คุณ สุธาสินี อนันต์ธนวัฒน์ หรือคุณเก่ง ปัจจุบันทำงานเป็น Operations Manager หรือบริษัทตู้เต่าบิน Flying Turtle Australia ในระดับปริญญาตรีนั้น เธอเรียนจบ Bachelor of Nutrition and Food Science ที่ มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (University of South Australia)
คลิก ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
อยากได้งานผู้คิดค้นสูตรสินค้าอาหารในออสเตรเลียต้องทำอย่างไร
SBS Thai
28/03/202420:40
คุณเก่งอธิบายว่า วิทยาศาสตร์การอาหารมีความสำคัญมากต่อการคิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าอาหาร เพราะผู้มีความรู้ด้านนี้ต้องคิดถึงปัจจัยหลาย ๆ ไม่ใช่แค่รู้ส่วนผสมเครื่องปรุงและวิธีการปรุงอย่างพ่อครัวแม่ครัวทั่วไปเท่านั้น
“วิทยาศาสตร์การอาหารมีส่วนสำคัญในการทำอาหารในเรื่องการทำให้อาหารมีอายุขัยอยู่ได้นานขึ้น ทำให้บูดช้าลง ซึ่งมีหลายอย่างที่จะต้องพิจารณา เช่น เรื่องแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหาร แล้วก็ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่น ความชื้นในอาหาร ส่วนประกอบในอาหาร อย่างไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ก็จะมีส่วนให้อาหารบูดเร็วขึ้น ภาชนะในการแพ็คอาหารหรือใส่อาหารก็เช่นเดียวกัน มันไม่ใช่แค่การทำอาหารในห้องครัว เอามาเสิร์ฟ แล้วก็จบเลย สำหรับวิทยาศาสตร์การอาหารเราก็จะต้องคิดกว้าง ๆ แบบนี้ค่ะ” คุณเก่ง กล่าว
วิทยาศาสตร์การอาหารมีส่วนสำคัญในการทำอาหารในเรื่องการทำให้อาหารมีอายุขัยอยู่ได้นานขึ้น ทำให้บูดช้าลงสุธาสินี อนันต์ธนวัฒน์ หรือคุณเก่ง
คุณเก่ง สุธาสินี อนันต์ธนวัฒน์ เคยทำงานเป็นผู้จัดการด้านคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ให้บริษัท Emma and Tom’s นานเกือบ 6 ปี Source: Supplied / Sutasinee Anantanawat
“เก่งก็จะดูตามเทรนด์ของผู้บริโภคว่า รสชาติไหน อาหารแบบไหนที่กำลังมาแรง แล้วก็จะคิดค้นสูตร หาโรงงาน จากนั้นก็จะนำสูตรไปทำงาน production line ของโรงงานจริง ๆ ว่าทำได้ไหม เมื่อผลิตออกมาแล้ว เราก็จะต้องดูเรื่องฉลาก packing ของอาหารว่าต้องใช้แบบไหน แล้วก็ต้องดูเรื่องราคาด้วยค่ะ”
“ห้องทำงานก็จะเป็นห้องครัวเป็นเหมือนห้องครัวธรรมดา ๆ นี่แหละค่ะ โดยปกติเวลาทำงาน เราจะคิดสูตรในห้องครัวก่อน พอคิดสูตรได้แล้ว เราก็จะให้คนชิม เมื่อได้สูตรที่โอเคแล้ว เราก็จะเอาสูตรนี้ไปลองทำในโรงงานจริง ๆ ว่าเราจะต้องปรับสูตรอะไรบ้าง หรือถ้ามันฝืดไป เราก็ต้องใส่น้ำหรือน้ำมันเพิ่มขึ้น พอออกมาดีแล้ว เราก็จะต้องทำ shelf-life testing คือเอาผลิตภัณฑ์เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ควรเก็บหรือสภาพที่ควรเป็น แล้วตามดูเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือหนึ่งปี ว่าอาหารยังคงคุณภาพหลังจากระยะเวลานั้นไหม”
คุณเก่งและทีมงานไปสำรวจสายการผลิตในโรงงานก่อนนำสูตรไปทดลองผลิตจริงที่นั่น Source: Supplied / Sutasinee Anantanawat
“เมื่อเกือบสิบปีก่อน เขาจะฮิตผงสาหร่ายสไปรูลิน่า ที่พอเราเอามาใส่น้ำ มันก็จะเป็นสีฟ้าสวย ตอนนั้นที่ฮิตกันคือเอามาใส่กาแฟ แล้วกาแฟเป็นสีฟ้า ทีนี้บริษัทเราก็อยากทำ เก่งก็เลยเอามันไปใส่น้ำมะพร้าว ตอนที่เก่งทำในครัว มันก็เป็นสีฟ้า แต่เก่งลืมไปว่าเวลาลง production line มันจะต้องมีความร้อน เลยไม่ได้ทดลองตรงจุดนั้น ทีนี้พอไปหน้างาน แล้วสาหร่ายเปลี่ยนสีเป็นสีเทา ก็เลยกลายเป็นบทเรียนให้จำเลยว่า ต่อไปจะต้องทดลองให้ดีก่อน” คุณเก่งเล่าพร้อมหัวเราะ
เธอยังได้เผยทักษะสำคัญที่คนเรียน food science หรือคนที่อยู่ในวงการนี้ควรมีว่า
“การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหาร ทักษะสำคัญที่จะต้องมีคือ ความอยากรู้อยากเห็น หรือ curiosity เหมือนกับว่า เห็นอะไร ก็จะตั้งคำถามว่าทำไมมันเกิดแบบนี้? ทำไมมันเป็นแบบนี้?” คุณเก่งย้ำ
ความอยากรู้อยากเห็น หรือ curiosity คือทักษะสำคัญที่คุณเก่งเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์การอาหารควรจะต้องมี Source: SBS / Parisuth Sodsai
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สู้ไม่ถอย: เรื่องราวของครัวซองต์เลิฟเวอร์ที่ฝ่าฟันจนมาเป็นเชฟร้านชื่อดังระดับโลก