กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
จันทร์กระจ่าง นวลแสงเทียน และท้องน้ำที่เต็มไปด้วยกระทงและดอกไม้ เป็นเสน่ห์ของคืนวันลอยกระทงที่ทำให้ประเพณีนี้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการท่องเที่ยวไทย
นอกเหนือจากความสวยงามของประเพณีนี้แล้ว การยึดโยงกับประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่า 700 ปี ทำให้ประเพณีนี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและได้กลายมาเป็นมูลค่าทางการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทย
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาหลักฐานและการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พบว่าความเชื่อที่ว่าประเพณีนี้ มีมาตั้งแต่สุโขทัยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือที่เรารู้จักกันว่านางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทง เป็นหัวข้อที่ยังมีการถกเถียงกันในแวดวงนักประวัติศาสตร์
เอสบีเอสไทยจะพาคุณไปศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้านของประเพณีลอยกระทงที่อาจไม่ได้บันทึกใว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทย
ลอยกระทงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่
ดร. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University (ANU) อธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้านของประเพณีลอยกระทงว่า
“นักประวัติศาสตร์ก็ยังคงถกเถียงกันเพราะว่าประเพณีเฉลิมฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงพระจันทร์เต็มดวง น้ำเต็มตลิ่ง เป็นประเพณีที่มีมานานมาแล้ว”
ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการเฉลิมฉลองประเพณีนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรือว่าสุโขทัย หรือสยาม ถ้าจะพูดว่าเกิดในสมัยสุโขทัยแน่นอน อาจจะพูดได้ยากดร. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University
แต่หลักฐานการบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงที่ใช้อ้างอิงกันทั่วไปนั้น ดร. จณิษฐ์ กล่าวว่าอ้างอิงมาจากหลักศิลาจารึกและตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ฉบับหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ประชานิยมหรือประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ซึ่งใช้อ้างอิงในแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ในชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถมและมัธยมศึกษา ในเนื้อหาของแบบเรียนยังมีการกล่าวถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือที่เรารู้จักกันว่านางนพมาศว่าเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทง
มีการโต้เถียงในทางประวัติศาสตร์ว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือที่เรารู้จักกันว่านางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงจริงหรือไม่ Credit: Supplied/Tourism Authority of Thailand
แต่เมื่อตั้งคำถามว่า นางนพมาศนั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงจริงหรือไม่
ดร. จณิษฐ์ อธิบายว่านักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้พบว่าตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ฉบับหอสมุดวชิรญาณที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์นั้นมีข้อความอยู่หลายตอนบ่งชี้ว่าเป็นการเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ใช่ในสมัยสุโขทัย
“ถ้าเรามาดูตามประวัติศาสตร์ และการค้นคว้าจริงๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ข้อโต้แย้งของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เช่น อาจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงษ์ ได้ค้นคว้างานจำนวนมากที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างที่เราเรียนในโรงเรียน"
อ้างอิงจากประโยคที่อาจารย์นิธิได้พูดไว้ว่า
มีข้อความอยู่หลายตอนที่จะบอกว่าแต่งในสมัยสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ และอื่นๆ และสำนวนโวหารก็เห็นได้ชัดว่าเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ดร. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University
ในนิตยสารศิลปะวัฒนธรรม โดยคุณ พัชรเวช สุขทอง ก็มีการอธิบายประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้คล้ายๆ กันว่า
“ในศิลาจารึกและเอกสารต่างๆ ไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และ แขวนโคม"
"ด้วยเหตุนี้ ลอยกระทงจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน และชัดเจนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เห็นได้จากหลักฐานพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3”
ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University Credit: Supplied/Janit Feangfu
ประวัติศาสตร์กระแสหลักกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ทว่าเนื้อหาในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่นักเรียนไทยเรียนสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีนั้นมีเนื้อหาต่างไปจากหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้โต้เถียงไว้ แล้วเหตุใดจึงไม่มีการปรับปรุงเนื้อหา
และการเรียนการสอนประวัติศาสตร์กระแสหลัก (main stream history) ดังกล่าวมีนัยยะซ่อนไว้อย่างไร
ดร. จณิษฐ์ ชี้ว่าการเรียนประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักในโรงเรียนนั้นเกี่ยวโยงกับการสร้างสำนึกของความเป็นชาติ
“ประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบที่สอนกันในโรงเรียน พยายามสร้างสำนึกของความเป็นชาติ โดยเฉพาะในประเทศไทย เราสร้างสำนึกความเป็นชาติโดยการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม การเรียนประวัติศาสตร์แบบที่เราเรียนมา มาจากการที่เราต่อสู้กับอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 5”
ถ้าเราสามารถอ้างอิงได้ว่าประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ สวยงาม มีความหมาย มีต้นเค้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มันทำให้สยามเป็นประเทศที่มีอารยธรรม และทำให้มีแรงดึงดูดสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีมูลค่าสูงมากดร. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University
ลอยกระทง ศาสนา และความเชื่อ
ดร. จณิษฐ์ อธิบายว่าความเชื่อของการลอยกระทงมีการผนวกความเชื่อจากหลายๆ ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพราห์ม-ฮินดู ศาสนาพุทธ และรวมถึงความเชื่อเรื่องการสะเดาะเคราะห์ หรือกระทั่งเรื่องผีในบางท้องถิ่น
“มีความเชื่อทางวัฒนธรรมว่าเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาหรือแม่น้ำที่เป็นแหล่งเลี้ยงชีวิตของสังคมเกษตร นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าเป็นการการบูชารอยพระพุทธบาตร พระอุปคุตอรหันต์
และยังผนวกกับความเชื่อในการลอยเคราะห์ไปกับแม่น้ำ จะเห็นว่าจากความเชื่อในศาสนาทางพราห์ม-ฮินดู กลายมาเป็นการบูชาในศาสนาพุทธ จะเห็นว่าความเชื่อมันมีการเปลี่ยนแปลง”
"มันคือการผนวกความคิดเชื่อแบบศาสนาพุทธให้เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเรื่องผี การบูชาบรรพบุรุษได้อย่างแนบสนิท"
ประเพณีลอยกระทงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากทุกปี Credit: Supplied/Tourism Authority of Thailand
ลอยกระทงกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อประเพณีลอยกระทงกลายเป็นหนึ่งในไฮไลต์การท่องเที่ยวไทยที่มีรายได้หมุนเวียนในประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้นส่งผลกระทบอย่างไรกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ดร.จณิษฐ์ ชี้ว่า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของความปลอดภัยและเรื่องของสิ่งแวดล้อม
“ประการแรกคือเรื่องของความปลอดภัยของชุมชน เช่น ที่เชียงใหม่มีการปล่อยโคมซึ่งนักท่องเที่ยวอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอในการปล่อยโคมลอย มันก็จะมีเหตุการณ์ที่โคมไปติดสายไฟ แล้วก็เรื่องอันตรายต่อการบินขึ้นลงของเครื่องบิน”
“ตอนนี้แม่น้ำหรือธรรมชาติไม่มีกำลังพอที่จะจะการกับกระทงทั้งหมดได้ เพราะนักท่องเที่ยวมหาศาล มันเกินกำลังที่ธรรมชาติจะจัดการ แม้ว่าจะใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์”
ดร. จณิษฐ์ แนะนำว่าการพิจารณาถึงทางเลือกใหม่ๆ ในการลอยกระทง เช่นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ อาจเป็นวิธีในอนาคตที่เรายังจะรักษา สืบสานวัฒนธรรมนี้ได้โดยไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้ก็มีกระทงน้ำแข็งซึ่งน่าสนใจมาก หรือตอนนี้คนไทยไกลบ้านเราก็สามารถลอยกระทงออนไลน์ได้ เราเลือกแม่น้ำได้ แล้วก็ทำกระทงได้ในเว็บไซต์นั้น หรือลอยกระทงแบบใช้โปรเจคเตอร์ฉายลงไปในแม่น้ำ”
ต้องหาจุดลงตัวว่าเราจะรักษา สืบสาน วัฒนธรรมของเราต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องสร้างต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมหาศาลอย่างที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้ดร. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัย Australian National University
ฟังสัมภาษณ์เรื่องนี้ได้ที่นี่
LISTEN TO
‘ลอยกระทง’ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ในแบบเรียน
SBS Thai
13/11/202423:27
_______________________________________________________________________________
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่