
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไขความลับชีวิตพิศวงของแมงกะพรุน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วจะกลับมาออสเตรเลียได้ตั้งแต่ 21 ก.พ.