พอดคาสต์ตอนนี้เป็นตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์รอมฎอน ที่ตอนก่อนหน้านี้เอสบีเอสไทยได้พาไปทำความรู้ ตั้งแต่ รอมฎอนคืออะไร วิถีชีวิตทั้งในช่วงเช้าและกลางคืน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รอมฎอนคืออะไร และการถือศีลอดในหน้าร้อนของออสเตรเลียจะเป็นอย่างไร?
วันเฉลิมฉลอง รื่นเริงในศาสนาอิสลาม 1 ปี มี 2 ครั้ง เป็นวันที่ชาวมุสลิมรอคอยเพราะครอบครัวจะได้พบหน้ากัน
นั่นก็คือวันอีด
คำว่าอีดเป็นภาษาอาหรับ หมายถึง ‘เทศกาล’ หรือ ‘งานเลี้ยง’ ซึ่งมีเทศกาลอีดหลักสองเทศกาลคือ อีดอีดิลฟิตรี (Eid al-Fitr) วันอีดหลังเดือนรอมฎอน หรือรู้จักในนามอีดเล็ก และอีดดิลอัฎฮา (Eid al-Adha) วันอีดใหญ่ เทศกาลเชือดพลี ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะห์ เดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม
"วันตรุษอีด หรือ วันอีด" เป็นวันเฉลิมฉลองในศาสนา อิสลาม ภาษามลายูในแทบคาบสมุทรมลายูเรียกวันนี้ว่า "ฮารีรายอ หรือ ฮารีรายา"
การซื้อเสื้อผ้าใหม่โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ การทำความสะอาดบ้าน และการเตรียมขนมและอาหารมื้อพิเศษเป็นส่วนสำคัญของการเตรียมเฉลิมฉลองวันอีด Source: AAP
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า วันสำคัญที่อนุญาตให้มุสลิมฉลอง รื่นเริงได้ของชาวมุสลิมทั่วโลกคือวันอีดทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นวันรื่นเริงประจำปี ซึ่งชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติ เพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน ในรอบ 1 ปี จะมีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง
แม้ว่าแต่ละภูมิภาคในโลกจะมีประเพณีวันอีด (Eid) ในแบบของตัวเอง แต่มีสามสิ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ แห่งนั่นคือ การเฉลิมฉลอง การใช้เวลาในวันหยุดกับครอบครัว เพลิดเพลินไปกับอาหารอร่อยด้วยกัน และแลกเปลี่ยนของขวัญกับขนมกัน
โดยก่อนการเฉลิมฉลองวันอีด พวกเขายังคงต้องบริจาคทานหรือที่เรียกว่าซะกาดหรือซะกาดอัลฟิตรี (Zakat al-Fitr) เพื่อให้ผู้ยากจนได้เฉลิมฉลองเช่นกัน
การขึ้นวันอีดอีดิลฟิตรี หรืออีดเล็กจะเป็นวันถัดไป หลังสิ้นสุดในวันที่ 29 หรือ 30 ของการถือ "ศีลอด" โดยขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์
ในปีนี้วันอีดในออสเตรเลียคาดว่าจะตรงกับวันที่ 10 หรือ 11 เมษายน
คราวนี้หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องดูดวงจันทร์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อดข้าวอดน้ำ แถมทำงานไปด้วย มุสลิมไทยในออสเตรเลียปรับตัวอย่างไรช่วงถือศีลอด
ในช่วงเย็นวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากมองเห็นก็ถือว่า วันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากมองไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง
และเมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเข้าสู่การเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่าวัน "วันอีดอีดิลฟิตรี "
ผู้คนละหมาดในช่วง Eid al-Fitr ที่มัสยิด Jama Masjid ในนิวเดลี Source: AAP
เวลาตามปฏิทินจันคตินั้นจะเลื่อนปีละ 10 วัน โดย 33 ปีจะรอบ 1 รอบ ขณะที่ปฏิทินจันคติตามความเชื่อของไทยหรือของจีนนั้นจะมีการชดเวลา ซึ่งบางปีไทยมีเดือน 8 สองครั้ง แต่จันทรคติของอิสลามนั้นไม่ชดเวลา โดยช่วงเวลาจันทร์เพ็ญถึงจันทร์เพ็ญนาน 29.5 วัน แต่ทำเวลาเป็นปฏิทินได้ไม่ลงตัว ดังนั้น บางเดือนจึงมี 29 วัน และบางเดือนมี 30 วัน
รศ.นิแวเต๊ะกล่าวว่าเมื่อถึงวันที่ 29 ของเดือนแล้วจะทราบว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่หรือไม่ ต้องดูสถานะของดวงจันทร์ แต่เราก็ไม่สามารถไล่ดูได้ทุกเดือน ซึ่งถ้าใช้การคำนวณก็จะทราบ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมมุสลิมละศีลอดด้วย อินทผาลัม ส่องวิถีชีวิตช่วงกลางคืนในเดือนรอมฎอน
การเฉลิมฉลองเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์บทสวดเฉพาะในเวลาเช้าของวันที่ 1 เดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม วันอีดมักจะเป็นวันหยุดราชการในประเทศอิสลามส่วนใหญ่
นิยมเรียกวันนี้ว่า "วันออกบวช" หรือ "รายาปอซอ" หรือ "รายาฟิตเราะห์" ในวันอีดอีดิลฟิตรี เป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม เป็นวันแห่งรางวัล และการตอบแทนสำหรับผู้ผ่านการทดสอบประจำปีในเดือนรอมมาฎอนด้วยการบังคับตัวเอง จากการลด ละ การกินดื่ม กิเลสตัณหา และได้ละหมาดตะรอเวียะเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มตลอดค่ำคืนของเดือนรอมฎอน
การละหมาดร่วมกันจะจัดขึ้นในมัสยิดท้องถิ่นหรือศูนย์ชุมชน โดยผู้คนจะทักทายกันด้วยคำว่า ‘อีด มูบาร็อค(Eid Mubarak)' หมายถึง ‘วันอีดแห่งความสุข’
การซื้อเสื้อผ้าใหม่โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ การทำความสะอาดบ้าน และการเตรียมขนมและอาหารมื้อพิเศษเป็นส่วนสำคัญของการเตรียมเฉลิมฉลองวันอีด
ภาพพระจันทร์เสี้ยวใกล้มัสยิด Jama Masjid Minaret เนื่องในโอกาส Eid alfitr Credit: Hindustan Times
วันอีดอีดิลฟิตรี ถือได้ว่ามุสลิมทุกคนมีความรื่นเริง สนุกสนาน เพราะในวันนี้ได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ไปเคารพผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำความสะอาดสุสาน นำขนมไปแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ เพื่อนบ้าน เลี้ยงอาหารคนในหมู่บ้าน
อีดอีดิลฟิตรี เป็นเครื่องหมายการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ หากคุณมีเพื่อนที่เป็นมุสลิม ไม่ว่าจะมีพื้นเพจากส่วนไหนของโลก สิ่งที่นิยมกล่าวอวยพรคือ ‘อีด มูบาร็อค’ เราจะเห็นป้ายตามร้านค้าโดยทั่วไปใช้คำนี้ หรือถ้าบริบทไทยเราสามารถใช้ ‘สุขสันต์วันอีด’ หรือจะภาษาอังกฤษ Happy Eid Day ก็ย่อมได้ ถ้าเพื่อนเป็นชาวมลายูก็สามารถใช้คำว่า เซอลามัต ฮารีรายา Selamat Hari Raya (เซอลามัต แปลว่า สุขสันต์)
ฟังพอดคาสต์ตอนนี้เต็มๆ ที่นี่
วันอีดคืออะไร? เราจะอวยพรมุสลิมในวันนี้อย่างไรดี
SBS Thai
04/04/202413:53
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล