กดฟังพอดคาสต์
LISTEN TO
อธิบายวิถีออสซี: ออสซีสแลง
SBS Thai
09/02/202213:42
การที่คุณเก่งภาษาอังกฤษก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเข้าใจคำสแลงออสซีเสมอไป ในตอนที่หนึ่งของอธิบายวิถีออสซีพอดคาสต์นี้คุณจะได้รู้จักประวัติความเป็นมาและลักษณะเฉพาะของคำสแลงออสเตรเลียที่แตกต่างไปจากภาษาอังกฤษในประเทศอื่นๆ อย่างไร
ภาษาต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ต่างมีคำสแลงที่ใช้พูดกับเพื่อนหรือการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมเราจึงใช้คำสแลงและคำสแลงนั้นเริ่มต้นมาจากไหน ดร. อัญญรัตน์ ธารดำรงค์ นักภาษาศาสตร์และนักวิจัยด้านภาษาเปรียบเทียบผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโมนาชในนครเมลเบิร์นอธิบายว่าภาษาสแลงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ และความรู้สึกเป็นกลุ่ม เป็นพวกเดียวกัน สร้างความสามัคคี ความรู้สึกเป็นปึกแผ่นและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วภาษาสแลงเป็นภาษาที่ใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ตัดหรือรวบคำให้สั้นกระชับเพื่อที่สะดวกและง่ายต่อการสื่อสาร แต่หลายคำก็เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับคำเดิม ดร. อัญญรัตน์ เปรียบเทียบคำทั่วไปที่แผลงมาเป็นคำสแลงได้แก่
“ตัวอย่างคำในภาษาไทยเช่น มหาวิทยาลัย ก็ถูกตัดให้สั้นลงเหลือแค่ มหาลัย หรือ ภาษาอังกฤษ University ก็ตัดเหลือแค่ Uni เป็นต้น”ส่วนต้นกำเนิดของภาษาสแลงแบบออสซีนั้นเริ่มต้นมาจากที่ใดนั้น นักภาษาศาสตร์พบว่าไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจนและก็ยังเป็นหัวข้อที่โต้เถียงกันอยู่ ซึ่งนักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าภาษาสแลงของออสเตรเลียเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1789 ในช่วงที่กัปตัน อาเธอร์ ฟิลิปส์ ได้ล่องเรือนำคนมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีคนมาจากหลายท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรเช่น ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และรวมถึงคนอังกฤษและเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการปรับใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ให้ สั้น กระชับขึ้น
นักภาษาศาสตร์ชี้ว่าคำสแลงของออสเตรเลียมีต้นกำเนิดจากที่ใดยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏแน่ชัด Source: Pixabay
ส่วนนักภาษาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าต้นกำเนิดของสแลงออสซีมาจากกลุ่มนักโทษที่ได้เข้ามาในออสเตรเลียในสมัยนั้น ซึ่งภาษาที่กลุ่มนักโทษเหล่านี้ใช้กันนั้นมีชื่อเรียกว่าภาษาแฟลช ดร. อัญญรัตน์ ขยายความไว้ดังนี้
“ภาษาสแลงออสเตรเลียไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการว่าเริ่มมาเมื่อไหร่ นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าภาษาสแลงของออสเตรเลียเริ่มมาจากชนชั้นล่างจากหลายท้องถิ่นเช่น ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และรวมถึงคนอังกฤษ ย้อนไปในช่วงประวัติศาสตร์เข้ามาช่วงปี 1789 ในช่วงที่กัปตัน อาเธอร์ ฟิลิปส์ ได้ล่องเรือนำคนหลายกลุ่มมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลียทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของภาษาเพื่อง่ายต่อการใช้ แต่ต้นกำเนิดอีกแหล่งหนึ่งเชื่อว่าภาษาสแลงอาจมีที่มาจากกลุ่มนักโทษที่เรียกว่า ภาษาแฟลช มีการใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มของเขา”
วิวัฒนาการของภาษาสแลงออสเตรเลียได้มีการปรับใช้กันมาเรื่อยๆ ภายในประเทศ แต่ในช่วงปี 1960-1970 ทั่วโลกก็เริ่มรู้จักภาษาสแลงของออสเตรเลียผ่านตัวละครชื่อดังในยุคนั้นคือ เดม เอดนา เอเวอเรจ (Dame Edna Everage) ซึ่งแสดงโดยนักแสดงชาวออสเตรเลีย คุณ แบรี ฮัมฟรีย์ (Berry Humphries) จากตัวละครนี้ผู้ชมได้ติดตามการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงภาษาพูดที่ใช้กันของแม่บ้านชาวเมลเบิร์น ซึ่งมีคำฮิตไปทั่วโลกคือ “Hello Possums”
อิทธิพลของภาษาสแลงออสเตรเลียนี้ก็มีต่อเนื่องมาจนสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในบทความของ BBC ที่ชี้ถึงความนิยมของสแลงออสเตรเลียในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ก็นำไปใช้ด้วย แม้กระทั่งออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี (Oxford Dictionary) ฉบับปรับปรุงใหม่ก็มีการนำเอาภาษาสแลงออสเตรเลียไปบรรจุไว้ด้วย หรือแม้กระทั่งมีคำสแลงยอดฮิตติดปากที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ อย่างเช่น Take a selfie ก็มีที่มาจากออสซีสแลงนั่นเอง ดร. อัญญรัตน์ มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง
“ในฐานะนักภาษาศาตร์มองว่าสิ่งที่ BBC จดบันทึกหรือการนำคำศัพท์ออสซีสแลงไปบันทึกในออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะการบันทึกคำศัพท์สแลงหรือคำศัพท์ทั่วไปก็ถือว่าเป็นการบันทึกคำที่คนในยุคสมัยนั้นใช้กัน”แม้กระทั่งในโลกโซเชียลคำสแลงออสซีก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าคำเหล่านี้มีที่มาจากภาษาสแลงของออสเตรเลีย เช่นคำว่า Take a selfie ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ดร. อัญญรัตน์อธิบายเรื่องนี้ไว้ดังนี้
ภาษาสแลงออสซีถูกบรรจุไว้ในดิกชันนารีออกซ์ฟอร์ด Source: Pixabay
“ในปี 2015 ออสซีสแลงกว่า 2,000 คำที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะคนที่มีชื่อเสียง เซเลบริตี จากออสเตรเลีย เช่น ฮิวจ์ แจคแมน หรือดาราออสซีอื่นๆ ใช้คำศัพท์เหล่านั้น ส่วนคำว่า “take a selfie” ที่ถูกเริ่มใช้ในปี 2018 ซึ่งคนไทยหรือคนอเมริกันก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน คนก็นึกว่ามาจากอเมริกา แต่จริงๆ แล้วมาจากออสเตรเลียเพราะมีการเปลี่ยนเสียงคำต่อท้ายเป็นเสียง อี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคำสแลงออสเตรเลีย และคำว่า Take a selfie ก็ถูกบันทึกในออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี ด้วยว่าเป็นคำที่ทั่วโลกใช้”
ลักษณะเฉพาะของภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียที่แตกต่างจากคำสแลงของกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง การออกเสียง การเน้นคำ การสะกดคำ คำศัพท์ และ ลักษณะการใช้งาน ดร. อัญญรัตน์ อธิบายว่าการออกเสียงของภาษาอังกฤษแบบออสซีนั้นแตกต่างจากกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ เพราะออกเสียง T เป็น เสียง D ดร. อัญญารัตน์ยกตัวอย่างว่า
“ คนออสเตรเลียออกเสียงตัว T เป็นตัว D ซึ่งต่างจากกลุ่มอื่นๆ เช่นคำว่า คนอเมริกันออกเสียงคำว่า Bottle (บอเทิล) แต่คนออสเตรเลียออกเสียงเป็น Boddle (บอดเดิล) หรือคำว่า Footy คนเอเมริกันออกเสียง ฟุตตี แต่คนออสเตรเลียออกเสียงว่า ฟุดดี ซึ่งคำว่า Footy นี้คือคำสแลงของคนออสเตรเลียที่แปลว่ากีฬาฟุตบอลแบบออสเตรเลียนั่นเอง”
ประการต่อไปคือการเน้นเสียงตัวอักษร ซึ่งภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียจะมีการเน้นคำหรือตัวอักษรชัดกว่าภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
“การเน้นคำนี้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอาจจะไม่มีการเน้นคำมาก แต่ออสเตรเลียมี เช่นคำว่า Garage (การาจ) ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียจะเน้นคำว่า Ga ชัดกว่า”
ส่วนตัวสะกดนั้นพบว่าภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมีความคล้ายคลึงกันกับภาษาอังกฤษแบบบริทิช แต่บางคำก็มีการสะกดแตกต่างกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน โดยที่จะเพิ่มหรือสลับอักษรบางตัว เช่นคำว่า CENTER กับ CENTRE หรือ ALUMINUM หรือ ALUMINIUM ดร. อัญญรัตน์ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างนี้ว่า
“เช่นคำว่า ALUMINUM อเมริกันไม่มีตัว I แต่ออสเตรเลียจะมีตัว I เพิ่มเข้ามาหลังตัว N”
ในเรื่องของคำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียก็มีความหลากหลายและหลายๆ คำก็ใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลกด้วย
“อเมริกันใช้คำว่า GAS ในการเติมน้ำมันแต่ที่ออสเตรเลียใช้ PETRO หรือคำว่ายาฉีดกันแมลง อเมริกันใช้ INSECT REPELLENT แต่ออสเตรเลียใช้ MOZZIE SPARY”
ประการสุดท้ายที่ทำให้ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมีความเฉพาะตัวสูงคือการใช้คำที่สามารถใช้เป็นคำนามและคำกริยาเวลาเดียวกัน ดร. อัญญรัตน์ ยกตัวอย่างคำว่า PET
“ในออสเตรเลียบางคำจะเป็นทั้งคำนามและคำกริยา เช่นคำว่า PET Can I pet your dog ซึ่งหมายความว่าฉันเล่นกับหมาของเธอได้ไหม แต่อเมริกันจะใช้คำว่า PAT แทน เช่น Can I pat your dog “นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ของชาวพื้นเมืองหลายพันคำที่ใช้กันในคำสแลงของพวกเขา เช่นคำว่า เดดลี “DEADLY” ซึ่งชาวพื้นเมืองและชาวเกาะทอเรส สเตรท ใช้พูดกันเป็นประจำในชีวิตประจำวันและคำว่า “DEADLY” นี้หมายถึงยอดเยี่ยม สุดยอด หรือ เจ๋ง ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างจะมีความหมายตรงกันข้ามกับที่เราคิด และวลีที่ใช้คู่กันกับคำนี้คือ “Too Deadly” นั่นเอง
Uluru Source: Guy McLean
ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า ม็อบ “Mob” ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนความหมายว่าพวกเรา เมื่อใช้คำว่า “My mob” จะหมายถึงกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ใช้ภาษาเดียวกัน ครอบครัว หรือเครือญาติ หรือกระทั่งคนในชุมชนในท้องถิ่นหรือสังคมที่กว้างออกไปก็ได้
อีกคำหนึ่งคือว่า เชม "Shame" สถานการณ์ที่คุณจะใช้คำว่า Shame เมื่อคุณรู้สึกอับอายหรือรู้สึกไม่ดีในสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งคำนี้จะใช้งานค้อนข้างแตกต่างจากกลุ่มคนที่ไม่ใช้ชนพื้นเมือง วลีที่ใช้คู่กับกับคำว่า Shame คือ Shame job เช่นบางคนอาจจะถามว่า “Do you want to show me your best dance moves ?” ซึ่งแปลว่าเธออยากจะโชว์ท่าเต้นสุดเจ๋งของเธอให้ดูไหม และคนที่ถูกถามก็รู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะทำและอาจจะตอบว่า “No way, Shame Job"
You can listen to all episodes of in , and .
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai
พอดคาสต์ ซีรีส์ อื่นๆ จากเอสบีเอส ไทย
ถอดรหัสออสซีสแลง