คนไทยในเหมืองทองออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์งานใต้พิภพ

07012023 WA THAI GOLD MINE SHOTFIRER INTV.jpg

วนพิทักษ์ ศรีวิพันธ์ หรือคุณสอง คนไทยในเหมืองทองแห่งหนึ่งที่เมืองแคลกูร์ลี (Kalgoorlie) รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ตำแหน่งผู้ควบคุมการใช้วัตถุระเบิด (shotfirer) Credit: Wanapitak Sriwipan/Dominik Vanyi via unsplash

รู้จักช่างระเบิดเหมืองคนไทยในเหมืองทองรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย คุณสอง วนพิทักษ์ ศรีวิพันธ์ เล่าประสบการณ์ทำงานใต้พิภพที่น่าสนใจและท้าทาย เผยรายได้ดีและไม่ต้องใช้วุฒิสูง พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้สนใจทำงานนี้


ประเด็นสำคัญในการสัมภาษณ์
  • จุดเริ่มต้นของคุณสองในการเดินทางมาออสเตรเลีย และจุดเปลี่ยนจากการเรียนทำอาหารสู่การทำงานในเหมืองทอง
  • ประเภทงานต่าง ๆ ในสายงานเหมือง คุณวุฒิที่จำเป็น รายได้และสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การเดินทางมาทำงาน ที่พัก และลักษณะของวันทำงาน
  • ประสบการณ์ในการทำงานของคุณสอง และความภาคภูมิใจในเส้นทางอาชีพนี้
วนพิทักษ์ ศรีวิพันธ์ หรือคุณสอง คนไทยซึ่งทำงานในเหมืองทองแห่งหนึ่งในเมืองแคลกูร์ลี (Kalgoorlie) รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ในตำแหน่งผู้ควบคุมการใช้วัตถุระเบิด (shotfirer) พูดคุยกับเอสบีเอส ไทย ถึงประสบการณ์ชีวิตของเขานับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในออสเตรเลียพร้อมครอบครัวเมื่อปี 2011
ฟังเรื่องราวเต็ม ๆ ในฉบับพอดคาสท์
05 JAN GOLD MINE INTV image

คนไทยในเหมืองทองออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์งานใต้พิภพ

SBS Thai

07/01/202320:19
เช่นเดียวกับหลายคนที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ คุณสองเริ่มต้นชีวิตด้วยการทำงานเป็นผู้ช่วยครัว ระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาหลักสูตรงานบริการ การปรุงอาหาร และเบเกอรี่ (Hospitality, Cookery and Bakery) ต่อมาก็ได้ทำงานเป็นเชฟในค่ายเคลื่อนที่สำหรับบริการอาหารให้คนทำงานในเหมืองแห่งหนึ่ง จนกระทั่งได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ในเหมือง และได้รับการแนะนำโอกาสงานใหม่ ๆ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตในเวลาต่อมา

“หลังจากเรียน Management ก็คือ Certificate IV ของ Hospitality ผมก็เลยไปทำ Camp chef ก็หมายถึง Mobile camp เสิร์ฟอาหารให้คนเหมืองโดยเฉพาะ แล้วก็มีเพื่อนที่เป็นคนเหมือง ก็คือคนที่เขากินข้าวนั่นแหละครับ” คุณสอง เล่า
เพื่อนทำงานเหมืองเขาก็แนะนำครับว่า ลองทำดูไหมล่ะ สักปีสองปี แต่มันไม่ปีสองปีครับ ก็มาเลย ยาวเลย
Wanapitak Sriwipan Portrait.jpeg
คุณสอง วนพิทักษ์ ศรีวิพันธ์ Source: Supplied / Wanapitak Sriwipan

จากห้องครัว...สู่เส้นทางงานใต้พิภพ

ตลอดการทำงาน 4 ปีภายในเหมืองทองของคุณสอง เขาเริ่มต้นทำงานจากตำแหน่งฝึกหัดขับรถบรรทุกขนหิน (Dump truck operator) เป็นตำแหน่งงานแรก และไต่เต้าขึ้นมาด้วยการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งผู้ช่วยผู้ขุดเจาะหิน (Nipper) เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเครื่องมือ (Service crew) จากนั้นก็ขยับไปเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมการใช้ระเบิดในเหมือง (Charge up) เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง จนกระทั่งได้เป็นผู้ควบคุมการใช้ระเบิด (Shotfirer) ในที่สุด

คุณสองเล่าอีกว่า มีคนไทยไม่กี่คนที่ได้รับใบอนุญาตในการทำงานตำแหน่งนี้
คนที่เป็น charge up ก็คือคอยดูว่าทุกอย่างโอเค เดินสายสัญญาณระเบิด เดินสายสัญญาณจุดชนวน ... shotfirer เป็นคนที่ทำ plan ออกมาทุกอย่าง และเป็นคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้กดระเบิดได้
คุณสอง อธิบาย
ด้วยลักษณะงานที่แสงภายนอกส่องไม่ถึง จึงมืดสนิทหากไม่มีไฟจากหมวกนิรภัยของคนทำงาน ทำให้การทำงานในเหมืองบางครั้งก็มีความท้าทาย

คุณสองยกตัวอย่างประสบการณ์เมื่อทำงานในเหมืองในระยะแรก

"(งาน) Underground มันมืดครับ มันไม่มีไฟอะไรเลย นอกจากไฟ Cap lamp ไฟประจำตัวบนหมวก Hard hat แล้วทีนี้ cap lamp มันทำงานไม่ค่อยดี ไม่สามารถฉายไฟได้ ... มันมืดไปหมด ก็คือ stunt หยุดไปประมาณ 10 วินาที ก็ค่อนข้างที่จะยาก และสุดท้ายมันก็ทำงานครับ” คุณสอง เล่า

แต่ในบางครั้งก็มีเหตุการณ์ฉิวเฉียดที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว คุณสองเล่าเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อเกิดเหตุดินถล่มระหว่างที่เขาบรรจุสารระเบิด ภายในรูระเบิดบริเวณอุโมงค์เปิดโล่งภายในเหมืองทองที่เขาทำงานอยู่
Wanapitak Sriwipan Underground Shot 1.jpeg
เนื่องจากแสงภายนอกส่องไม่ถึง การทำงานในเหมืองจึงขึ้นอยู่กับไฟที่คาดไว้บนศีรษะของคนทำงานแบบนี้ Source: Supplied / Wanapitak Sriwipan
ต้องฟังอยู่ตลอด ถ้าหินมันขยับมันจะส่งเสียงก่อน เราต้องขยับเร็ว
คุณสอง เล่า
“ผมเคยไปชาร์จ เอาสารระเบิดไปใส่ไว้ในรูที่เขาเจาะไว้ มันเป็น open stope ข้างบนคือว่างเลย ไม่มีอะไร ... แล้วผมได้ยินเสียงอะไรอย่างหนึ่ง ผมก็เลยถอยกลับ หลังจากนั้นดินก็ถล่มลงมา” คุณสอง เล่า

แม้จะเป็นงานที่มีความท้าทาย คุณสองย้ำว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เนื่องจากมีการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์ทำงาน และการประเมินความเสี่ยงอยู่เสมอ

“อุปกรณ์ทุกอย่างเขาจะทำให้มาตรฐานตลอด เช็คตลอด มันยากมากที่สักอย่างจะพัง” คุณสองเล่า
ผมไม่คิดว่ามันอันตรายอย่างที่คิด ถ้าเกิดรู้ว่าอะไรที่มันจะเกิด ที่มันสามารถทำร้ายเรา หรือ accident ที่มันจะเกิดขึ้น เราต้องวิเคราะห์ก่อน เดินเข้างานต้องวิเคราะห์ว่าหินจะถล่มไหม ถ้าทำมานาน ๆ ก็จะรู้ว่าหลบเลี่ยงยังไง และเราก็ report ให้ supervisor ทุกอย่าง มันก็ safe สำหรับทุกคน
คุณสอง กล่าว

ทุกอย่างเป็นไปได้ ขอเพียงกล้าลองทำ

หลายคนอาจคิดว่า งานเหมืองส่วนมากต้องใช้ประสบการณ์และคุณวุฒิสูง คุณสองเล่าว่า วุฒิการศึกษาขั้นต่ำสำหรับการเริ่มงานในเหมืองใต้ดินคือ Year 12 ซึ่งเทียบเท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากมาจากประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา

คุณสองย้ำว่า ตำแหน่งงานต่าง ๆ ในเหมืองจะมีการฝึกอบรมให้ตั้งแต่เริ่มทำงาน
ทุกอาชีพที่นี่เขาจะมี trainee ฝึกหัดก่อนเลย แล้วพอทำได้เขาก็จะปล่อยให้ทำไปเลย
คุณสอง เล่า
Wanapitak Sriwipan outside the gold mine site.jpeg
คุณสอง ขณะกำลังอยู่บริเวณไซต์งานเหมืองทองแห่งหนึ่ง Source: Supplied / Wanapitak Sriwipan
ส่วนเรื่องรายได้และการเติบโตในตำแหน่งงานถือเป็นอีกจุดดึงดูดที่น่าสนใจสำหรับงานเหมือง คุณสองเล่าว่า แม้จะเป็นตำแหน่งงานเริ่มต้น แต่ก็มีรายได้สูงถึงหลักแสนดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในการปรับตำแหน่งขึ้นไปทุก 6 เดือน หรือหากทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมก็มีการปรับเงินเดือนด้วย
เขาจะมีข้อเสนอว่าจะ train up ไหม หรือว่ายังอยากเรียนรู้ประสบการณ์เดิมต่ออยู่ แต่เงินก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ดี ... แต่ถ้าได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอีกก็จะเพิ่มขึ้นไปเท่าตัว
คุณสอง อธิบาย
คุณสองเล่าอีกว่า งานในเหมืองเป็นงานที่น่าสนใจและตื่นเต้น พร้อมกับเชิญชวนให้คนไทยที่สนใจคนอื่น ๆ เข้ามาทำงาน

“อยากให้คนไทยมาทำงาน Underground มากกว่านี้ ผมเห็นแต่เจ้าของประเทศเขาทำกัน ผมก็มีเพื่อนเฉพาะคนออสซี่ ก็อยากมีเพื่อนเป็นคนไทยมาทำด้วยกัน”
งาน Underground มันอาจจะดูเสี่ยง แต่มันไม่เสี่ยงอย่างที่คิดครับ มันจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ มันเริ่มต้นง่ายด้วย
คุณสอง กล่าว
คุณสองยังได้เล่าเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานในเหมืองทองกับเอสบีเอส ไทย คุณสามารถกดฟังเพิ่มเติมในพอดคาสท์ของเราด้านล่าง
ฟังเรื่องราวเต็ม ๆ ในฉบับพอดคาสท์
05 JAN GOLD MINE INTV image

คนไทยในเหมืองทองออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์งานใต้พิภพ

SBS Thai

07/01/202320:19

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share