ประเด็นสำคัญ
- อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
- ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงกลางปีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงและทำให้อเมริกาเหนือมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดความแห้งแล้งในอเมริกาใต้
- WMO คาดว่ามีความาเป็นไปได้ถึง ร้อยละ 98 ที่ปีใดปีหนึ่งในอีกห้าปีข้างหน้าจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสแน่ๆภายใน 5 ปีข้างหน้า
นี่ไม่ได้หมายความว่าโลกจะผ่านเกณฑ์ภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 แต่ถ้าพิจารณาจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก 30 ปี หนึ่งปีที่ร้อนขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส อาจทำให้เห็นได้ว่าการข้ามเกณฑ์อุณหภูมิในข้อตกลงระยะยาวนั้นเป็นอย่างไร
มีความเป็นไปได้ว่าโลกจะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสเป็นการชั่วคราวถึงร้อยละ 66 ภายในปี 2027
“นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีแนวโน้มมากกว่าอุณหภูมิจะเพิ่มเกิน 1.5C"
ซึ่งรายงานของปีที่แล้วคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 50-50
คุณ อดัม สเคฟ หัวหน้าฝ่ายคาดการณ์ระยะยาวขององค์การอุตุนิยมวิทยาประจำศูนย์วิจัยแฮดลีย์ ของสหราชอาณาจักรกล่าว ซึ่งเขาได้ทำงานร่วมกับกับการรายงานประจำปีฉบับล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological หรือ WMO)
คุณ ลีออน เฮอร์แมนสัน จากศูนย์วิจัยองค์การอุตุนิยมวิทยาประจำศูนย์วิจัยแฮดลีย์ กล่าวว่า
“แม้ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าในขณะที่เราเริ่มมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสบ่อยครั้งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมันอาจทำให้เราเข้าไปใกล้การเพิ่มอุณหมิที่สูงขึ้นจากเกณฑ์ที่กำหนดอย่างถาวร"
นอกจากนี้ยังหมายความว่าเราล้มเหลวในการปฎิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยเร่งในเรื่องนี้อีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิด ปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตร้อนจะทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้น และส่งผลให้ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นด้วย
คุณ เพตเตรี ตาลาส เลขาธิการ WMO แถลงว่า
ปรากฏการณ์เอลนีโญ “จะผสานเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เพื่อผลักดันอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นและทำให้โลกกลายเป็นดินแดนใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน”
การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญฉับพลันในช่วงกลางปีทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเกิดความกังวล
ปรากฏการณ์สภาพอากาศแม้ว่าจะแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงและนำสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาสู่อเมริกาเหนือ และความแห้งแล้งมาสู่อเมริกาใต้ โดยเฉพาะแถบอเมซอนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า
และมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว 1.5 องศานั้นอาจจะเพิ่มอุณหภูมิมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินว่ามีโอกาสเพียงร้อยละ 10 ที่อุณหภูมิจะเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส ระหว่างปี 2560 ถึง 2564
อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดที่ WMO พยากรณ์ไว้ดูจะมีการให้รายละเอียดในการคาดการณ์ในระยะยาวมากกว่ารายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งอ้างอิงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
WMO สรุปว่ามีโอกาสร้อยละ 98 ที่ปีใดปีหนึ่งในห้าปีข้างหน้าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงกว่าปี 2559 ที่อุณหภูมิโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 องศาเซลเซียส
คุณ ดอง พาร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กรกรีนพีซสหราชอาณาจักรกล่าวว่า
"รายงานฉบับนี้จะต้องเป็นเสียงเรียกร้องเพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกพยายามจัดการกับวิกฤตสภาพอากาศให้จริงจังมากขึ้น”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่