เมลิสซา จิซเบิร์กส์ มักบอกได้เสมอว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ๆ
"ฉันคิดมาตลอดว่ามีบางอย่างผิดปกติกับฉัน ฉันรู้สึกสิ้นหวัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉันโตขึ้น ฉันคิดว่าฉันล้มเหลวและเป็นคนขี้แพ้ เพราะฉันเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยและการแต่งงานของฉันก็ล้มเหลว ฉันต้องดิ้นรนรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่คนอื่น ๆ ดูเหมือนจะใช้ชีวิตได้อย่างง่ายดาย และฉันก็พบความยากลำบากในการสร้างมิตรภาพ และโดยทั่วไปแล้วชีวิตของฉันก็ไม่เหมือนอย่างที่ผู้คนบอกว่าควรจะเป็น" เมลิสซา กล่าว
เมื่ออายุ 44 ปี เมลิสซาก็ได้ค้นพบว่าเหตุใดสิ่งต่าง ๆ จึงดูง่ายดายสำหรับคนอื่น ๆ เนื่องจากเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติก
จากสถิติอย่างเป็นทางการ มีผู้ป่วยออทิสติก 200,000 คนในออสเตรเลีย แต่ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าอาจมีมากกว่านั้นถึง 3 เท่า
เมลิสซากล่าวว่าผู้คนไม่เข้าใจว่าผู้มีอาการออทิสติกมีหน้าตาเป็นอย่างไร
"มีทัศนคติแบบเหมารวมอย่างมากเหล่านี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาเป็นเด็กผู้ชายและเด็กเล็ก ๆ ที่เป็นผู้ชาย พวกเขามักจะมองว่าเป็นแบบ เช่น Rain Man หรือ Good Doctor หรือตัวละครทำนองนั้นที่มักเป็นโรคออทิสติก" เมลิสซา กล่าว
ความเข้าใจผิดต่าง ๆ เหล่านั้น ที่ร่างกลยุทธ์แห่งชาติด้านโรคออทิสติกพยายามจะแก้ไข
รัฐบาลกำลังระดมความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับโรคออทิสติก ก่อนจะเผยแพร่รายงานขั้นสุดท้ายก่อนสิ้นปีนี้
คุณ แคลร์ จิเบลลินี ประธานร่วมของสภากำกับดูแลกลยุทธ์แห่งชาติ ด้านโรคออทิสติก กล่าวว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาสำหรับผู้มีอาการออทิสติกทุกวัย
READ MORE
คุยกับครูไทยในโรงเรียนเด็กออทิสติก
นี่เป็นครั้งแรกที่ออสเตรเลียได้พิจารณาออกแนวทางระดับชาติเกี่ยวกับโรคออทิสติก กลยุทธ์ดังกล่าวระบุประเด็นที่ต้องปรับปรุง และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยออทิสติก
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งสำหรับการปรับปรุงดังกล่าว คือการทำให้ผู้มีอาการออทิสติกได้เข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน หนึ่งในสามของผู้มีอาการออทิสติกในออสเตรเลียว่างงาน โดยมีอีกจำนวนมากที่มีงานทำแต่ชั่วโมงทำงานน้อยหรือไม่เพียงพอ อีกทั้งยังทำงานที่ไม่สอดคล้องกับทักษะหรือคุณวุฒิของพวกเขา
คุณ แคลร์ จิเบลลินี กล่าวว่ามีการปรับปรุงง่าย ๆ ที่ทำให้ผู้มีอาการออทิสติกเข้าถึงการจ้างงานได้มากขึ้น
"มันไม่ใช่งานอะไรก็ได้ เพื่อให้พูดได้ว่ามีงานทำเท่านั้น แต่ต้องเป็นงานที่ตรงตามความต้องการของแต่ละบุคคล ฉันคิดว่าจริง ๆ แล้วโควิดทำให้เรามีข้อมูลเชิงลึกที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งตำแหน่งงานควรเป็นการทำงานแบบผสมทั้งทำจากบ้านและที่ทำงาน หรือปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของพนักงานแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะสร้างตำแหน่งงานเหล่านี้ ซึ่งจะเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้มีอาการออทิสติก" คุณ จิเบลลินี เผย
อายุคาดเฉลี่ยของผู้มีอาการออทิสติกนั้นสั้นกว่าประชากรทั่วไปถึง 20 ปี พวกเขามีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 9 เท่า และมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 2.5 เท่า
แม้ว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยออทิสติกจะย่ำแย่ แต่เมื่อพวกเขามองหาความช่วยเหลือ แต่กลับไม่พบบริการที่ตรงกับความต้องการของตน
คุณ จิเบลลินี กล่าวว่า ขณะนี้ระบบให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตยังไม่พร้อมรับมือกับผู้มีอาการออทิสติก
"ยังไม่พร้อม นั่นคือสิ่งที่เราต้องการแก้ไข กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำงานเกี่ยวกับแผนแห่งชาติด้านสุขภาพและสุขภาพจิตสำหรับชาวออสเตรเลียที่เป็นโรคออทิสติก และนั่นก็เป็นจุดมุ่งเน้นที่พวกเขามีเช่นกัน และมันจะเยี่ยมมากถ้าเราทำได้ ผ่านทั้งแผนกลยุทธ์และแผนแห่งชาตินั้น และทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีอาการออทิสติกสามารถเปิดเผยตนและเปิดเผยความจริงที่ว่าพวกเขาเป็นออทิสติกเช่นกัน" คุณ จิเบลลินี กล่าว
เมื่อ เมลิสซา จิซเบิร์กส์ พยายามเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เธอก็ถูกปฏิเสธ
"ฉันไปขอความช่วยเหลือ และจริงๆ แล้วองค์กรที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้คนกลับบอกฉันว่า ฉันควรรู้สึกว่าตนเองโชคดีแล้ว บอกเขาบอกว่าฉันยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ฉันโกรธมาก ฉันรู้ว่าฉันดำเนินชีวิตได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ เช่น ไม่ทำอาหารมื้อเย็น ก็จะไม่มีอะไรกิน ถ้าไม่ทำงาน ก็ไม่มีเงินมาจ่ายบิล ฉันผ่านมาถึงอายุ 46 แล้วโดยสามารถดำเนินชีวิตได้ในระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้หมายความมาฉันไม่ได้ประสบความยากลำบากและฉันไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ" เมลิสซา เผยความรู้สึก
การวินิจฉัยโรคออทิสติกอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง และผู้ป่วยออทิสติกจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด
คุณ จิเบลลินี กล่าวว่า ยังมีสิ่งที่ที่ต้องทำอีกมากมายเกี่ยวกับระบบการวินิจฉัยโรคออทิสติก
"สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยพิจารณาด้านค่าใช้จ่าย ความพร้อมของผู้ให้บริการวินิจฉัยโรค เครื่องมือที่ใช้และสิ่งอื่น ๆ เหล่านั้น เพราะมีอุปสรรคมากมาย เช่นว่า ถ้าพวกเขาไม่มีงานทำ พวกเขาจะมีเงินไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ ถ้าพวกเขาได้ไปพบผู้ให้บริการด้านสุขภาพแล้ว ผู้ให้บริการจะเข้าใจหรือเปล่าว่าคนที่มีอาการออทิสติกต้องเผชิญอะไรบ้าง และถ้าเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงที่มีอายุมากแล้วและมีอาการออทิสติก หรือผู้มีอาการออทิสติกที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ อะไรทำนองนั้น ดังนั้น จึงมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก" คุณ จิเบลลินี กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วันอีดคืออะไร? เราจะอวยพรมุสลิมในวันนี้อย่างไรดี