อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ โดยลดลงมาเหลือร้อยละ 5.6 ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ จากร้อยละ 6.8 เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาถึงเดือนเมษายนปีนี้ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) อาจระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า อัตรารายเดือนของดัชนีผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางที่อัตราร้อยละ 6.1 ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หลังเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน
“อัตราเพิ่มขึ้นรายปีของเดือนนี้ที่ 5.6% คือการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีก่อน” คุณมิเชล มาร์ควอดท์ (Michelle Marquardt) หัวหน้าสถิติด้านราคา จากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) กล่าว
จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) พบว่า ดัชนีชี้วัดราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) รายเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในรอบเดือนพฤษภาคม 2022 ถึงเดือนพฤษภาคม 2023 Source: SBS / Kenneth Macleod
จากสถิติพบว่า ราคาที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องดื่ม ของตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่ราคาในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงนั้นเป็นสิ่งที่ชะลอการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี คุณมาร์ควอดท์ กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อนั้นค่อนข้างนุ่มนวลมากกว่า เมื่อนำรายการสินค้าที่มีราคาผันผวนออกไป
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่เคยเพิ่มขึ้นมาในอัตราร้อยละ 6.5 ซึ่งบันทึกได้ในเดือนเมษายน
ตัวเลข CPI เกี่ยวข้องอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ย
การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการนี้ จะอยู่ในรายการพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการธนาคารสำรองฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารสำรอง ฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในระดับที่นักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างเชื่องช้ามาก หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โดยธนาคารสำรอง ฯ ได้ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึงร้อยละ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงมาอยู่ในระยะเป้าหมายของธนาคารที่ระหว่างร้อยละ 2-3
เชน โอลิเวอร์ (Shane Oliver) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก เอเอ็มพี แคปิตอล (AMP Capital) กล่าวว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมได้แสดงให้เห็นแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องได้กำหนด”ขอบเขต” สำหรับธนาคารสำรอง ฯ ในการระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า แต่ก็ได้ชี้อีกว่า “ความเสี่ยงเรื่องค่าจ้าง” ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาคิดว่าธนาคารสำรอง ฯ จะยัง “คงนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด”
ผศ.สตีเวน ฮามิลตัน (Steven Hamilton) จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในสหรัฐ ฯ อธิบายถึงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดว่า “เป็นข่าวดี” สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในออสเตรเลีย ถึงแม้ว่าแนวโน้มที่สะท้อนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวเพียงเล็กน้อย
“เนื่องจากธนาคารสำรอง ฯ มุ่งเน้นไปที่ประการหลังในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการเปิดเผย (CPI) ในครั้งนี้จึงไม่น่าเปลี่ยนมุมมองในสิ่งที่ธนาคารสำรอง ฯ จะทำ หรือควรทำในสัปดาห์หน้า” ผศ.ฮามิลตัน โพสในทวิตเตอร์
แคลลัม พิกเคอริง (Callam Pickering) นักเศรษศาสตร์อาวุโสจากเว็บไซต์หางาน อินดีด (Indeed) กล่าวว่า ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือน “อาจจะมีความผันผวนเล็กน้อย และแน่นอนว่าไม่ครอบคลุมเท่ากับตัวเลขรายไตรมาส” แต่ก็เชื่อว่าตัวเลข CPI รายเดือนจะยังคงให้ข้อมูลบางอย่างแก่ธนาคารสำรอง ฯ ในการพิจารณาเมื่อตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการของประเทศในสัปดาห์หน้า
คุณพิกเคอริง กล่าวว่า เขามีแนวโน้มที่ค่อนข้างจะเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม โดยสาเหตุหลักมาจากความแข็งแกร่งในตลาดงานอย่างต่อเนื่องที่สังเกตได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารสำรอง ฯ อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อสำหรับไตรมาสเดือนมิถุนายนก่อน ซึ่งจะเผยแพร่ก่อนการประชุมในเดือนสิงหาคมนี้
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย
ขณะค่าครองชีพพุ่ง คนในออสฯ เหล่านี้มีรายได้แทบไม่พอจ่ายสิ่งจำเป็น